ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 26)
โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมเหมือนแร่ที่ประเทศอินเดีย
โดย วัฒนชัย นิรันดร
การทำเหมืองแร่ในประเทศอินเดียเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1774 เมื่อบริษัท East India จากอังกฤษได้รับสัมปทานทำเหมืองถ่านหินในเมือง Raniganj รัฐเบงกอลตะวันตก โดยเมื่อปี 1880 ก็มีการให้สัมปทานเหมืองทองคำเป็นครั้งแรก ส่วนการให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันครั้งแรกมีขึ้นเมื่อปี 1866
พื้นที่ที่มีแร่ธาตุแบ่งออกได้เป็น 6 แนวเขต (belt) ได้แก่ แนวเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มีถ่านหิน เหล็ก แมงกานีส ไมก้า บอกไซต์ ฯลฯ) แนวเขตภาคกลาง (แมงกานีส บอกไซต์ ยูเรเนียม หินอ่อน ถ่านหิน อัญมณี) แนวเขตภาคใต้ (แร่ที่มีส่วนประกอบของเหล็ก และบอกไซต์ --- มีไม่มาก) แนวเขตภาคใต้ฝั่งตะวันตก (แร่เหล็กและพลอย) และแนวเขตภาคตะวันตก (แร่อโลหะ ยูเรเนียม ไมก้า ปิโตรเลียม ยิปซั่ม มรกต ฯลฯ)
แร่ธาตุที่สำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศอินเดีย ยกตัวอย่างเช่น ถ่านหิน (มีมากเป็นอันดับ 4 ในโลก และนำมาใช้มากเป็นอันดับ 3 ในโลก) เหล็ก (ถลุงแร่เหล็กเป็นอันดับ 4ของโลก โดยส่งออกไปญี่ปุ่นกว่า 3 ใน 4) และไมก้า (ผลิตและส่งออกมาที่สุดในโลก คือ กว่า 60%) นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ผลิตบอกไซต์ (ใช้ผลิตอลูมิเนียม) และแมงกานีสอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย
ปัจจุบันมูลค่าการค้าในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของอินเดียคิดเป็นร้อยละ 2.26 ของ GDP ทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 10-11 ของเฉพาะภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ส่งผลให้มีการจ้างงานกว่า 7 แสนอัตรา
ในปัจจุบันอินเดียมีขนาด GDP ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก นั่นหมายถึงความต้องการในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นวัตถุดิบและเชื้อเพลิงในการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมของประเทศก็มีมากมหาศาลขึ้นตามไปด้วย
หน่วยงานของอินเดียที่รับผิดชอบในเรื่องอุตสาหกรรมเหมืองแร่ คือ กระทรวงเหมืองแร่ (Ministry of Mines) ซึ่งได้ตั้งหน่วยงานลูกที่สำคัญ 2 แห่ง คือ Geological Survey of India (GSI) ที่เมืองกัลกัตตา ทำหน้าที่สำรวจและเก็บข้อมูลปริมาณแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ และ Indian Bureau of Mines (IBM) ที่เมืองนาคปูร์ ทำหน้าที่ออกกฏระบียบและควบคุมการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
ปัจจุบันอินเดียต้อนรับนักลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ มีการปรับปรุงกฏหมาย โดยเมื่อปี 1999 อนุญาตให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นในบริษัทได้ไม่จำกัดในการเข้ามาขอสัมปทานเหมืองแร่ และเมื่อปี 2000 อนุญาตให้ต่างชาติสามารถขอสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินได้ ทั้งนี้ สามารถขอสัมปทานได้ใน 3 ลักษณะ
1) Reconnaissance Permit (RP) – การสำรวจหาแหล่งแร่ในเบื้องต้นโดยใช้เทคนิคที่ไม่ต้องขุดเจาะ เช่น การใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม หรือการลงไปสำรวจในพื้นที่โดยไม่มีการขุดเจาะ โดยอาจใช้การทดสอบทางเคมี หรือการสะท้อนคลื่นเสียง โดยขอสัมปทานสำรวจแร่ได้เกือบทุกชนิด รวมทั้งแร่เหล็ก แต่ยกเว้นพวก แร่พลังงาน และแร่ที่เกี่ยวกับปรมาณู
2) Prospecting License (PL) – หรือการสำรวจที่สามารถเก็บตัวอย่างจากการขุดเจาะได้
3) Mining Lease (ML) – การให้สัมปทานในการทำเหมืองแร่เต็มรูปแบบ แต่มักจะเป็นการให้ต่างชาติดำเนินการได้ในพื้นที่ที่เกินกว่าที่เอกชนรายใดๆ ของอินเดียจะสนใจหรือสามารถดำเนินการได้ ซึ่งโดยมากจะเป็นสินแร่ที่มีอยู่มหาศาลเกินกว่ากำลังของเอกชนอินเดียจะขุดพบได้หมด อาทิ เหล็ก บอกไซต์ ไมก้า และโปแตส หรือเหมืองที่ไม่คุ้มกับการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ เหมืองขนาดเล็กของ เพชร พลอย ทอง หรือแพลทตินั่ม
จุดแข็งของการลงทุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอินเดีย
- อินเดียสำรวจพบแร่ธาตุจำนวนมากกว่า 85 พันล้านตัน โดยจะเป็นแร่พลังงานร้อยละ 39 และคาดหมายว่าจะมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่มหาศาล ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจอีกมากตอนกลางของประเทศ
- การที่แร่ธาตุอยู่ใกล้ผิวดินจากการยกตัวของเปลือกโลกทำให้ต้นทุนค่าดำเนินการไม่สูงมาก
- มีตลาดรองรับชัดเจนจากการที่ตลาดภายในประเทศเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
- อินเดียมีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านไอทีและวิศวกรรมอยู่มากและค่าแรงถูก ทำให้มีโอกาสในการร่วมมือกับบริษัทของอินเดีย (joint ventures) ที่มีศักยภาพแต่ขาดเทคโนโลยีและทุน ซึ่งมีหน่วยงาน คือ Foreign Investment Promotion Board (FIPB) ที่สามารถให้คำแนะนำสำหรับการเลือกพื้นที่ กำหนดขอบเขตของสัมปทาน และการหาบริษัทอินเดียผู้ร่วมทุน
จุดอ่อนของการลงทุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอินเดีย
- ระบบราชการที่ยังล้าหลัง มีความล่าช้าในการอนุมัติเรื่องต่างๆ
- โครงสร้างระบบสาธารณูปโภคที่รองรับการขนส่งยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้าที่ 10 ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,721 วันที่ 11-14 มี.ค. 55