ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอน 22)
ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ ตอน 22 ทางแก้ปัญหานักลงทุนไทยในอินเดีย
เมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรีของไทยได้รับเชิญไปเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ก่อนที่นายกฯของทั้งสองประเทศจะพบปะหารือกัน ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยได้ถือโอกาสจัดให้นักธุรกิจไทยที่ลงทุนอยู่ในอินเดีย ได้เล่าเรื่องธุรกิจของตนให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่นักธุรกิจอยากให้รัฐบาลไทยช่วย
ผู้บริหารบริษัทและรัฐวิสาหกิจ อาทิ ซีพี อิตาเลียนไทย ไทยซัมมิท บ้านพฤกษา การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส ธนาคารกรุงไทย และอีพีจีกรุ๊ป ต่างใช้โอกาสนี้อย่างเต็มที่ เพราะคงจะมีได้ไม่บ่อยครั้ง ที่บริษัทเหล่านี้จะได้สมาธิของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีคลัง ต่างประเทศ พาณิชย์ ไอซีที และอุตสาหกรรม พร้อมๆ กัน
ปัญหารวมโดยทั่วไป เป็นเรื่องของการขอใบอนุญาตทำงาน การขอวีซ่าเข้ามาทำงาน การหาซื้อที่ดิน การต้องขอใบอนุญาตหลายใบ จากหลายหน่วยงาน และการที่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพร้อยละ 12.5 จากลูกจ้างและ 12.5 จากนายจ้าง ที่กว่าจะได้เงินคืน ต้องรอไปจนถึงอายุ 58 ปี ซึ่งไม่มีบริษัทไหนอยากมีภาระนี้
ด้วยความฉับไวจากประสบการณ์ของการเป็นนักธุรกิจมาก่อน นายกรัฐมนตรีสามารถทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และให้ข้อคิดเห็นและมอบงานให้สถานทูตไทยเป็นเจ้าภาพหลัก
สถานทูตไทยรับลูกทันทีโดยได้จัดประชุมทีมประเทศไทยประจำกรุงนิวเดลี เพื่อหารือการบ้านของนายกรัฐมนตรี โดยได้มีการตีประเด็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ในอินเดียและกรุงเทพฯ
ในส่วนที่เกี่ยวกับ work permit และการออกวีซ่าเป็นเรื่องของกรุงเทพฯ เพราะรัฐบาลอินเดียได้มอบดุลพินิจเรื่องนี้ให้กับทูตของตนที่กรุงเทพฯไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่จะติดตามผลความตกลงของการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่จะมีการหารือกับสถานทูตอินเดียในไทยเป็นประจำ ทั้งนี้ทูตอินเดียคนใหม่ก็ได้ยืนยันกับทูตไทยประจำนิวเดลีแล้วว่า ตนพร้อมจะสนับสนุน โดยเฉพาะการเร่งออกวีซ่าทำงานให้เอกชนไทยรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน
ภาคเอกชนเสนอขอให้สถานเอกอัครราชทูตและรัฐบาลเจรจากับฝ่ายอินเดียในการขอพื้นที่ที่บริษัทต่างๆ จะสามารถเข้าไปอยู่ตั้งโรงงานเป็น cluster เดียวกัน จะได้เป็นการแก้ปัญหาพร้อมกันหมดและมีอำนาจในการต่อรองกับภาครัฐบาลของอินเดีย
โจทย์นี้ฟังดูมีเหตุผลดี แต่ในทางปฏิบัติคงต้องดูความต้องการของภาคเอกชนแต่ละรายว่าจะลงตัวระหว่างกันเองมากน้อยเพียงใด คู่ขนานกับการเจรจากับภาครัฐของอินเดียที่อาจจะไม่สามารถตอบสนองได้ครบหมดทุกข้อ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของสถานทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ที่เมืองเจนไน มุมไบ และกัลกัตตาโดยตรง
ส่วนเรื่องการสมทบเงินเข้ากองทุนสะสมเลี้ยงชีพเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะต้องรับไปพิจารณาจากพื้นฐานของพระราชบัญญัติที่ตนเองเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ และเจรจาทำความตกลงในส่วนที่สามารถทำได้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอินเดีย คือ Ministry of Oversea Indian Affairs
สถานทูตไทย นอกจากมีการจัดทำเว็บไซต์ thaiindia.net ที่ทำหน้าที่กรองสถานการณ์ ติดตามรายงานข่าวสารทุกวันและเสนอโอกาสการทำธุรกิจลงทุนค้าขายของไทยในอินเดีย โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมการค้าของกระทรวงพาณิชย์ และ ททท.ในเมืองเดลี มุมไบและเจนไนเป็นอย่างดีแล้ว สถานทูตยังมีแผนงานในปีนี้ที่จะจัดสัมมนาตามความต้องการของภาคเอกชนในประเทศไทย โดยมุ่งเชิญฝ่ายอินเดียที่สามารถตอบคำถามความต้องการของภาคเอกชนไทยมาร่วมบนเวทีกับนักธุรกิจไทยที่มีประสบการณ์ในอินเดียแล้ว
นอกจากนี้สถานทูตกำลังจ้างบริษัทที่ปรึกษาชาวอินเดียให้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาของภาคเอกชนเป็นรายบริษัทคู่ขนานกับการทำงานผ่านช่องทางทางราชการที่สถานทูตทำอยู่แล้วกับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น แต่เพราะความสลับซับซ้อนของอินเดียจึงจำเป็นต้องอาศัยความสามารถและช่องทาง ของผู้เชี่ยวชาญอินเดียอีกทางหนึ่ง โดยจะมอบประเด็นปัญหาที่ชัดเจน 2 เรื่องที่บริษัทไทย 2 บริษัทกำลังประสบอยู่ในเวลานี้ให้บริษัทที่ปรึกษาไปแสดงฝีมือให้ดูก่อนที่คิดจะว่าจ้างกันระยะยาวต่อไป
ภาคเอกชนไทยเอง ก็มีการบ้านที่จำเป็นจะต้องทำเช่นกัน คือการรวมกลุ่ม รวมพลังเพื่อทำงานร่วมกับสถานทูต สถานกงสุลใหญ่ ทีมประเทศไทยในอินเดียให้เป็นเนื้อเดียวกัน อีกทั้งผู้บริหารบริษัทไทยก็ควรจัดสร้างกลไก CEO ร่วมกับเอกชนอินเดียเพื่อล็อบบี้รักษาผลประโยชน์ของตน ในอินเดียแบบที่เอกชนประเทศอื่นๆ ทำได้ผลมาแล้ว
เอกชนไทยพร้อมหรือยัง
พิศาล มาณวพัฒน์
เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี