ฐานเศรษฐกิจ: พี่สอนน้องขุดทองในอินเดีย
ติดตามอ่านบทความ พี่สอนน้องขุดทองในอินเดียในฐานเศรษฐกิจได้ ที่นี่
ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา "ฐานเศรษฐกิจ"ได้มีโอกาสเดินทางเยือนสาธารณรัฐอินเดีย ตามคำเชิญของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลีร่วมกับสื่อมวลชนอีกหลายสำนัก ไฮไลต์ครั้งนี้ได้เข้าเยี่ยมชมกิจการธุรกิจของคนไทยที่ได้เข้าไปขยายธุรกิจในอินเดีย รวม 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท พฤกษา อินเดีย เฮาส์ซิ่ง จำกัด (บจก.) บจก.เจริญโภคภัณฑ์ (อินเดีย) บจก. ร้อกเวิธ ซิสเต็มส์ เฟอร์นิเจอร์(อินเดีย) บจก. ไทยซัมมิท นีล ออโต้ ไพร์เวท ลิมิเต็ด และบจก. เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย)
ตามรายชื่อแล้วล้วนเป็นบริษัทชั้นนำ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในเมืองไทยเป็นอย่างดี แต่สำหรับตลาดอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่กว่าเมืองไทยกว่า 10 เท่าตัว(ประชากรกว่า 1,200 ล้านคน)ย่อมมีคู่แข่งขันทั้งจากในอินเดีย และจากบริษัทข้ามชาติเป็นจำนวนมาก แน่นอนว่ากว่าจะก้าวสู่ความสำเร็จถึงระดับหนึ่งในวันนี้ แต่ละบริษัทต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน ดังนั้นจึงขอนำประสบการณ์ของบริษัทมาถ่ายทอดไว้ ณ ที่นี้ เพื่อประโยชน์ของภาคธุรกิจไทยที่สนใจตลาดอินเดียจะได้เรียนลัดกลยุทธ์สู่ความสำเร็จได้ในเร็ววันเช่นกัน
-พฤกษาแนะเคล็ดไม่ลับ
ในส่วน บจก.พฤกษา อินเดีย เฮาส์ซิ่ง ที่ได้เข้าเยี่ยมชมกิจการในลำดับแรก ได้รับการบอกเล่า จากนายภูริวัจน์ ภูริเจริญบริรักษ์ ผู้อำนวยการธุรกิจอินเดีย บจก.พฤกษา อินเดีย บริษัทลูกของพฤกษา เรียลเอสเตส ผู้นำตลาดเมืองไทย ว่า บริษัทได้เริ่มธุรกิจในอินเดียเมื่อปี 2552 ที่เมืองบังกะลอร์ เมืองศูนย์กลางไอทีของอินเดียที่มีทั้งบริษัทชั้นนำของอินเดียและต่างชาติเข้ามาสำนักงานเป็นจำนวนมาก จึงเห็นเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจเพื่อจับกลุ่มลูกค้าคนทำงานที่มีกำลังซื้อสูง
สำหรับกลยุทธ์การทำบ้านจัดสรร และทาวน์เฮาส์ของบริษัท คือ บ้านแต่ละหลังจะถูกสร้างขึ้นตามหลักวาสตู (VASTU) หรือ ตามหลักฮวงจุ้ยของชาวอินเดีย บ้านจะไม่มีเสากลางบ้านเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยการทำธุรกิจ การตั้งราคาจะต่ำกว่าคู่แข่งขัน สร้างเสร็จตามกำหนดเวลาทำให้ได้รับความเชื่อถือ สำหรับธุรกิจบ้านจัดสรรในอินเดียโอกาสหนี้เสียมีน้อยเพราะตามระเบียบธนาคารกำหนดให้ลูกค้าต้องวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 15% และจะทยอยปล่อยกู้ตามความคืบหน้าโครงการ
อย่างไรก็ดีในการเข้าไปบุกเบิกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอินเดียต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคนานัปการ อาทิ การรวบรวมที่ดินให้ได้ผืนใหญ่ตามกฎหมายกำหนด (ขนาดที่ดินไม่ต่ำกว่า 25 เอเคอร์ หรือไม่น้อยกว่า 50,000 ตารางเมตรในกรณีที่เป็นพื้นที่ก่อสร้าง)ซึ่งในอินเดียส่วนใหญ่จะถือครองที่ดินกันแปลงเล็กๆ และการซื้อขายที่ดินต้องได้รับการยอมรับจากสมาชิกทุกคนในครอบครัว ทำให้การรวบรวมที่ดินต้องใช้เวลาพอสมควร
"แม้ทุกคนในครอบครัวจะยินยอมขายที่ดินแล้ว แต่ก็มีความเสี่ยง เช่นภายหลังมีบุตรนอกกฎหมายมาร้องคัดค้านก็ต้องหยุดไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำสั่ง นอกจากนี้การขออนุญาตจัดสรรที่ดินต้องผ่านกว่า 20 หน่วยงานไม่ขึ้นต่อกัน มีปัญหาคอร์รัปชันสูง ในเหล่านี้เราต้องพึ่งคนในพื้นที่ช่วยดำเนินการให้ รวมถึงมีปัญหาของฝีมือแรงงานชาวอินเดีย ต้องส่งทีมงานจากไทยเข้าไปดูแลควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องการขอวีซ่าค่อนข้างยาก เพราะเขาต้องการให้คนอินเดียมีงานทำ และยังติดปัญหาต้องส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายของอินเดียในอัตราสูง ในเรื่องเหล่านี้เราได้ร้องขอให้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายช่วยแก้ไข"
-ซีพีเร่งขยายรับตลาดโต
ถัดมานายปรีดา จุลวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บจก.เจริญโภคภัณฑ์(อินเดีย) ดูแลธุรกิจสัตว์บกเครือซีพีในอินเดีย กล่าวว่า ปัจจุบันแม้อินเดียจะมีประชากรกว่า 1,200 ล้านคน แต่ปริมาณการบริโภคเนื้อไก่ และไข่ไก่ยังต่ำ ดังนั้นทางเครือจึงเห็นโอกาสในการเข้าไปขยายธุรกิจในอินเดีย ครอบคลุมทั้งโรงงานอาหารไก่ อาหารกุ้ง ปลา โรงเพาะฟักลูกกุ้ง ลูกไก่ และการทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับเกษตรกรเพื่อรับซื้อผลผลิตเพื่อส่งจำหน่าย รวมถึงการผลิต และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม ในอนาคตมีแผนที่จะขยายโรงงานอาหารสัตว์เพิ่มอีก 6 โรงในหลายภูมิภาคของอินเดีย
"ปัญหาในอินเดียคือคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูนิยมบริโภคมังสวิรัติ แต่จากจำนวนประชากรอินเดียที่มีมากเราก็หวังลูกค้าส่วนที่ยังทานเนื้อ ในอนาคตเรามีแผนจะขยายสู่ธุรกิจอาหารแปรรูปด้วย สำหรับปัญหาใหญ่ในอินเดียคือไฟฟ้าไม่เพียงพอ ไฟตกไฟดับบ่อย หากยังเป็นเช่นนี้อาจกระทบต่อแผนการสร้างห้องเย็นในระยะกลางที่ต้องมีไฟสำรองทำให้ต้นทุนสูง ในอินเดียคนนิยมบริโภคไก่ขาว มากกว่าไก่บ้าน ไก่ที่เราผลิตได้จะขายส่งให้กับเทรดเดอร์ หรือผู้ค้าส่งในพื้นที่ โดยชาวบ้านยังนิยมบริโภคไก่เป็นตัวขายชั่งกิโล"
-ร้อกเวิธชี้ตลาดเฟอร์ฯบูม
นายชาคริต วรชาครียนันท์ กรรมการบริหาร บริษัท ร้อกเวิธ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงานในอินเดียที่นิคมอุตสาหกรรม Sri City ของเมืองเชนไน เนื่องจากเห็นช่องทางการขยายตลาดในอินเดียยังมีอีกมาก เฉพาะอย่างยิ่งอาคารสำนักงานต่างๆ ที่กำลังขยายตัวมีความต้องการเฟอร์นิเจอร์สำนักงานอีกมหาศาล โดยขนาดตลาดอินเดียใหญ่กว่าไทย 20-30 เท่า การเข้าไปตั้งโรงงานช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ที่ดินยังราคาถูก และยังสามารถส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางได้
นอกจากนี้การตั้งโรงงานในนิคมฯ Sri City ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของเมืองเชนไน ยังมีข้อได้เปรียบการลงทุนมากกว่าเขตอื่นเพราะไม่มีสหภาพแรงงาน ค่าไฟฟ้าถูกกว่ารัฐอื่น ไฟฟ้ามีปัญหาตก-ดับน้อย วัตถุดิบการผลิตพวกเหล็กต่างๆ สามารถซื้อหาได้ง่ายเพราะในอินเดียมีโรงถลุงเหล็ก ส่วนปัญหาสำคัญคือเรื่องทักษะฝีมือแรงงานของชาวอินเดีย ทำให้ต้องนำคนงานไทยเข้าไปช่วยเทรนนิ่ง แต่ติดปัญหาขอซีซ่าค่อนข้างยาก ปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบ ดังนั้นการทำธุรกิจที่นี่จึงต้องได้พาร์ตเนอร์ที่ดี เน้นการขายตรงให้กับลูกค้า และมีบริหารหลังการขาย
-ไทยซัมมิทโตวันโตคืน
ส่วนในการเยี่ยมชมกิจการ บจก.ไทยซัมมิท นีล ออโต้ ไพรเวท ลิมิเต็ด ตั้งอยู่ชานกรุงนิวเดลี นายทรงพล ทองชัช Unit Head ดูแลภาพรวมบริษัท กล่าวว่าได้ร่วมทุน เจบีเอ็มกรุ๊ป ของอินเดียสัดส่วน 50:50 ทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ และรถสามล้อเครื่องป้อนตลาดอินเดียตั้งแต่ปี 2548 ลูกค้าของบริษัทมีทั้งผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ข้ามชาติที่เข้าไปตั้งโรงงานในอินเดีย อย่าง ซูซูกิ ยามาฮ่า ฮอนด้า และแบรนด์ท้องถิ่น เช่น บาจาจ ออโต้(Bajaj Auto) รวมทั้งสิ้นประมาณ 20 ราย โดยศักยภาพแล้วตลาดชิ้นส่วนฯในอินเดียยังขยายได้อีกมาก ตามการขยายตัวของตลาดรถจักรยานยนต์ และสามล้อเครื่องในอินเดียที่ขยายตัวมากกว่า 20% ต่อปี (กำลังผลิตรถจักรยานยนต์ในอินเดียมีประมาณ 14 ล้านคัน/ปี ในปี 2559 คาดจะผลิตได้ 25 ล้านคัน)ทำให้ยอดขายของบริษัท ในปัจจุบันมีอัตราการขยายตัวมากกว่า 50% ต่อปี ปัจจุบันโรงงานผลิตชิ้นส่วนของบริษัทในอินเดียมี 6 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 1 แห่ง
สำหรับปัญหาอุปสรรคของธุรกิจคือ เป็นตลาดที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง กำไรน้อย ปัญหาสาธารณูปโภคน้ำ ไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ แรงงานท้องถิ่นขาดทักษะฝีมือ และขาดงานบ่อยตามเทศกาล มีผลต่อคุณภาพสินค้า และการควบคุมต้นทุน บริษัทจึงต้องพึ่งบริษัทจัดหาคนงานเป็นส่วนใหญ่
-เดลต้าฯครองเจ้าตลาด
ส่วนนายอนุสรณ์ มุทราอิศ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัทได้ไปบุกเบิกการลงทุนในอินเดียมาตั้งแต่ปี 2539 ปัจจุบันเป็นผู้นำตลาดใน 4 ธุรกิจของอินเดีย ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบไฟฟ้ากำลัง โดยครองส่วนแบ่งตลาดเกิน 65% ทั้ง 4 ธุรกิจในอินเดียยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ทั้งโทรศัพท์มือถือ ทีวี โปรเจ็กเตอร์ โฮมเธียเตอร์ และระบบสื่อสารต่างๆ
"ปัญหาที่พบในอินเดียคือการติดต่อราชการยังต้องใช้เอกสารและใช้คนเดินเรื่อง ตัวหนังสือตกหล่นไปตัวหนึ่งต้องกลับมาทำใหม่เพราะส่วนใหญ่ยังไม่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้เสียเวลา ปัญหาเงินเฟ้อสูง ทำให้เราต้องทำประกันค่าเงินเวลาส่งของไปจากเมืองไทย ปัญหาข้อกฎหมายถือครองที่ดินของนักลงทุนที่ค่อนข้างยุ่งยาก ปัญหาการเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ ของคนงาน ซึ่งเราก็ได้พยายามแก้ไขไปตามลำดับ"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,676 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554