ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอน 25)
อินเดียคืออนาคตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
โดย พิศาล มาณวพัฒน์
นานๆ ที ประเทศไทยจะชนะสิงคโปร์ในด้านเศรษฐกิจ
เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวอินเดียไปไทย 916,787 คน ถือเป็นประเทศที่ชาวอินเดียเลือกไปเที่ยวเมืองนอกอันดับหนึ่ง ตามด้วยสิงคโปร์ (868,963 คน) และมาเลเซีย (693,056 คน) จากชาวภารตะที่มีสตางค์และรสนิยมไปเที่ยวเมืองนอกประมาณ 13 ล้านคน
จึงไม่น่าแปลกใจที่ ททท.ได้รับรางวัลชั้นนำไปในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่กรุงนิวเดลี คือ “The World’s Best Country 2011” และ “The World’s Best Wedding Destination 2011” โดยนิตยสารท่องเที่ยวชั้นนำของอินเดีย คือ Travel & Leisure
นี่ขนาดปีกลาย ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตน้ำท่วมรุนแรง ยาวนาน มีภาพเครื่องบินจอดจมน้ำที่สนามบินดอนเมือง ยังทำยอดการเจริญเติบโตได้ถึง 19.8% เกินคำพยากรณ์ขององค์การท่องเที่ยวโลกของสหประชาชาติที่คาดไว้เพียง 7-9%
วันนี้ นักท่องเที่ยวจากอินเดียเข้าไทยเป็นอันดับหก รองจากมาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ นักท่องเที่ยวอินเดียเหล่านี้ ใช้เงิน 29,300 ล้านบาทในไทยในปีที่ผ่านมา
ในปี 2030 อินเดียจะมีขนาดเศรษฐกิจเป็นที่สามของโลก ประชากร 1,200 ล้านคน จะมีรายได้ กำลังการซื้อเพิ่มขึ้น ก็ลองนึกภาพดูว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ชาวอินเดียจะยิ่งแห่กันเดินทางไปเที่ยวประเทศที่เขามองว่า สวยงาม คุ้มค่า ทั้งชายหาด น้ำทะเล สวรรค์ของการช้อปปิ้ง ผู้คนยิ้มแย้มด้วยอัธยาศัยเช่นไทยอีกเท่าใด
จึงไม่แปลกใจเลยที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีระดับของไทย อาทิ โรงแรมห้าดาว และบูติค ทั้งกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต กระบี่ ได้ให้ความสนใจกับตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน สังเกตจากจำนวนโรงแรมไทยที่เข้าร่วมงานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สุดของปี ที่กรุงนิวเดลี เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และหลายโรงแรมเริ่มจ้างพนักงานตลาดที่เป็นลูกหลานชาวอินเดียในไทยแล้ว
นอกจากการซื้อกรุ๊ปทัวร์ ชาวอินเดียยังนิยมการจัดงานแต่งงานมโหฬารในไทย เพราะติดใจในความคุ้มค่า ฝีมือการจัดที่ตอบสนองความต้องการได้ทุกแบบแล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวมีระดับที่พร้อมจะมาจับจ่ายในตลาดบน อาทิ อัญมณี พวกนี้จ่ายไม่อั้นอยู่แล้ว
การตื่นตัวของเอกชน ผู้ประกอบการนี้ จำเป็นต้องได้รับการตอบสนองจากภาครัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในองค์กร ตั้งแต่ระดับชาติไปจนถึง อบจ.และอบต. และคนไทยทุกคน
ททท. ทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในอินเดียอย่างขะมักเขม้น หน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบในประเทศควรตระหนักว่า ตนมีบทบาทสำคัญยิ่งกว่า ททท. อาทิ ตั้งแต่สนามบิน ซึ่งเป็นด่านแรก ที่นักท่องเที่ยวอินเดียร้องเรียนเป็นประจำในเรื่องการปฏิบัติจาก ตม.
เป็นที่น่ายินดีว่า นายกรัฐมนตรีภายหลังกลับจากการเยือนอินเดีย ก็ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้ทันที ผ่านรองนายกที่ดูแลตำรวจ วันรุ่งขึ้น ผบ.ตร.ก็ไปตรวจ ตม.ที่สุวรรณภูมิทันทีว่าต้องปรับปรุงอะไรบ้าง
หาก ตม.มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ รัฐบาลน่าจะตั้งกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยว รับสมัคร ฝึกอบรม ให้ค่าตอบแทนที่ดีแก่พนักงานให้บริการนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย ที่เคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมือง ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ ตม.โดยเริ่มเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนที่มีนักท่องเที่ยวจากอินเดียมาเต็มลำ ยิ่งรับสมัครมาจากลูกหลานชาวอินเดียในไทย สามารถพูดภาษาฮินดีได้ ก็ยิ่งเป็นการส่งสัญญาณชัดเจน
สำหรับนักท่องเที่ยวจำแลงที่แฝงมาก็ต้องแยกสกัดให้ได้เช่นกัน ไม่ใช่รับหมดเพื่อทำยอด การท่องเที่ยวที่น่าส่งเสริมต้องเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ เพราะในที่สุด ทุกฝ่ายตั้งแต่การบินไทย ไปจนคนขายข้าวแกง ทำความสะอาด ก็จะได้ประโยชน์ไปทั่ว
เช่นเดียวกัน พนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่หน้าตายิ้มแย้ม กระตือรือร้น ผ่านการอบรมให้เข้าใจวัฒนธรรมนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย ยิ่งพูดภาษาจีนและญี่ปุ่นได้ ก็จะได้รับเสียงโจษขานในด้านความประทับใจ แผ่ขยายไปทุกแห่งหนในประเทศจีนและญี่ปุ่น
ปากต่อปากแบบนี้ ไม่ต้องเสียเงินโฆษณาราคาแพง แถมยังน่าเชื่อถือกว่าการโฆษณาเยอะ
ในทำนองเดียวกัน หน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กทม. อบจ. และ อบต.ทุกจังหวัด ที่อยากมีรายได้เพิ่มจากนักท่องเที่ยวในท้องถิ่นตน ก็ต้องเล่นดนตรีประสานเป็นเพลงเดียวกัน อาทิ คุ้มครองนักท่องเที่ยวไม่ให้มีใครถูกข่มขู่ หลอกตุ๋น หรือทำร้ายอย่างที่ผ่านมา จัดระเบียบทำบ้านเมือง ถนนหนทาง ชายหาดให้สะอาดปลอดภัย รักษาสภาพนิเวศวิทยา แบบนี้ ยิ้มสยามก็จะมีเสน่ห์แบบยั่งยืน
เพียงเท่านี้ ไทยไม่เพียงแต่จะชนะสิงคโปร์ตลอดกาล แต่ยังอาจมีสิทธิ์ท้าชน ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน ที่แม้คิดค่าวีซ่าแพงๆ ขอวีซ่ายากแสนเข็ญเพียงใด ก็ยังมีนักท่องเที่ยวแห่กันไปเที่ยวกว่า 40-50 ล้านคน ต่อปี
-------------------------------------------------
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันอาทิตย์ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,719 วันที่ 4-7 มีนาคม 2555