ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 33)
เมื่อเอกชนไทยต่อสายตรงกับภาครัฐอินเดีย
โดย คณิน บุญญะโสภัต
นักธุรกิจต่างชาติยังคงพูดถึงความท้าทายในการทำธุรกิจในอินเดียที่มีมากมาย อุปสรรคในการทำการลงทุนและค้าขายที่มีมากมายนี้ ฝ่ายอินเดียโดยเฉพาะภาครัฐและหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ
ในการสัมมนาภาครัฐอินเดียพบภาคเอกชนไทย ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี จัดให้เอกชนไทยพบปะกับภาครัฐอินเดียที่รับผิดชอบเรื่องการลงทุน เมื่อเร็วๆ นี้ที่กรุงนิวเดลี สองฝ่ายทั้งไทยและอินเดียได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างเต็มที่
ภาครัฐอินเดียนำโดยอธิบดีกรมนโยบายและส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPP) ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายและวางโครงการส่งเสริมการลงทุนในอินเดีย และกรรมการผู้จัดการของ Invest India รัฐวิสาหกิจที่เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลอินเดียกับสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย ที่มีหน้าที่ช่วยเหลือให้ข้อมูลนักลงทุนต่างชาติที่สนใจอินเดียโดยเฉพาะ
ในการพบปะครั้งนี้ ภาครัฐอินเดียได้ใช้โอกาสนำเสนอต่อภาคเอกชนไทยเรื่องโครงการต่างๆ ที่ต้องการการลงทุนจากต่างชาติมาช่วยขับเคลื่อน ทั้งโครงการอภิมหาโปรเจ็คที่อินเดียประกาศว่าใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Delhi-Mumbai Industrial Corridor (DMIC) และโครงการเสริมศักยภาพการผลิตของอินเดียภายใต้นโยบาย National Investment and Manufacturing Zone Policy (NIMZ)
แม้ข้อมูลเหล่านี้ ภาครัฐอินเดียจะได้แจ้งประกาศผ่านสื่อต่างๆ และรายงานความคืบหน้าเป็นระยะผ่านเว็บไซต์ www.dipp.nic.in แล้ว แต่การที่ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในโครงการเหล่านี้ ได้มาตอกย้ำด้วยตัวเอง ก็ย่อมมีน้ำหนักมากกว่าอ่านในเว็บ
สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม แม้โครงการขนาดยักษ์มูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐอย่าง DMIC จะมีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยเฉพาะในสาขาพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ คมนาคม และสาธารณูปโภคต่างๆ โดยมีญี่ปุ่นเป็นจ่าฝูง เอกชนไทยยังคงมีโอกาสในโครงการอื่นๆ ตามเส้นทางยุทธศาสตร์ดังกล่าวอีก เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม และบ้านจัดสรร
ที่อาจจะเป็นโอกาสได้อีกอย่างก็คือ การให้บริการแก่ภาคธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใน DMIC เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้คุณภาพการผลิตและบริการของไทย กำไรจะได้ไม่หนีไปไหน ยังไงก็เข้ากระเป๋าคนไทย
ส่วน NIMZ ที่เป็นนโยบายมุ่งเสริมศักยภาพการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมอินเดียนั้น ภาครัฐอินเดียก็ได้เชิญเอกชนไทยให้เข้าร่วมลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีอำนาจปกครองพิเศษ เพื่อให้สิทธิพิเศษทางกฎหมายแก่นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะ
นอกจากโครงการเหล่านี้แล้ว ภาครัฐอินเดียก็ได้ถือโอกาสเชิญชวนให้เอกชนไทยใช้บริการการอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาความยุ่งยากในการลงทุน โดยเร็วๆ นี้ เริ่มต้นที่แรกที่รัฐอานธรประเทศ DIPP จะมีโครงการทำ e-Biz เพื่อให้ขอใบอนุญาตล้านแปดชนิดและจ่ายเงินให้ทางการอินเดียได้ภายใต้ช่องทางเดียว
ส่วน Invest India ยังได้เชิญชวนให้ใช้บริการถาม-ตอบ ที่เขาเปิดให้บริการบนเว็บไซต์ www.investindia.gov.in มาพักใหญ่แล้ว แต่ปัจจุบันคำถามที่ส่งเข้าไปมีเพียง 4-5 คำถามต่อวันเท่านั้น เอกชนและผู้สนใจทำธุรกิจในอินเดียควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ เพราะ Invest India ทำงานแบบภาคเอกชน ที่ตั้งสำนักงานอยู่ในอาคารสมาพันธ์สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย
จริงอยู่ว่าระบบราชการอินเดียมีความยิ่งใหญ่และซับซ้อน เนื่องจากสภาพประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มีขนาดใหญ่ และต้องดูแลการพัฒนาทุกด้านอย่างทั่วถึง ในบางครั้งจึงไม่สามารถตอบสนองจังหวะการเติบโตและความต้องการทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วได้ แต่ก้าวเล็กๆ ของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจในการลดภาระและอุปสรรคการดำเนินธุรกิจในอินเดียนี้ ถือว่าน่าชื่นชมและให้ประโยชน์
ในแง่ประโยชน์ของเอกชนไทย แน่นอนคือการได้ต่อสายตรงกับภาครัฐอินเดียที่รับผิดชอบเรื่องนโยบายสำคัญ คำถามของเอกชนที่เกี่ยวกับภาษีการนำเข้าวัตถุดิบ การขอใบอนุญาตต่างๆ การถือครองที่ดิน และการลงทุนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในอินเดีย ก็ได้คำตอบจากฝ่ายอินเดียให้หายข้องใจระดับหนึ่ง
ในการพบกับนายกรัฐมนตรีที่กรุงนิวเดลีเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เอกชนไทยได้เสนอว่า เอกชนไทย ควรรวมกลุ่มกันเพิ่มอำนาจต่อรองแล้วให้สถานทูตไทยเป็นตัวแทนขออินเดียอำนวยความสะดวกในการหาที่ดินตั้งโรงงาน จะได้มีโรงงานตั้งในเขตเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ ภาครัฐอินเดียก็ยินดี แต่ขอทราบว่า เอกชนไทยต้องการที่ดินกี่เอเคอร์ ตั้งอยู่ที่รัฐใด และจะผลิตอะไร แบบนี้ เอกชนไทยก็ต้องช่วยตอบด้วยเช่นกัน
นอกจากภาครัฐอินเดียจะตระหนักถึงการเอาจริงของเอกชนไทยที่ลงทุนในอินเดียอย่างหลายหลากแล้ว เอกชนไทยที่มาร่วมยังมีโอกาสได้พบกัน ทั้งบริษัทใหญ่ๆ ที่ลงทุนในอินเดียไว้สูง ทั้งอิตาเลี่ยนไทย ซีพี การบินไทย ธนาคารกรุงไทย บ้านพฤกษา เอสซีจีเทรดดิ้ง ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ และนักธุรกิจไทยเชื้อสายอินเดียและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กหลายๆ ราย
การสัมมนาครั้งนี้ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นแก่เอกชนไทยว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยวในสังเวียนเวทีเศรษฐกิจอินเดีย และภาครัฐอินเดียให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบเพื่อเอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติ ที่จะช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจของอินเดียให้ดีขึ้น และได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
ความคืบหน้าในการติดตามแก้ไขปัญหาต่างๆ ของเอกชนไทยตั้งแต่ที่นายกรัฐมนตรีพบเอกชนไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สามารถหาอ่านได้จาก thaiindia.net อีกช่องทางหนึ่ง
ตีพิมพ์ในหน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,737 วันที่ 6-9 พ.ค. 2555