สรุปข่าวเด่นรายสัปดาห์ 16-22 มกราคม 2559 (อินเดีย)
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี
สรุปข่าวเด่นรายสัปดาห์
16-22 มกราคม 2559 (อินเดีย)
1. รัฐบาลอินเดียเร่งแก้กฎหมายผ่อนคลายการจัดตั้งและการยกเลิกบริษัท Startup ใหม่
Government working to make start, exit easy to startups
นิวเดลี : รัฐบาลอินเดียกำลังอยู่ระหว่างการเร่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือ Startup ให้สามารถจัดตั้งบริษัทหรือยกเลิกบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการสร้างและอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่
ในเรื่องดังกล่าว Minister Nirmala Sitharaman ได้กล่าวในที่ประชุม Startup India ว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการก่อตั้งหรือยกเลิกบริษัทของผู้ประกอบการ ในระหว่างนี้รัฐบาลกำลังทำงานเพื่อให้ขั้นตอนดังกล่าวมีความง่ายในทางปฏิบัติมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รมว.การคลังของอินเดียกำลังแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการล้มละลายทางธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการอินเดียยังคงดำเนินธุรกิจต่อในประเทศโดยไม่คิดจะไปประกอบการที่อื่น
อนึ่ง ภายหลังจากที่ทางนายกรัฐมนตรีอินเดียได้ประกาศนโยบาย Startup India ในช่วงที่ผ่านมาทำให้ได้เกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงต่างๆ เพื่อช่วยเหลือให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยทางการอินเดียมุ่งหวังที่จะให้เกิดการสร้างงานขึ้นภายในประเทศมากขึ้นสอดรับกับนโยบาย Make in India ซึ่งจะช่วยทำให้คนอินเดียมีงานทำเพิ่มมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม World Bank Country director (Onno Ruhl) ได้ให้ความเห็นว่าอินเดียจำเป็นต้องเพิ่มการเติบโตด้านการใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับการสร้างงานในประเทศซึ่งจะทำให้มีประชากรราว 1 ล้านคนที่จะเข้าสู่ภาคแรงงานในแต่ละเดือน
Source: The Economic Times, 16 January, 2016
2. อินเดียเริ่มคุย FTA กับสหภาพยุโรปอีกครั้ง
India and European Union hope to restart FTA Talks : EU envoy Tomaz Kozlowski
นิวเดลี : ผู้แทนทางการค้าของสหภาพยุโรป (Tomaz Kozlowski) เดินหน้าเริ่มการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ของอินเดียต่อในวันที่ 18 มกราคม 2559 ภายหลังที่ว่างเว้นมาจากปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศพยายามที่จะสานต่อการเจรจาที่ค้างอยู่โดยอินเดียหวังจะให้การเจรจาดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อนโยบาย Make in India ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของโลก (Global production chain) ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะเริ่มการเช็คลิสต์ของรายการที่มีการหารือค้างอยู่ (Stocktaking meeting)
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเสรีทางการค้าของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ดังนั้นอินเดียจึงเล็งเห็นความสำคัญในการเจรจาการค้ากับสหภาพยุโรปให้มีความต่อเนื่อง
อนึ่ง มูลค่าการค้าระหว่างอินเดียและสหภาพยุโรปมีจำนวน 98.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2014-15. โดยในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2015 อินเดียได้หยุดการเจรจาทางการค้ากับสหภาพยุโรปเนื่องจากไม่พอใจการที่สหภาพยุโรปห้ามการจำหน่ายสินค้าเวชภัณฑ์จำนวนประมาณ 700 รายการในสหภาพยุโรป
Source: The Economic Times, 19 January, 2016
3. อินเดียเริ่มการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้ายางพารานำเข้าจากสหภาพยุโรปและเกาหลีใต้
India starts anti-dumping probe on rubber import from EU, South Korea
นิวเดลี : อินเดียเริ่มการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้านำเข้ายางพาราสำหรับการผลิตสินค้าเครื่องหนังจากสหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และไทย ภายหลังจากที่ได้รับการฟ้องร้องจาก Relance Industries และ Indian Synthetic Rubber Pvt. เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตจากยางพาราซึ่งถูกผลกระทบจากการนำเข้ายางพาราที่มีราคาถูกกว่า
ในเรื่องนี้ The Directorate General of Anti-Dumping and Allied Duties (DGAD) ได้เริ่มต้นการไต่สวนการนำเข้า Styrene Butadiene Rubber (SBR) ประเภท 1,500 series และ 1,700 series จากสามประเทศดังกล่าว โดยจะมีการตรวจสอบ พิสูจน์ว่ามีความพยายามในการทุ่มตลาดจากการนำเข้าสินค้าดังกล่าวหรือไม่ ทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมในประเทศในขอบเขตและผลกระทบมากน้อยเพียงใด รวมทั้งการพิจารณาระดับการใช้อัตราศุลกากรขาเข้าเพื่อบรรเทาผลกระทบที่มีต่อผู้ผลิตภายในประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลาการเก็บข้อมูลไต่สวนได้ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2014 จนถึงกันยายน 2015 ระยะเวลา 12 เดือน โดย ยาง SBR จะถูกใช้ในการผลิตรองเท้า ยางที่ผสมยางพารา ยางล้อรถยนต์ ดอกยาง สายพาน ระบบสายน้ำดับเพลิง ท่อน้ำ และอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์
ที่ผ่านมา Indian Synthetic Rubber Pvt. ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Indian Oil Corporation, TRSC, Taiwan และ Marubeni Corporation ของญี่ปุ่น ได้ฟ้องร้องว่าการนำเข้ายางพาราที่ทุ่มตลาดจากการนำเข้ามีผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ รวมถึง Reliance Rubber ผู้ฟ้องร่วมซึ่งอยู่ระหว่างการจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้าจากยางพาราอยู่
Source: The Economic Times, 19 January, 2016
4. อุตสาหกรรมยางพาราอินเดียประท้วงการจำกัดการนำเข้ายางพาราบริเวณท่าเรือ
Rubber Industry Protests Against Port Restriction of NR Import
โคชิ : อุตสาหกรรมยางพาราของอินเดียต้องการให้ทางการอินเดียยกเว้นการจำกัดการนำเข้ายางพาราธรรมชาติผ่านเฉพาะที่ท่าเรือ Nhava Sheva และ Chennai ตามการเรียกร้องจากผู้ปลูกยางพาราในประเทศอินเดียที่ต้องการให้ลดการนำเข้าดังกล่าวลงเนื่องจากเห็นว่าส่งผลกระทบราคายางพาราในประเทศ
ในเรื่องดังกล่าว All India Industries Association (AIRIA) และ Automotive Tyre Manufacturers Association (ATMA) ได้ระบุถึงข้อมูลการนำเข้ายางพาราธรรมชาติในช่วงเดือนเมษายน - พฤศจิกายน 2015 พบว่ามีจำนวนการนำเข้าเทียบเท่า 2.8 แสนตัน ใกล้เคียงกับปริมาณความต้องการยางพาราในประเทศอินเดียจำนวน 2.8 แสนตัน
อย่างไรก็ตามประธาน ATMA เปิดเผยว่า จากข้อมูลด้านราคายางพาราในประเทศยังมีราคาที่สูงกว่าราคายางพาราในตลาดโลกประมาณร้อยละ 20 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความต้องการในการนำเข้ามากขึ้น ดังนั้นการจำกัดท่าเรือในการนำเข้ายางพาราจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการในการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff barrier) สำหรับการนำเข้าดังกล่าว
ทั้งนี้ ในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยางพาราในอินเดียต้องประสบปัญหาการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้ายางพาราธรรมชาติในระดับสูง (ร้อยละ 25) และขณะเดียวกันยังถูกผลกระทบจากการที่ทางการคงระดับอัตราภาษีนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปที่ทำจากยางพาราในระดับต่ำ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบและมีหลายบริษัทที่เริ่มปิดตัวเองลง
อนึ่ง ที่ผ่านมาทางการได้ให้คำมั่นว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากการใช้ยางพาราจะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Make in India อย่างไรก็ตามความพยายามดังกล่าวอาจจะไม่ประสบผลหากทางการยังคงควบคุมการนำเข้ายางพาราธรรมชาติในรูปแบบปัจจุบันอยู่
Source: The Economic Times, 21 January, 2016
สคร.นิวเดลี
มกราคม 2559
Disclaimer: การเผยแพร่ข้อมูลใน “สรุปข่าวเด่นรายสัปดาห์” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการนาข้อมูลนี้ไปใช้