ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 32)
เครือโรงแรมไทยรุดหน้า บุกตลาด hospitality อินเดีย
โดย ดร.แจ่มใส เมนะเศวต
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
ไม่ว่าใครที่มาอินเดีย ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ห้องพักที่นี่ราคาแพง เปรียบได้กับนิวยอร์ก หรือลอนดอน คนที่เข้าใจว่าอะไรๆ ในอินเดียถูกไปซะหมด ก็คงผิดหวังไปตามๆ กัน
ราคาห้องพักในอินเดียที่สูงกว่าบ้านเราหลายเท่า เกิดจากเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐาน นั่นคือ อุปสงค์มากกว่าอุปทาน
กระทรวงท่องเที่ยวอินเดียได้จ้างบริษัท HVS India บริษัทที่ปรึกษาของอุตสาหกรรมบริการ และ World Travel and Tourism Council (WTTC) ร่วมกันทำการวิจัยเรื่องอนาคตของธุรกิจโรงแรมในอินเดีย ซึ่งมีผลออกมาในรูปแบบสมุดปกขาวที่มีข้อสรุปว่า อินเดียต้องสร้างห้องพักเพิ่มขึ้น 180,000 ห้อง ใช้เงินลงทุนกว่า 25.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 211,000 คน เพื่อที่จะสามารถรองรับจำนวนนักเดินทางทั้งภายในอินเดียและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจาก 810 ล้านคนในปัจจุบัน ถึง 1.747 พันล้านคนภายในปี ค.ศ. 2021
เป็นที่น่าภูมิใจที่เครือโรงแรมของไทยได้นำหน้าเทรนด์นี้และเข้ามาบุกเบิกตลาดการท่องเที่ยวและบริการบ้างแล้ว แม้ว่าการสร้างโรงแรมในอินเดียเป็นเรื่องที่มีความท้าทายสูงสำหรับคนอินเดียเองก็ตาม เนื่องจากกฎระเบียบที่ไม่อำนวยการลงทุน ราคาที่ดินที่แพงมหาศาล การขาดแคลนบุคลากรที่มีความชำนาญและประสิทธิภาพ สาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากร ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สาขาการบริการโรงแรมในอินเดียเติบโตไปได้ช้า
นักธุรกิจไทยที่เข้ามารายแรกๆ คือเครือเซนทารา ซึ่งได้เปิดรีสอร์ทบูติคที่ใช้ชื่อว่า Moksha Himalaya Spa Resort ที่เมือง Parwanoo รัฐหิมาจัลประเทศ ในหุบเขาหิมาลัย เน้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและสุขภาพ นอกจากนี้ เครือเซนทารามีแผนจับมือกับกลุ่ม Acron ดีเวลอปเปอร์เชื้อสายอินเดีย เปิดสปาไทยในแฟรนไชส์ Spa Cenravee และร้านอาหารไทยและเอเชียฟิวชั่นอีก 3 ร้านในนาม Chili-Hip, Vibes, และ Zing ที่รีสอร์ทหรูในเมือง Candolim เมืองชายทะเลชื่อดังของรัฐกัว
ล่าสุด เลอบัว (Lebua) โรงแรมห้าดาวภายใต้บริษัท Challenge Group ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลบัวเลิศ ได้เปิดตัวโรงแรมเลอบัวเดลี (Lebua Delhi) อย่างไม่เป็นทางการไปเมื่อไม่นานมานี้ ปัจจุบัน Lebua Delhi เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่ม มี 400 ห้อง ใช้เงินลงทุนหลักพันล้านซื้อกิจการโรงแรมหนึ่งและปรับปรุงสถานที่ใหม่ Lebua Delhiตั้งอยู่แถว Dwarka ซึ่งเป็นทำเลใกล้ท่าอากาศยานอินทิราคานธี ใช้เวลาเดินทางเพียง 20 นาที อยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงนิวเดลี กลุ่มผู้บริหารตั้งเป้าหมายเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน ศกนี้
ที่เป็นข่าวฮือฮาของวงการ fine dining ของอินเดีย คือ Lebua Delhi ประกาศตัวเปิดภัตตาคารอินเดียที่แพงที่สุดในโลก หัวละ 400 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ CEO ชาวอินเดียของเลอบัว นาย Deepak Ohri ให้สัมภาษณ์ว่า ร้านอาหารอินเดียดังกล่าวจะได้เชฟระดับสามดาวมิชาลินมาเขียนเมนูให้ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน นอกจากนี้ นาย Ohri จะนำ Sirocco บาร์ชื่อดังบนดาดฟ้าของตึก State Tower ในกรุงเทพฯ มาเปิดสาขาที่เดลีด้วย งานนี้ขาเที่ยวคงต้องลองไปดูว่า Sirocco II จะเทียบเท่าต้นตำรับได้มากน้อยเพียงใด
เลอบัวมีแผนที่จะขยายสาขาไปยังรัฐกัว สถานที่พักตากอากาศบนชายฝั่งทะเลอาระเบีย คาดว่า โครงการดังกล่าวจะเริ่มเปิดตัวในเดือนพฤษภาคมปีหน้า จะมีห้องพัก 14 ห้องและมีวิลล่า 40 หลัง อีกทั้งกำลังสำรวจทำเลที่เมืองโคชินในรัฐเกรละทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย
เครือโรงแรมเก่าแก่ของไทยอย่างดุสิตก็ไม่ตกขบวนรถไฟ เห็นโอกาสทองในอุตสาหกรรม hospitality ของอินเดียเช่นกัน ใช้ยุทธศาสตร์นำเอกลักษณ์เฉพาะของการบริการในแบบฉบับไทย รวมทั้งสถาปัตยกรรมไทยโมเดิร์นและอินเดียประยุกษ์ ดีไซน์โดยบริษัท Bunnag Architect ของไทย มาสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าชาวอินเดียและนานาชาติ เน้นการสร้างบรรยากาศรื่นรมย์และสงบนิ่ง เปรียบเสมือนโอเอซิสท่ามกลางความวุ่นวาย ให้แขกได้พักผ่อน ซาร์จแบตเตอร์รี่ให้เต็มที่ก่อนต้องกลับเข้าสู่ชีวิตประจำวัน
โรงแรม (Dusit Devarana New Delhi) เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัท Dusit International และบริษัท Bird Group ของอินเดีย ซึ่งมีธุรกิจที่เน้นการบริการด้านการท่องเที่ยวและการบิน จึงไม่น่าแปลกใจว่า พร็อพเพอร์ตี้แรกของดุสิตในอินเดียตั้งอยู่ใกล้สนามบินทั้งในและระหว่างประเทศของกรุงนิวเดลี โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 10 นาที ก็จะถึงโรงแรม ผู้สร้างหวังว่าจะสามารถเปิดประตูต้อนรับลูกค้าได้ในเดือนกันยายนปีนี้ และอีกไม่นาน เครือดุสิตเล็งที่จะขยายกิจการไปเมืองชัยปุระและเมืองฤาษีเกษด้วย
เห็นได้ว่า นักธุรกิจไทยได้เข้ามาทำกิจการทั้งในแบบเป็นเจ้าของเองร้อยเปอร์เซ็นต์และการมีหุ้นส่วนในพื้นที่ ในทั้งสองกรณี การลงทุนในระดับนี้จะต้องพึ่งพาคนท้องถิ่นที่ไว้ใจได้ โดยเฉพาะบริษัทอินเดียที่มีชื่อเสียงนั้น ต่างมีเครือข่ายรู้จักกับผู้มีอำนาจตัดสินใจในภาครัฐ ซึ่งสำคัญยิ่งสำหรับการฝ่าฟันเทปสีแดงอันโด่งดังของราชการอินเดียไปได้
โดยที่กฎระเบียบอินเดียปัจจุบันยังเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนสร้างโรงแรม บริษัทที่ปรึกษา HVS India และ WTTC ได้แนะนำมาตรการที่จะช่วยปลดล็อกและสนับสนุนธุรกิจในสาขาดังกล่าว อาทิ การยกระดับให้ธุรกิจ hospitality มีสิทธิเทียบเท่ากับโครงการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ การจัดตั้งหน่วยราชการหน่วยเดียวที่มีอำนาจเคลียร์การขอใบอนุญาตทั้งหมดในการสร้างโรงแรม การปรับระบบภาษีบริการให้เป็นเอกภาพมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนกฎวีซ่าท่องเที่ยวอันเข้มงวด ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้า-ออกอินเดียได้โดยไม่ต้องทิ้งช่วงถึง 60 วัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวมิใช่กระทรวงการท่องเที่ยวอินเดีย แต่เป็นกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลัง ซึ่งมิได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องดังกล่าวมากนัก ความเปลี่ยนแปลงน่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก และธุรกิจ hospitality ก็คงต้องเผชิญกับอุปสรรคที่กล่าวถึงต่อไป
ความพยายามและความอดทนของเอกชนไทยที่กล้าเข้าตลาดอินเดียนั้น เป็นที่น่าชื่นชมและน่านับถือจริงๆ