กรุงเทพธุรกิจ: ตัดสินใจให้ดีก่อนส่งลูกเรียนต่ออินเดีย
รายงานพิเศษตีพิมพ์ใน กรุงเทพธุรกิจ
การได้พบปะพูดคุยกับนักเรียนไทยในอินเดียส่วนใหญ่ ผู้ปกครองมักจะส่งบุตรหลานมาเรียนที่อินเดียก็เพราะเหตุผลหลักๆ 3 ประการ คือ 1. อยากให้ลูกฝึกภาษาอังกฤษ 2. ค่าใช้จ่ายถูก และ 3. ต้องการส่งมาฝึกระเบียบวินัย เพราะเอาไม่อยู่ในบ้านตนเอง สิ่งเหล่านี้ฟังดูน่าจะดีสำหรับเด็กและผู้ปกครอง แต่บางสิ่งก็ไม่เป็นไปตามที่ผู้ปกครองหวังไว้ เด็กอาจจะไม่ได้ภาษาอังกฤษ ไม่คุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไป หรืออาจกลายเป็นเด็กเก็บกดที่พร้อมจะแหกกฎทุกครั้งไป ก็เป็นได้
การส่งบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศ ในปัจจุบัน ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ แต่กระแสนิยมของคนไทยที่กำลังอินเทรนด์ ก็คือ ประเทศที่กำลังพัฒนาและกำลังโตเร็ว เช่น "อินเดีย"
ก่อนที่จะส่งบุตรหลานไปอินเดีย ผู้ปกครองส่วนมากมักจะเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ คำบอกเล่าปากต่อปากจากเพื่อนสนิทมิตรสหาย ตลอดจนการชักจูงของเอเยนซี ที่อาจเคยเป็นนักเรียนแห่งนั้น แห่งนี้ มาแล้ว ว่า การมาเรียนที่อินเดียนั้นมีข้อดีต่างๆ นานา แต่สิ่งที่ลืมนึกไปก็คือข้อมูลที่ตนได้รับนั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน และคุ้มค่าหรือไม่ที่จะส่งบุตรหลานของตนไปเรียนในโรงเรียนที่ตนไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่เป็นโรงเรียนที่มีคนอื่นเค้าบอกกันว่าดี
เมื่อไม่นานมานี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมนักเรียนไทยที่โรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในรัฐหิมาจัลประเทศ ซึ่งคณะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคณะผู้บริหารของโรงเรียน คณาจารย์ และนักเรียนและมีโอกาสได้พบปะพูดคุยและสอบถามสารทุกข์สุกดิบจากนักเรียนไทยที่มีตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ไปจนถึง 16 ขวบ
จากการพูดคุยกับนักเรียนทำให้สถานทูตได้ทราบว่า โรงเรียนประจำแห่งนี้ที่มีกฎเกณฑ์และระเบียบวินัยที่เคร่งครัด แม้แต่ขณะที่พูดคุยกับนักเรียนซึ่งดูท่าทางกล้าๆ กลัวๆ ทางโรงเรียนยังแอบส่งชาวอินเดียที่รู้ภาษาไทยมาคอยสังเกตการณ์ ว่า นักเรียนจะมาฟ้องอะไรหรือไม่ แต่แล้วก็หนีไม่พ้นความแนบเนียน สิ่งที่สถานทูตได้รับทราบซึ่งตรงกันข้ามกับบรรยากาศของความประทับใจจากการต้อนรับอย่างอบอุ่น ก็คือ นักเรียนแต่ละคนมาขอร้องให้สถานทูตช่วยเหลือ
ปัญหาแรกเป็นปัญหาความแตกต่างของวัฒนธรรม ชาวอินเดียคิดว่าการลงโทษนักเรียนโดยการตบหน้าอย่างแรง เป็นสิ่งที่ถูก นักเรียนไทยบอกว่าไม่มีใครที่ไม่เคยโดนลงโทษด้วยวิธีนี้ แม้ว่าจะบอกให้ผู้ปกครองที่เมืองไทยทราบและผู้ปกครองได้โทรไปร้องเรียนกับทางโรงเรียนแล้ว ก็ไม่อะไรเปลี่ยนแปลง
สถานทูตจึงได้ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจากชาวอินเดีย และได้รับทราบว่าการลงโทษด้วยวิธีการตบนั้น เป็นสิ่งที่มีจริงในสังคมอินเดีย แต่ปัจจุบันแทบจะเลิกกันไปเกือบหมดแล้ว จากการสอบถามนักเรียนไทยตามเมืองต่างๆ ก็พบว่าโรงเรียนประจำส่วนมากใช้วิธีลงโทษโดยการกักบริเวณ ไม่ให้นักเรียนออกไปนอกโรงเรียนในวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งฟังดูแล้วเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล และทำให้นักเรียนไม่อยากทำผิดมากกว่า เพราะกลัวไม่ได้ออกไปเที่ยวในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ที่ทุกคนรอคอย
ปัญหาที่สอง คือ เรื่องของการเรียนการสอน กล่าวคือ ครูผู้สอนมักใช้ภาษาฮินดีผสมผสานกับภาษาอังกฤษ ซึ่งทำให้นักเรียนไทยไม่เข้าใจในบทเรียน สอบไม่ผ่านการประเมิน และในที่สุด นักเรียนก็กลายเป็นเด็กมีปัญหาเพราะความเครียด
นอกจากนี้ ตัวนักเรียนเองบางคนอายที่จะบอกผู้ปกครองว่าตัวเองเรียนไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ ไม่กล้าจะขอกลับประเทศไทย เพราะอายเพื่อนที่จะมามองว่าตัวเองไม่ฉลาด เรียนไม่เก่ง จนต้องกลับประเทศในที่สุด ผู้เขียนมองว่านักเรียนไม่ควรอายที่จะบอกผู้ปกครอง ผู้ปกครองเองก็ต้องกล้าพอที่จะถามบุตรหลานของท่าน อย่าปล่อยให้สายเกินแก้
ทูตไทยก็ตั้งใจหาโอกาสที่เหมาะสมขอให้ทางโรงเรียนใช้วิธีลงโทษที่ดีกว่านี้ เช่น การกักบริเวณ เชื่อว่าผู้บริหารโรงเรียนคงจะยอมทำตาม มิฉะนั้น สถานทูตก็คงไม่อยากไปเยี่ยมหรือบอกแนะนำผู้ปกครองคนไทยได้
ผู้ปกครองลองจินตนาการดูว่าแค่ลำพังชาวอินเดียยุคปัจจุบันพูดภาษาอังกฤษก็เข้าใจยากแล้ว นี่อังกฤษผสมฮินดีจะขนาดไหนกัน สถานทูตก็ได้แต่หวังว่าโรงเรียนนี้คงจะไม่เอาการเดินทางมาเยี่ยมนักเรียนของสถานทูตไปใช้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนไทยแห่กันมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้
ผู้เขียนเห็นว่าการเรียนต่อที่อินเดียมีข้อดีหลายเรื่องโดยเฉพาะความหลากหลาย ความใกล้บ้าน คุณภาพเนื้อหาวิชาการในมหาวิทยาลัยที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนไทย พระนักศึกษาไทยกล่าวเหมือนกัน เปรียบเสมือนการเลือกซื้อของดีราคาถูกและก็มีหลายคนประสบความสำเร็จจากการไปเรียนที่อินเดีย
แต่ผู้ปกครองไม่ควรเอาชีวิตความเป็นอยู่ของลูกหลานตน ไปเสี่ยงกับคำโฆษณาชวนเชื่อหรือการบอกเล่าต่อๆ กันมา ควรที่จะยอมเสียเวลาอีกนิดไปเห็นสภาพโรงเรียนและความเป็นอยู่ของนักเรียนด้วยตัวเองก่อนการตัดสินใจ
"สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น" หากจะเปรียบเปรยกับการซื้อของ ถ้าเราไม่เห็นด้วยตาตัวเอง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าของชิ้นไหนจะเป็นของดีราคาถูกควรค่าแก่การเสียสตางค์
ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาในอินเดียได้ที่คอลัมน์ "เรียนต่อในอินเดีย" ที่เว็บไซต์ www.thaiemb.org.in
พิชญะ สนใจ
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี