ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอน 23)
หัตถกรรมไทยกับโอกาสในอินเดีย
ในปีทองของความสัมพันธ์ไทยอินเดีย ปี 2555 นี้ นอกจากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้รับเกียรติให้มาเยือนอินเดียในฐานะแขกเกียรติยศ (Chief Guest) หนึ่งเดียวในงานสวนสนามวันเฉลิมฉลองสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย วันที่ 26 มกราคม 2555 แล้ว
ไทยยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน Surajkund Crafts Mela ซึ่งรัฐบาลอินเดียโดยกระทรวงการต่างประเทศ เห็นด้วยที่จะเชิญไทยเข้าร่วมงานในฐานะประเทศหุ้นส่วน หรือ Partner Country ระหว่างวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2555
งาน Surajkund Crafts Mela เป็นงานประจำปีของอินเดีย เจ้าภาพคือการท่องเที่ยวรัฐหรยาณะ (Haryana) บริเวณจัดงานอยู่ในเมือง Faridabad ไม่ไกลจากกรุงนิวเดลี นั่งรถยนต์เพียง 45 นาทีก็ถึงพื้นที่จัดงานโดยสะดวก
พื้นที่จัดงานกว้างกว่า 30 เอเคอร์ มีการอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ ทั้งอาหาร ที่พัก และที่สำคัญคือหัตถกรรมของดีในอินเดีย ที่นำมาแสดงและให้ซื้อขายในงานทั้งหมดกว่า 600 บูท จากช่างศิลป์และหัตถกรรม 700 รายจากทั่วอินเดียและต่างประเทศ รวมทั้งยังมีการแสดงดึงดูดความสนใจจากนักแสดงกว่า 350 ชีวิตตลอดทั้งวัน
ทุกปีของงาน Surajkund Crafts Mela เจ้าภาพจะเชิญ 1 รัฐมาเป็นรัฐสำคัญ (theme state) ของงาน ซึ่งจะได้รับเกียรติให้แสดงเปิดงาน ได้พื้นที่จัดงานและแสดงวัฒนธรรมของรัฐนั้นๆ และสามารถมีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ ซึ่งในปีนี้ รัฐอัสสัมซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ได้รับโอกาสนั้น
อัสสัม ซึ่งมีชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับคนไทย ทั้งไทยอัสสัม ไทยผาเก สร้างความกลมกลืนกับไทยได้อย่างดี ในพิธีเปิด นาย Tarun Gogoi มุขมนตรี (chief minister) ของรัฐอัสสัม ซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของประเทศไทย กล่าวชัดเจนว่า ดีใจที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศหุ้นส่วนในปีนี้ เพราะตนเองที่เป็นชาวอัสสัมรู้สึกส่วนหนึ่งเหมือนเป็นคนไทยเพราะมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ร่วมกับสำนักงานการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ในกรุงนิวเดลี ได้ประสานงานหน่วยงานในกรุงเทพฯ นำช่างศิลป์ ช่างหัตถกรรม ผู้ค้าสินค้าหัตถกรรมจากไทย และคณะนาฏศิลป์จากกรมศิลปากร มาแสดงให้เห็นถึงความอ่อนช้อยและละเมียดละไมของศิลปะแบบไทยๆ ในงาน
ช่างศิลป์ที่นำคณะมาโดยกระทรวงวัฒนธรรม ประกอบด้วยช่างทำหัวโขนจากบ้านตุ๊กตุ่น กรุงเทพฯ ช่างทำผ้าบาติกจากจังหวัดยะลา และช่างทำร่มจากจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีโอกาสแสดงถึงความอ่อนช้อยของศิลปะไทย ซึ่งคนอินเดียที่มาชมงาน ให้ความสนใจกับศิลปะไทยเป็นอันมาก
อาจเป็นเพราะผู้มาออกร้านส่วนใหญ่ จะเน้นการค้าขายสินค้า แต่สำหรับบูทไทย มีการสาธิตการทำหัตถกรรมและศิลปะด้านต่างๆ ชาวอินเดียที่มาชม สนใจกระบวนการการทำตั้งแต่ต้นยันจบ มีหลายรายที่ขอลองทำกับมือด้วยความกระตือรือร้น
จากการเข้าร่วมงาน สังเกตเห็นได้ชัดว่า ศิลปะวัฒนธรรมอินเดียมีความตื่นตาตื่นใจ เน้นความเร้าใจและความสนุกสนาน ในขณะที่ ศิลปะไทยมีความอ่อนช้อย ละเมียดละไม และใช้ความอดทนอุตสาหะของช่างศิลป์ รวมถึงนักแสดงที่ฝึกฝนอย่างหนัก แสดงว่าความงามและเสน่ห์แบบไทยๆ สามารถสร้างความแตกต่างในดินแดนภารตะได้
หากจะนำเสนอความเป็นไทยในอินเดีย ก่อนอื่น ต้องตั้งโจทย์ถึงกลุ่มเป้าหมาย ที่อินเดียมีหลายระดับ หลายกลุ่มผู้ซื้อ หากต้องการจะมุ่งตลาดขนาดใหญ่ที่นิยมของราคาถูกก็อาจจะไม่ใช่เป้าหมายหลักของหัตถกรรมไทยนัก
แต่หากจะลองดูตลาดระดับบน ที่กำลังซื้อเริ่มสูงขึ้น และมีความนิยมในสินค้าคุณภาพดี หัตถกรรมไทยสามารถดึงดูดคนอินเดียในระดับนั้นได้แน่นอน แต่ต้องมีแผนการตลาดและแผนเพิ่มมูลค่า มีเรื่องราวดึงดูดให้ผู้ซื้อรู้ว่าสินค้านี้มีความหมาย และสามารถเชื่อมโยงกับคุณค่าอื่นๆ ได้ เช่นหัวโขนหนุมานหรือพระรามตามตำนานรามเกียรติ์หรือรามายณะของอินเดีย ย่อมทำให้คนอินเดียรู้สึกชื่นชมกับของเหล่านั้น ที่มีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของพวกเขาเอง
รากฐานงานฝีมือไทย ได้เปรียบในเชิงช่างและความประณีต หากนำเสนอได้ลึกซึ้งขึ้นอีกสักนิด รับรองว่าผ่านฉลุยกับการเจาะตลาดระดับบนของอินเดีย
คณิน บุญญะโสภัต
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 10 ฉบับที่ 2,715 วันที่ 19-22 ก.พ. 55