ระบบการส่งอาหารกลางวัน (dabbawaalahs) และความหมายของคำว่า Jugaad
โดย วัฒนชัย นิรันดร
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
ระบบการบริการส่งอาหารกลางวันให้แก่ออฟฟิศตามอาคารสำนักงานต่างๆ ในย่านธุรกิจเมืองมุมไบหรือที่เรียกว่า dabbawaalahs เป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้พบเห็น คำว่า dabba หมายถึง อาหารกลางวันใส่กล่อง ส่วนคำว่า waalah หมายถึง บุคคล ปัจจุบัน dabbawaalahs ได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมอินเดียยุคใหม่ที่เห็นได้ทั่วไปในย่านธุรกิจเมืองมุมไบไปแล้ว
ในเมืองมุมไบที่ประชากรหนาแน่นและเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ มีคนจำนวนมากที่ทำงานในเขตย่านการค้าที่ต้องการอาหารกลางวันประเภท Homemade ที่ทั้งสดใหม่และราคาถูก ความต้องการอาหารกลางวันกล่องมีมากกว่า 175,000 รายการต่อวัน ด้วยอุปสงค์ที่สูงขนาดนี้น่าสนใจว่าผู้ประกอบการบริการส่งอาหารกลางวันมีวิธีบริหารจัดการได้อย่างไร
อาหารกล่องเหล่านี้ถูกประกอบขึ้นและบริการส่งผ่านห่วงโซ่ความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้ประกอบอาหารที่ซับซ้อน ทุกๆ วันอาหารกล่องเหล่านี้จะเดินทางจากแหล่งประกอบอาหาร (Jugaad Cooking Center) ในปริมณฑลรอบๆ เมืองมุมไบโดยรถไฟและรถเมล์เป็นระยะทาง 35 - 50 กิโลเมตร มาถึงเขตธุรกิจทางตอนใต้ก่อนที่ผู้ส่งกลุ่มสุดท้ายที่ใช้จักรยานหรือรถเข็นจะมารับไปต่อเพื่อส่งถึงโต๊ะทำงานของลูกค้าตรงเวลาทุกวัน
อาหารที่อยู่ในกล่องก็หลากหลายเป็นไปตามที่ลูกค้าแต่ละคนสั่งมันจึงง่ายที่จะเกิดความผิดพลาด แต่ dabawaalahs มีความผิดพลาดเกิดขึ้นน้อยมากอันเป็นผลมาจากการคิดค้นระบบโค้ดแถบสีอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและเป็นวิธีคิดของชาวอินเดียที่น่าศึกษา ระบบโค้ดแถบสีดังกล่าวจริงๆ แล้วก็มิได้ซับซ้อน โดยจะมี 3 ระดับในการระบุรหัสสถานที่และผู้รับ และในปัจจุบันการสั่ง dabbawaalahs ยังสามารถสั่งผ่านระบบออนไลน์ และ SMS ได้ด้วย นอกจากนี้ก็ยังบริการรับอาหารตามบ้านที่ภรรยาเป็นผู้ประกอบขึ้นใส่ปิ่นโตเพื่อส่งต่อให้สามีที่ไปทำงานในเขตย่านธุรกิจ
dabbawalah ได้รับความชื่นชมจากนิตยสาร Forbes ในระดับเดียวกับระบบ six-sigma (ระบบป้องกันความผิดพลาดในการตรวจสอบและส่งสินค้าที่คิดค้นโดยบริษัท Motorola) ในด้านประสิทธิภาพของบริการ และแนวคิด dabbawalah ก็กำลังถูกพัฒนาต่อยอดโดยบริษัทอย่าง GE และ Motorola
ส่วนคำว่า Jugaad จริงๆ แล้วหมายถึง พาหนะที่ชาวชนบทอินเดียคิดประดิษฐ์ขึ้นตามเทคโนโลยีและทรัพยากรที่ตนมีอยู่ซึ่งก็คือการนำระบบเครื่องปั๊มน้ำมาเป็นต้นแบบในการสร้างเครื่องยนต์ รถยนต์แบบ Jugaad ของเกษตรกรอินเดียในชนบทจึงมีลักษณะที่มีคันโยกหรือที่หมุนมือเหมือนกับเครื่องสูบน้ำใต้ดิน คำว่า Jugaad ในปัจจุบันมีความหมายไปถึงการคิดค้นหรือสรรหาวิธีการในการแก้ปัญหาของชาวอินเดียในสภาวะที่ทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ได้มีอยู่อย่างจำกัด
การบริการส่งอาหารกลางวันในมุมไบเป็นลักษณะพิเศษและเรียกได้ว่าเป็นภูมิปัญญาการจัดการปัญหาตามแบบอินเดีย หรือ Jugaad นาย Pavan K. Varma ผู้แต่งหนังสือ Being Indian ได้เขียนเล่าในหนังสือของเขาเกี่ยวกับคอนเซ็ปของ Jagaad ว่า “Jugaad เป็นการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์” และว่า “คนอินเดียปฏิเสธที่จะยอมแพ้ แต่จะคิดแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว แม้อาจจะเจ้าเล่ห์ แต่ก็มักจะหาวิธีแก้ปัญหาได้ตามแบบของตน”
จากพาหนะที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น จนถึงระบบการจัดการธุรกิจที่ซับซ้อนอย่าง dabbawalah แสดงให้เห็นว่าชาวอินเดียมีวิธีคิดที่สามารถตอบสนองความต้องการในแบบของตน และดูเหมือนกับว่าแนวคิดการทำธุรกิจของคนอินเดียจะไม่ตรงกับที่คนอื่นๆ คิดซักเท่าไหร่ นักลงทุนที่เห็นโอกาสในการบุกตลาดอินเดียควรจะต้องทำความเข้าใจกับทัศนคติและแนวคิดของคนอินเดียอย่างลึกซึ้งด้วย
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _