ภูมิหลัง
ภูมิหลัง
การจัดหาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพนับเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลอินเดียในปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสามารถเป็นได้ทั้งตัวหน่วงหรือปัจจัยเสริมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของอินเดียในช่วงต่อไป ทั้งนี้ ในช่วง10 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ให้ความสำคัญกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากและประสบความสำเร็จในด้านนี้พอสมควร แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถสร้างได้เพียงพอต่อการรองรับพลวัตรทางเศรษฐกิจของประเทศและยังตามหลังอีกหลายๆ ประเทศ ในด้านนี้ ทั้งนี้ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 12 (ปี ค.ศ. 2012 – 2017) รัฐบาลอินเดียได้ตั้งเป้าการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานไว้ในสัดส่วนร้อยละ 9 ของ GDP โดยกำหนดวงเงินเพื่อการลงทุนไว้ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากแผนพัฒนาฯ ฉบับก่อนหน้านี้
ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอดีต รัฐบาลอินเดียได้เป็นผู้ดำเนินการเองเกือบทั้งหมด ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาความล่าช้า เนื่องจากการขาดแคลนงบประมาณ แต่ในปัจจุบัน รัฐบาลอินเดียได้ปรับนโยบายและกลยุทธเพื่อให้มีช่องทางในการเพิ่มการจัดหาทุนและดำเนินการได้คล่องตัวยิ่งขึ้น ดังนี้
- การใช้ระบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนในแบบ (Public Private Partnerships - PPPs)
- ตั้งบริษัท Indian Infrastructure Finance Limited เพื่อเป็นกองทุนในการดำเนินการในด้านนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งตั้ง Viability Gap Funding – VGF ซึ่งเป็นกองทุนที่รัฐบาลใช้ในการสนับสนุนด้านการเงินแก่โครงการประเภท PPPs ที่ไม่คุ้มต่อการลงทุนในเชิงพาณิชย์ โดยรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดลงทุนรวมของโครงการ ตลอดจนได้ตั้งหน่วยงาน Infrastructure Debt Fund – IDF เพื่อเป็นกลไกในการระดมทุนระยะยาวต้นทุนต่ำให้แก่โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนผู้รับเหมาท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จากหลายแหล่งยิ่งขึ้น อาทิ ตราสารหนี้ บริษัทประกันภัย sovereign/pension funds ทั้งจากในอินเดียและต่างประเทศ
- ใช้เงินทุนจากองค์การทางการเงินระหว่างประเทศ อาทิ ADB, World Bank ในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยขณะนี้ได้ใช้ทุนจาก World Bank ดำเนินการใน 73 โครงการ วงเงินประมาณ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากภาพรวมของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอินเดียในปัจจุบัน ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในทุกสาขา ทั้งทางด้านถนน การผลิตกระแสไฟฟ้า ท่าเรือ รถไฟ การบิน และโทรคมนาคม แต่ก็ยังมีไม่เพียงพอต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้ให้ความสำคัญต่อการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไปต้องสะดุดหรือเติบโตได้ไม่ถึงศักยภาพ รวมทั้งให้เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดั้งนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทรับเหมาก่อสร้างของไทยที่จะเข้ามาแสวงหาการรับงานหรือเข้าร่วมการลงทุนกับภาครัฐหรือเอกชนของอินเดียในการรับงานก่อสร้างเหล่านี้ ซึ่งบริษัทอิตาเลียนไทย ซึ่งดำเนินการในด้านนี้ในอินเดียอยู่ในปัจจุบันนับเป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการก่อสร้างของอินเดีย อาทิ บริษัท Tata, Reliance และ Srei Infrastructure Finance Limited ก็ได้เคยหามารือกับสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ ในความเป็นไปได้ที่บริษัทของตนจะมีความร่วมมือกับบริษัทผู้รับเหมาของไทยในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งในอินเดียและต่างประเทศมาแล้ว
รายงานฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ เพื่อประโยชน์ของภาคเอกชนไทย ทั้งในสาขาที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอินเดีย รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป เพื่อให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาของอินเดียในด้านนี้ สำหรับการประเมินโอกาสทางธุรกิจในอินเดีย
นายธีระพงษ์ วนิชชานนท์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ