กรุงเทพธุรกิจ อินไซด์ อินเดีย ตอน เรียนต่อที่อินเดีย : ของดี--ถ้ารู้จักเลือก
เรียนต่อที่อินเดีย : ของดี--ถ้ารู้จักเลือก
โดย พิศาล มาณวพัฒน์
ดูเหมือนผู้บริหารหมายเลข 1 ของบริษัทฝรั่งชั้นนำของโลกหากไม่ใช่ฝรั่งด้วยกันเอง ก็จะเป็นโอกาสให้ชาวอินเดียที่จบปริญญาตรีในบ้านเกิดแทบทั้งสิ้น
นาง Indra Nouyi ผู้บริหารสูงสุดของเป๊ปซี่ จบปริญญาตรีด้านฟิสิกส์ เคมี และคณิตศาสตร์ในเมืองบ้านเกิดคือ เจนไน หนังสือพิมพ์ไฟแนลเชียลไทม์จัดให้เป็นสตรีที่ทรงอิทธิพลอันดับ 3 ในนักธุรกิจหญิง 50 คนของโลก
นาย Anshu Jain ผู้บริหารสูงสุดของธนาคารใหญ่ที่สุดของเยอรมันคนแรกที่ไม่ใช่ฝรั่ง พื้นเพเป็นคนจากเมืองชัยปุระในรัฐราชสถาน จบเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดลี ภายในเวลา 16 ปีที่ทำงานในดอยซ์แบงค์ก็ได้ไต่เต้ามาถึงตำแหน่งสูงสุด
ดร. Nitin Nohria คณบดี Harvard Business School จบปริญญาตรีจากบอมเบย์ ดร. Dipak Jain คณบดี INSEAD ที่ฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้เป็นคณบดี Kellogg แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา พื้นเพเป็นนักเรียนที่รัฐอัสสัม จบปริญญาตรีและโทที่อัสสัมด้านคณิตศาสตร์และสถิติ ดร. Sunil Kumar จบคอมพิวเตอร์ที่บังกะลอร์ ปัจจุบันเป็นคณบดีวิทยาลัยบริหารจัดการที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ดร. Soumitra Dutta จบเทคโนโลยีจากเดลี จะเป็นคณบดีวิทยาลัยการบริหารที่คอร์แนลกลางปีนี้
คนเก่งอินเดียข้างต้นล้วนเติบโตจากคนละภาคของอินเดีย จบมหาวิทยาลัยในละแวกบ้านตน ที่ขึ้นไปได้ถึงตำแหน่งสูงสุดก็ไม่ใช่ด้วยเส้นสายจากโรงเรียนประจำหรือมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลก แต่ด้วยฝีมือ ความสามารถและผลงาน
อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ชาวอินเดียเหล่านี้ประสบผลสำเร็จสูงสุดในสังคมตะวันตก ทั้งๆ ที่มีพื้นเพการศึกษาปริญญาตรีในอินเดียทั้งหมด และแม้จะมีคนไทยที่จบปริญญาตรีถึงเอกจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกมากมาย แต่เรานึกชื่อออกกี่คนที่ก้าวขึ้นไปถึงผู้บริหารองค์กรชั้นนำระดับอินเตอร์
ถูกต้องว่า อินเดียมีโอกาสมากกว่าเพราะประชากรพันกว่าล้าน ไทยมีแค่หกสิบกว่าล้าน แต่ข้อสังเกต ที่ผู้บริหารอินเดียในบริษัทฝรั่งชื่อดังอีกคนบอกกับผม คือ พวกเขาไปถึงระดับอินเตอร์ได้เพราะอินเดียใช้ภาษาอังกฤษ
และคงด้วยเหตุผลนี้ ที่ทำให้คนไทยนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนอินเดีย ในกรณีที่ไม่สามารถไปประเทศฝรั่งได้ ด้วยเหตุผลใดก็ตาม บวกกับราคาค่าใช้จ่ายรวมแล้วถูกกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ
จากการสำรวจประเมินด้วยวิธีต่างๆ ของสถานทูตที่กรุงนิวเดลี และสถานกงสุลใหญ่ที่มุมไบ เจนไน และกัลกัตตา พบว่านักเรียนไทยทั้งหมดในอินเดียมีประมาณ 1,800 คน โดยครึ่งหนึ่งเป็นนักเรียนชั้นประถม/มัธยมศึกษา อีกครึ่งเป็นระดับอุดมศึกษา นักศึกษาไทยมุสลิมหลายร้อย พระนักศึกษาก็หลายสิบ
เมื่อเดินทางไปเยี่ยมนักเรียนไทยตามเมืองต่างๆ ของอินเดีย พบว่าส่วนใหญ่ไปเรียนตามคำบอกกล่าวของคนรู้จัก จากคำโฆษณา การชักชวนของเอเย่นต์ โดยพ่อแม่ไม่เคยไปเห็นสภาพโรงเรียนหรือความเป็นอยู่ที่ลูกหลานจะไปประสบ แม้แต่จะเดินทางไปส่งในช่วงแรก ทั้งๆ ที่ระยะเวลาการเดินทางเพียง 4 ชั่วโมงเศษ มีเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองต่างๆ ทั่วอินเดียกว่า 140 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ก็ตาม
โรงเรียนประจำที่มีชื่อของอินเดีย มีมาตรฐานไม่แพ้ต้นตำรับที่อังกฤษ ทั้งที่ดาร์จิลิง ทางเหนือหรือเมืองอูดตี้ ทางใต้ โดยราคาค่าใช้จ่ายถูกกว่า ระยะทางใกล้บ้านกว่า คนไทยหลายคนก็ได้รับการปลูกฝังพื้นฐานที่ดี มีวินัยจากโรงเรียนประจำเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ได้เคยไปเยี่ยมโรงเรียนประจำที่ไม่ค่อยมีบริเวณให้วิ่งเล่น และยังมีวิธีลงโทษด้วยการตบหน้าเด็กแบบรุนแรงก็มี ซึ่งต้องเอ่ยปากขอกับผู้บริหารให้ใช้วิธีอื่นแทน ทั้งๆ ที่ทางการอินเดียมีกฎห้ามการลงโทษแบบนี้
นักเรียนไทยมีปัญหาการปรับตัวทุกคน โดยเฉพาะในเรื่องสภาพที่พักและความเป็นอยู่ซึ่งไม่สบายเหมือนไทย อาหารไม่ถูกปาก ปัญหาถูกลดชั้นเรียน หรือการย้ายไปเรียนที่อื่นไม่ตรงกับเอเยนต์ที่รับปากไว้ ฟังภาษาอังกฤษผสมฮินดีในห้องเรียนไม่เข้าใจ (ภาษาอังกฤษสำเนียงอินเดียโดยไม่ผสมฮินดีก็ยากเอาเรื่องแล้วสำหรับคนไม่คุ้น) ต้องเผชิญกับระบบความล่าช้าของราชการอินเดีย ของ ตม. ของโรงเรียน/มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เรื่องการตอบรับก่อนเข้าเรียน ไปจนถึงการออกหนังสือรับรองปฏิญญาช้าเมื่อจบปริญญาเอกแล้ว จบแล้วก็มีหลายแห่งที่ ก.พ.ไม่รับรองวิทยะฐานะ
จากข้อเท็จจริง อินเดียน่าจะเป็นประเทศที่จำเป็นต้องมีผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ไปอยู่ประจำการมากกว่าประเทศฝรั่งที่ ก.พ.มีสำนักงานหรือผู้แทนด้วยซ้ำ เพราะนอกจากจะช่วยดูแลนักเรียนทุนรัฐบาลที่น่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตแล้ว ยังสามารถติดตาม ประเมิน รับรอง และแนะนำสถาบันการศึกษาที่ดีมีคุณภาพเพื่อใช้วางแผนการพัฒนาการทรัพยากรมนุษย์ในไทยได้อย่างมีระบบและสอดคล้องกับความต้องการของไทยมากยิ่งขึ้น
การศึกษาอินเดียเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ คือ ของดีมีไม่น้อยในอินเดียแต่ต้องแยกแยะให้เป็น อินเดียเป็นประเทศมีอารยธรรมสูง เป็นแหล่งความรู้ที่สามารถผลิตบุคลากรส่งไปถึงผู้บริหารสูงสุดของบริษัทและสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกได้ในราคาถูกกว่าสถานศึกษาฝรั่งเมื่อศึกษาและเลือกดีแล้ว
ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นหาโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอย่างไร ในเว็บไซต์สถานทูต www.thaiemb.org.in มีคอลัมน์ “เรียนต่อในอินเดีย” มีรายชื่อสถาบันการศึกษาที่ได้รับการจัดอันดับท็อป 25 ท็อป 50 ตามสาขาวิชาต่างๆ กับมีรายชื่อโรงเรียนที่ได้รับการแนะนำในหลายรัฐ
เมื่อได้ข้อมูลอย่างมั่นใจแล้ว พ่อแม่ก็ควรยอมเสียเวลาบินไปดูความเป็นอยู่ของลูกหลานอย่าฝากชีวิตเขาไว้ในมือเอเย่นต์ที่ไม่รู้จักเลย