กรุงเทพธุรกิจ: อินไซด์ อินเดีย ตอน เศรษฐกิจพอเพียงกับคนไทในอินเดีย
เมื่อพูดถึงคนอินเดีย หลายๆ คน คงจะคิดถึงกลุ่มคนที่มีตาโต ผิวคลำ รูปร่างสันทัดไม่สูงไม่ใหญ่จนเกินไป ผู้ชายบางคนมีผ้าโพกศีรษะ ใส่เสื้อส่าหรี ชุดประจำชาติที่มีสีสรรสวยงาม หรือบางคนก็จะนึกถึงชุมชนชาวอินเดียที่ขายผ้าอยู่แถวตลาดพาหุรัด กล่าวโดยสรุปก็คือ ที่คนไทยเราเรียกกันว่า “แขกชาวอินเดีย” นั้นเอง แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามีชาวอินเดียที่มีหน้าตาเหมือนคนไทย อาศัยอยู่ในอินเดียด้วย
เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ได้นำคณะชาวไทผาเกจากรัฐอัสสัม ซึ่งอยู่ทางภาคอีสานของอินเดีย เดินทางมาประเทศไทย เพื่อดูงานด้านการพัฒนาเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มาถึงแค่นี้คงมีคนสงสัยว่าชาวไทผาเกคือใคร แล้วทำไมสถานทูตจะต้องเอาคนกลุ่มนี้มาดูงานที่บ้านเรา
ชาวไทผาเก เป็นชนกลุ่มน้อยชาวอินเดียที่อยู่ในรัฐอัสสัม ไม่ได้มีหน้าตาเป็นคนอินเดีย แต่มีหน้าตาเป็นคนไทยดีๆ นี่เอง แถมยังไม่ได้นับถือฮินดู หรืออิสลาม แต่เป็นชาวพุทธ มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้าน และมีภาษา ขนบธรรมเนียบประเพณี และวัฒนธรรม คล้ายคลึงกับชาวไทยล้านนา แถวๆ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน
ชาวไทผาเกสนใจประเทศไทย เคยรับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในปี 2552
ข้าราชการสถานทูตก็แวะไปเยี่ยมสม่ำเสมอ งานวันชาติที่กรุงนิวเดลี ก็มีตัวแทนหมู่บ้านไปร่วม รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่สถานทูตฯ จัด อาจารย์ นักวิชาการด้านมนุษยวิทยาของไทยก็เดินทางไปนอนค้างที่หมู่บ้านเพื่อศึกษาค้นคว้า ทางหมู่บ้านก็แสดงน้ำใจต้อนรับขับสู้อย่างจริงใจ เพราะความผูกผันที่มีมาหลายชั่วคน
ด้วยเหตุผลนี้เอง สถานทูตฯ จึงมีแนวคิดที่จะสนับสนุนชาวไทยผาเก ที่อยากรักษาอัตตลักษณ์ และขนบธรรมเนียมที่ดีงามของตน โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นรูปแบบให้ศึกษา ในขณะเดียวกันสถานทูตฯ ก็ตระหนักดีว่าโครงการเช่นนี้ ย่อมได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดีย เพราะนายกรัฐมนตรีอินเดียได้กล่าวย้ำกับผู้นำไทยเสมอว่าอยากให้ไทยเน้นส่งเสริมความร่วมมือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
กำหนดการศึกษาดูงานครั้งนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ การศึกษาประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย คณะได้รับองค์ความรู้ดังกล่าวโดยการเยี่ยมชมสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (Museum Siam) วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง และการแสดงสยามนิรมิต ส่วนที่สอง คือการกำหนดการศึกษาดูงานด้านการพัฒนาเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการเยี่ยมชมศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จังหวัดนครนายก ศูนย์การศึกษาเพื่อการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท ของหอการค้าไทย จังหวัดปทุมธานี ในโอกาสนี้ คณะผู้แทนชาวไทผาเก ยังได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆ อาทิ เกษตรกรรม ปศุสัตว์ และการทำประมง จากวิทยากรและกลุ่มเกษตรกรไทย
ผู้เข้าร่วมซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นแกนนำหนุ่มสาวของหมู่บ้านต่างประทับใจกับการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เน้นสูตร 30 30 30 และ 10 ซึ่งนับเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่พวกเขาบอกว่าจะเป็นที่สนใจของชาวไทผาเกเป็นอย่างมาก คณะชาวไทผาเกยังได้มีโอกาสลงพื้นที่จริงโดยการเยี่ยมชมหมู่บ้านพัฒนาตัวอย่าง 2 หมู่บ้านที่บ้านป่าสักน้อย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับรางวัลหมู่บ้านตัวอย่างในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปี 2554 ของกรมพัฒนาชนบท กระทรวงมหาดไทย คณะได้เยี่ยมชมแปลงเกษตรและปศุสัตว์ของชาวบ้าน ได้เยี่ยมชมโครงการเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนผ่านทางการผลิตสินค้าโอทอป อาทิ การทำข้าวเกรียบ การทำผ้ามัดย้อม การเย็บกระเป๋าถือสำหรับสตรี และการผลิตสินค้าที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง เป็นต้น และได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการนำหลักคำสอนทางพุทธศาสนาไปใช้พัฒนาหมู่บ้าน ผ่านทางการสร้างจิตสำนัก ความรู้สึกร่วม และความสามัคคี ร่วมกับแกนนำหมู่บ้านอีกด้วย
สำหรับบ้านขาแหย่งพัฒนา อ. แม่ฟ้าหลวงจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหมู่บ้านชนกลุ่มน้อยชาวเขาเผ่าลาหู่ ลักษณะของหมู่บ้านมีความคล้ายคลึงกับหมู่บ้านไทผาเก คือ เป็นหมู่บ้านของชนกลุ่มน้อยในประเทศ ชาวบ้านยังคงมีรายได้หลักจากการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์เป็นหลัก คณะฯ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนา โดยเฉพาะด้านการปลูกฟังจิตสำนักให้ชาวบ้านร่วมกันรักษาความสะอาดและการสร้างอัตตลักษณ์ร่วมให้เกิดความสามัคคี ปิดท้ายยังได้มีโอกาสร่วมการแสดงทางวัฒนธรรมกับชาวลาหู่ ซึ่งการแสดงของทั้งสองกลุ่มมีความคล้ายคลึงกัน จนทำให้การแสดงออกมาอย่างสนุกสนานทั่วทุกคน
ก่อนการศึกษาดูงาน ชาวไทผาเกมีความคิดว่ากรรมวิธีในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นมีความยุ่งยากซับซ้อนและต้องใช้เทคโนโลยีในระดับสูงกว่าที่หมู่บ้านของตนมี ซึ่งอาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการนำความรู้ที่ได้ไปลงมือปฏิบัติ หลังจากการศึกษาดูงานทำให้เป็นว่าทุกอย่างสามารถทำได้ง่ายอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก และเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านได้จริง
หากชนกลุ่มน้อยที่น่ารัก เช่นไทผาเก สามารถคงรักษาอัตตลักษณ์ได้โดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ให้เกิดการพัฒนา มีรายได้อย่างยั่งยืน ก็หมายความว่าอินเดียก็จะได้ประโยชน์จากการมีความหลากหลายในแต่ละภาคของประเทศ ความหลากหลายเป็นสีสรรที่สวยงามของสังคมเปิดและประชาธิปไตย เช่น อินเดีย ซึ่งจะทำให้ไทยและอีสานอินเดียยิ่งใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ยิ่งการคมนาคมทางบกสะดวกขึ้น ในอนาคต ไทยกับอินเดียก็ยิ่งไปมาหาสู่กันง่ายขึ้น เป็นวินวินของทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง
พิชญะ สนใจ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี