ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 34)
ชาวปาร์ซี: ชนกลุ่มน้อยที่ช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองมุมไบ
โดย วัฒนชัย นิรันดร
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
อินเดียมีมหาเศรษฐีติดอันดับโลกตามที่จัดอันดับโดยนิตยสาร Forbes จำนวน 55 คน นับเป็นประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ของโลก ซึ่งยังไม่นับเจ้าของกิจการใหญ่ๆ ที่ไม่ติดอันดับอีกมากมาย หลายคนสืบเชื้อสายมาจากชาวปาร์ซี ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีบทบาททางเศรษฐกิจในอินเดีย และตั้งรกรากอยู่ที่เมืองมุมไบ
ราว 600 ปีที่ผ่านมา ชาวเปอร์เซียในอิหร่านกลุ่มแรกอพยพหนีการรุกรานจากชาวอาหรับที่เริ่มแผ่ขยายอำนาจ มายังดินแดนของอาณาจักรฮินดูที่ปัจจุบันคือรัฐคุชราต (Gujarat) ในอินเดีย ในช่วงเวลานั้น หากชาวเปอร์เซียในอิหร่านที่นับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์ (บ้างก็เรียกว่าลัทธิบูชาไฟ) ไม่ยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามก็จะถูกบังคับให้จ่ายภาษีในอัตราสูง กลุ่มที่ไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวก็จำเป็นต้องอพยพออกมาจากอิหร่าน ส่วนในดินแดนใหม่ ผู้ปกครองในคุชราตก็อนุญาตให้ผู้อพยพเหล่านี้อาศัยอยู่ได้โดยมีเงื่อนไขว่า พวกเขาต้องวางอาวุธ และปรับใช้ภาษารวมทั้งยอมรับวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งผู้อพยพชาวเปอร์เซียเหล่านี้ยอมรับและเริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ที่คุชราตนั่นเอง
ส่วนคำว่าปาร์ซี (Parsi /Parsee) ก็เพี้ยนมาจากการที่คนอินเดียเรียกผู้อพยพเหล่านี้ที่เป็นชาวเปอร์เซีย (Persia) นั่นเอง
ชาวปาร์ซีเป็นผู้มีทักษะในการประกอบอาชีพและค้าขายที่ดี ความรุ่งเรืองของชาวปาร์ซีเริ่มต้นในศตวรรษที่ 17 เมื่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษทำสนธิสัญญากับกษัตริย์แห่งอาณาจักรมุกัล (Mughal) ที่ครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ในแหลมเดคข่านในเวลานั้น โดยอนุญาตให้ชาวอังกฤษสามารถตั้งถิ่นฐาน และสร้างโรงงาน รวมทั้งทำการเกษตรได้ในเมืองสุราต (Surat) ในเขตของแคว้นคุชราต ต่อมาชาวอังกฤษได้นำชาวปาร์ซีเข้ามาทำงานในโรงงานและฟาร์มของตน อีกทั้งยังตั้งโรงเรียนในชุมชนและอนุญาตให้ลูกหลานของชาวปาร์ซีได้เข้าศึกษาด้วย นับเป็นการวางรากฐานการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติแบบตะวันตกให้แก่ชาวปาร์ซี
ต่อมาในปี 1668 บริษัทอีสต์อินเดียได้เช่าหมู่เกาะจำนวน 7 เกาะในเขตบอมเบย์ซึ่งเวลานั้นเป็นเกาะที่มีครอบครัวชาวประมงอาศัยอยู่อย่างเบาบางเพื่อสร้างท่าเรือและวางรากฐานแห่งใหม่ของบริษัท ชุมชนชาวอังกฤษและชาวปาร์ซีจึงได้ย้ายฐานจากเมืองสุราตมายังเมืองบอมเบย์ (หรือปัจจุบันคือเมืองมุมไบ) ในแคว้นมหาราษฏระ และไม่นาน ด้วยความไว้วางใจจากอังกฤษ ชาวปาร์ซีก็เป็นผู้ทำหน้าที่ทุกอย่างที่ทำให้เมืองบอมเบย์เจริญขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทั้งเป็นผู้สร้างระบบสาธารณูปโภค ถมทะเลเพื่อสร้างถนน รวมทั้งตั้งบริษัทเพื่อติดต่อค้าขาย โดยทั้งหมดนี้ได้รับเอาเทคโนโลยีและความรู้มาจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษนั่นเอง ความสามารถของชาวปาร์ซีจึงมีทั้งที่เกิดจากทักษะของตนเองและการอบรมและเรียนรู้จากชาวอังกฤษ
ปัจจุบันมีชาวปาร์ซีทั่วโลกประมาณ 100,000 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ในอินเดีย และแม้ว่าจำนวนชาวปาร์ซีในอินเดียจะลดลงจาก 71,630 คนในปี 1981 จนเหลือ 69,601 ในปี 2001 และคาดว่าในปัจจุบันอาจเหลือเพียง 60,000 คนหรือน้อยกว่านั้น แต่ชาวปาร์ซีก็ยังมีสถานะทางสังคมสูงและเป็นเจ้าของธุรกิจที่สำคัญ อาทิ กลุ่มบริษัท Tata / กลุ่มบริษัท Wadia (Bombay Dyeing) ผู้ผลิตสิ่งทออันดับต้นๆ ในอินเดีย / หรือบริษัท Godrej ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เครื่องมือทางวิศวกรรม และเฟอร์นิเจอร์ (บริษัทในเครือ 6 บริษัทมูลค่ารวมกันกว่า 3.3 พันล้านดอลล่าร์) ซึ่งธุรกิจของทั้งสามกลุ่มบริษัทเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ทั้งสิ้น แต่ยังสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนมายาวนานกว่า 100 ปี
นอกจากความรู้และความสามารถในการทำธุรกิจแล้ว การตระหนักว่าตนเป็นชนกลุ่มน้อยและตอบแทนผลกำไรกลับคืนสู่สังคมเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวปาร์ซีดำรงสถานะของตนเอาไว้ได้โดยไม่ถูกต่อต้านจากชนส่วนใหญ่คือชาวฮินดู
สถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษเคยกล่าวถึงชาวปาร์ซีว่า เล็กๆ แต่ประสบความสำเร็จ (small but successful) และ มหาตมะ คานธี ก็กล่าวเอาไว้ว่า “ผมภูมิใจที่ประเทศอินเดียของผมมีผลผลิตที่ยอดเยี่ยมจากชาวปาร์ซี แม้ว่าพวกเขาจะมีจำนวนน้อยแต่การมีใจรักและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นสิ่งที่ไม่น้อยเหมือนจำนวนของพวกเขาเลย”
หากกล่าวว่าชาวปาร์ซีเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาลงหลักปักฐานการลงทุนในอินเดียเป็นกลุ่มแรกก็คงจะไม่ผิดนัก ความสำเร็จและแง่คิดในการทำธุรกิจของของชาวต่างชาติในอินเดียกลุ่มนี้ รวมทั้ง บทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นที่พวกเขาตั้งรกรากอยู่ จึงน่าศึกษาและเรียนรู้ เพราะกลุ่มธุรกิจในอินเดียมีความผูกพันเหนียวแน่น ทั้งในแบบเครือญาติและชนกลุ่มที่มาจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมแห่งเดียวกัน
---------------------------------
ตีพิมพ์ในหน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,741 วันที่ 20-23 พ.ค. 55