ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 31)
อลังการงานวิวาห์
โดย กิตินัย นุตกุล
มงเท่งมง ... โห่ฮี้โห่ ... ฮี้วววว ... ใครมีมะกรูด มาแลกมะนาว .... ฮัดช่า ดึ่งดึ๋ง ดึ่งดึ๋ง .... ฮัดช่า ที้กเฆ่ อ้ะดึ่งดึ๋ง ดึ่งดึ๋ง ... นำมาด้วยกลองยาว แต่คนรำดันเป็นแขกเสียนี่กระไร
เริ่มเทศกาลหาคู่แต่งงานของครอบครัวชาวอินเดียกันอีกแล้ว คงเคยได้ทราบข่าว ได้เห็นภาพงานแต่งงานอลังการสไตล์อินเดียมาบ้างว่างานสร้างขนาดไหน ถ้าไม่จัดตามวังโบราณ โรงแรม7 ดาว (มีจริงๆ ครับ ที่อินเดียเท่านั้น ที่อื่น 5 ดาวก็ถือว่าสุดๆ แล้ว) หรือจัดกันซะที่เมืองนอก เหมาเครื่องบินเชิญแขกไปเลย เมืองไทยเป็นแหล่งยอดนิยมสำหรับเศรษฐีอินเดียที่ยกขบวนมาจ้ดงานเลี้ยงสุดหรูสำหรับลูกสาวลูกชาย ไล่ไปตั้งแต่เมืองพัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ หัวหิน ชะอำ ฯลฯ
มหาเศรษฐีเหล่านี้ใช้เวทมนต์คาถามหารวย เป่าเพี้ยง เงินปลิวเป็นฟ่อนๆ เสกให้บรรยากาศการแต่งงานในเมืองไทยกลายเป็นบรรยากาศแบบฮินดีไม่ยากเลย ถ้าไม่รู้มาก่อน เห็นแต่ภาพถ่าย นึกว่าอยู่เมืองท่องเที่ยวแห่งใดแห่งหนึ่งในอินเดียแน่ๆ ... ท่านครับ ทุกคนแต่งกายชุดแขกแบบหรูหรา เครื่องประดับมีเท่าไหร่ เอาออกมาประชันกันอย่าได้น้อยหน้าใครเด็ดขาด เวที แบ๊คดร็อป ... อินเดียนสไตล์ล้วนนนนนน ...
แต่เดิมการฉลองพิธีวิวาหะมักจะมีเฉพาะผู้เศรษฐีมีเงินมากที่จัดกันอย่างเอิกเกริก ปัจจุบัน ค่านิยมเปลี่ยนไป ยากดีมีจนทุกหนแห่ง ต้องจัด! วอดวายไม่ว่า แต่หน้าต้องไม่แตก ทุ่มทุนงบบูรณาการทุกด้านมารักษาหน้า เอ๊ย ... อดออมเพื่อจัดงานนี้โดยเฉพาะ ... ยากดีมีจน ทุ่มกันสุดๆ ขนาดนี้ คงจะพอบอกได้ว่า คนออกแบบตัดชุดคงกระเป๋าตุงแน่นอนครับ
นับวัน อุตสาหกรรมการออกแบบและตัดชุดแต่งงานสำหรับแขกชายและหญิงมีแต่จะเติบโตในอัตราส่วนที่สูงขึ้นทุกปี เพราะค่านิยมของสังคมที่พร้อมทุ่มเทเพื่อลูกหลานในโอกาสสำคัญที่สุดของชีวิต สื่อที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อการแต่งชุดวิวาห์ของอินเดียคือภาพยนต์บอลลีวู้ด เพราะพระเอกนางเอกของเรื่องมักจะแต่งกายอย่างงดงามเกือบทั้งเรื่อง
เจ้าของกิจการรับจัดงานวิวาหะรายหนึ่งบอกว่า ปัจจุบันค่านิยมการแต่งงานแบบอินเดียต่างจากอดีตมากมาย ใครๆ ก็อยากจัดงานแบบนี้ให้โก้หรู จ่ายเพิ่มอีกไม่มากก็ได้ตามต้องการแล้ว ยกตัวอย่างนักธุรกิจรายหนึ่งกำลังจะจัดงานแต่งให้ลูกสาวคนที่สอง ใช้วิธีจ้างผู้ประกอบการแบบนี้จัดงานให้ เพื่อที่ไม่เสียเงินมากเกินจำเป็นเช่นครั้งจัดให้ลูกสาวหัวปี และเป็นผู้ประกอบการที่รับจัดให้ทุกอย่าง (one-stop service) โดยคุณเจ้าของกิจการรับจัดตั้งแต่หาสถานที่จัดงานที่เหมาะสม ว่าจ้างอาหาร ออกแบบการ์ด จัดรับของขวัญและจัดหาของชำร่วย ขอแค่ตกลงเรื่องราคาค่าจ้างกันได้ ผู้ว่าจ้างก็ไปนั่งไขว่ห้างกระดิกขารอวันงานได้เลย ... คุณเจ้าของกิจการรายนี้เคยจัดงานแต่งของดาราบอลลีวู้ดมาแล้วหลายคู่ ฉะนั้น รับประกันคุณภาพงานและราคาขะรับ
ผู้เชี่ยวชาญการนำแบรนด์ฟรานไชส์ไปอินเดียให้ความเห็นว่า การจัดงานแต่งแบบอินเดียต้องใช้จ่ายสูงกว่าการจัดแบบอเมริกันชนถึง 3 เท่า (แน่ล่ะครับ ทุ่มกันเห็นๆ) ทำให้แบรนด์สินค้าหลายยี่ห้อหาทางเจาะตลาดนายห้างอินเดียไฮโซที่นิยมของประเภทนี้ เพราะมีกำลังซื้อสูงมาก มีการประเมินว่าในแต่ละปี อุตสาหกรรมวิวาหะ (คือที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเท้า เสื้อผ้าหน้าผม พิมพ์การ์ด เชิญแขก อาหาร ฯลฯ) มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านรูปี (ไม่ผิดครับ ล้าน-ล้าน-รูปี) และเพิ่มขึ้นทุกปีปีละประมาณ 20%
เมื่อปีก่อน นายห้างรายหนึ่งจ้างบริษัทแบบที่ว่านี้จัดงานแต่งลูกสาวสุดเลิฟ เชิญแขก 300 คน ใช้เงิน 5 ล้านรูปี (ตกราว 3 ล้านบาท) โดยบอกว่าคุ้มสุดคุ้มกับเงินจิ๊บๆ แค่นี้ เพราะจัดได้ดี เจ้าภาพไม่เครียด แถมราคาก็เป็นมิตร (แต่ผมเครียดนะ 3 ล้านบาทเนี่ย แล้วราคาก็คงเป็นศัตรูกันเลยทีเดียวเชียวแหละ!) ว้าวววว
นอกจากคู่บ่าวสาวที่ต้องแต่งหน้าแต่งตาแต่งตัวแบบทุ่มกันสุดๆ แล้ว บรรดาวงศาคณาญาติ เพื่อนสนิทมิตรสหายของบ่าวสาว ต่างก็ต้องการดูดีสุดๆ ในวันงาน ดังนั้น ร้านเสื้อผ้าและร้านเสริมสวยพลอยมีรายได้ดีอู้ฟู่ไปด้วยจากการอุดหนุนของคนกลุ่มนี้
ที่พูดมาตั้งแต่ต้น ยังไม่นับเครื่องประดับเพชรพลอยอัญมณีที่แต่ละคนจะแต่งกันเต็มที่ตั้งแต่ปลายเส้นผมจรดปลายเท้า งานแต่งงานของชาวฮินดูเป็นงานที่ยิ่งใหญ่อลังการมากจริงๆ วิบวับละลานตาไปด้วยเครื่องประดับที่แพรวพราวกันทั้งงาน
ตามธรรมเนียมฮินดู ในวันแต่งงาน ฝ่ายชายจะต้องแต่งตัวอะร้าอร่ามแบบเจ้าชาย เรียกว่าหล่อที่สุดวันหนึ่งในชีวิต ออกจากบ้านมากระโดดขึ้นขี่ม้า (ส่วนใหญ่จะเป็นม้าขาว) ซึ่งม้าก็แต่งหล่อสมกับเป็นม้าของเจ้าชาย (ว่าเข้านั่น!) มีผ้าคลุมงดงามพร้อมติดสายไฟกระพริบระโยงระยางทั้งตัว ... ครับ มีเสี่ยวเอ้อตามหลังม้าแบกแบตเตอรีรถยนต์ที่ใช้สำหรับต่อไฟกับสายไฟที่ตัวม้า ... เจ้าชายพร้อมแล้วก็บังคับม้าย่างเหยาะๆ โดยมีแตรวงนำหน้า ญาติพี่น้องเดินร้องรำทำเพลงมาในขบวน เดินเท้ากันไปยังบ้านเจ้าสาว เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป
ถามว่าแล้วธุรกิจไทยจะมีส่วนแบ่งอะไรได้บ้างไหมจากอุตสาหกรรมงานแต่งของชาวอินเดีย?
ตอบครับ ... เรื่องเสื้อผ้า หน้าผม และเครื่องประดับ คงสู้เจ้าถิ่นไม่ได้แน่ๆ เพราะผ้าที่ใช้สำหรับนี้เป็นผ้าที่ผลิตในอินเดีย ผ้าส่าหรีเนื้อดี ประดับลวดลายงดงาม ต้องอินเดียเท่านั้น เครื่องประดับจำพวกทองนั้น ความนิยมก็ต่างไปจากบ้านเรา เพราะที่นี่ทองที่นิยมจะไม่ใช่ทองสีสุกสดใสแบบบ้านเรา แต่สีจะออกขุ่นกว่านิดหน่อย ดังนั้น ต้องยอมยกให้เจ้าถิ่นเขาไป
แต่สิ่งที่ไทยมีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะ “แบ่ง” ลูกค้าอินเดียไปได้คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไงครับ
ดังที่ได้เกริ่นไปในตอนต้นแล้วว่าผู้มีอันจะกินชาวอินเดียนิยมที่จะแสดงแสนยานุภาพเชิงทรัพย์สินและการเงินของแต่ละฝ่าย จึงนิยมที่จะไปจัดงานแต่งของบุตรหลานในต่างแดน โดยเฉพาะสยามเมืองยิ้มของเรา เพราะเมื่อคำนึงถึงวงเงินที่ใช้จ่ายละลายทรัพย์เพื่อลูกหลานและหน้าตาวงศ์ตระกูลแล้ว ในวงเงินที่เท่าๆ กัน ไปจัดเมืองไทยคุ้มค่ากว่าเยอะ ค่าเครื่องบินไปกลับแพงกว่าบินในประเทศอินเดียนิดเดียว โรงแรมบ้านเราราคาถูกกว่ามาก บริการก็เลื่องลือไม่แพ้ใครในโลก อาหารก็อร่อย .. อยากทานอาหารอินเดียก็จัดหาได้ไม่ยากเลย ... สถานที่ท่องเที่ยวมากมายให้บ่าวสาวได้เลือกไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ มีทั้งหาดทราย ชายทะเล เกาะแก่งงดงาม ดำน้ำก็ได้ อยากแปลกๆ ก็ดำน้ำลงไปแต่งงานกันใต้ทะเล ... หรือชอบบรรยากาศแบบภูเขาก็มีให้เลือกมากมายทั่วไทย
ลองมาโฆษณาทัวร์ดีๆ ให้เศรษฐีที่นี่ดูสิครับ ต้องได้อะไรติดปลายนวมไปบ้างล่ะ!
กิตินัย นุตกุล
เมษายน 2555