ผ้าส่าหรี ณ เมืองสุราต
คุณกนกภรณ์ คุณวัฒน์ กงสุลสาวประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ และผู้รักการสวมใส่ส่าหรีเป็นชีวิตจิตใจ จะถ่ายทอดเรื่องราวจากการติดตามทูตไทยไปแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในรัฐคุชราต ที่ศูนย์กลางการผลิตส่าหรีของอินเดียคือเมืองสุราต ให้ผู้อ่าน thaiindia.net ได้อ่านและทราบเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมส่าหรีของอินเดียครับ
ผ้าส่าหรี ณ เมืองสุราต
เร่เข้ามา เร่เข้ามา ส่าหรีสวย ๆ ราคากันเองจ้า (โปรดจินตนาการคนขายพูดเป็นภาษา Gujarati ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของคนรัฐนี้นะคะ) น่าจะเป็นประโยคที่ได้ยินอยู่เนืองๆ เมื่อเดินในย่านการค้าของเมืองสุราต ได้ยินชื่อเสียงของเมืองนี้มาจากเพื่อนๆ พี่ๆ มานานว่ามีส่าหรีเยอะมากและถูกมากเมื่อเทียบกับที่เมืองมุมไบ น่าเสียดายที่มีโอกาสได้มาทั้งที แต่บังเอิญเป็นวันอาทิตย์ ร้านขายส่าหรีก็เลยปิดเป็นส่วนมาก แต่ก็ยังมีโอกาสได้ไป “สอย” ส่าหรีมา 2 ชุดพอเป็นพิธีตามประสานักช็อปและ sari lover
แต่กว่าจะได้ใส่ชุดส่าหรีนี่สิไม่ใช่ง่ายๆ นะคะ ไม่ใช่ว่าจะเดินเข้าร้านเห็นผ้าสวยแล้วเอามาพันๆ ตัวแล้วก็เป็นส่าหรีแล้ว ไม่ใช่ค่ะ ไม่ใช่เลย ส่าหรีที่เราเห็นสาวอินเดียนิยมใส่กันในชีวิตประจำวันประกอบด้วย 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกที่เป็นผ้ายาวๆ ที่เราเห็นเอามาพันอย่างสวยงามซึ่งยาว 7 เมตร และส่วนที่เป็นเสื้อเอวลอยสีเข้ากันกับผ้าที่ใช้พัน มีแขนบ้าง แขนกุดบ้าง และจะเป็นสีพื้น ๆ เรียบ ๆ หรือจะมีลายปักสวยงามก็ตามแต่ที่จะชอบเลยค่ะ ซึ่งเจ้าเสื้อนี่จะต้องจ้างช่างตัดนะคะ ทั้งนี้ ผ้าส่าหรีที่มีขายตามท้องตลาดมักจะมีส่วนที่จะใช้ตัดเสื้อเอวลอยนี่อยู่แล้ว เพื่อที่จะได้เข้ากันอย่าง perfect เก๋ไก๋เป็นที่สุด แล้วยังมี petticoat สีเข้ากันกับชุดส่าหรีที่จะต้องซื้อต่างหากเพื่อใส่ไว้ก่อนที่จะเริ่มพันผ้าส่าหรีและใช้เหน็บผ้าส่าหรีไว้กับ petticoat ค่ะ (มันจะได้ไม่หลุด บางคนก็ใช้เข็มกลัดติดอีกหลายที่เพื่อความมั่นใจ)
“ส่าหรี” เป็นคำกลางที่ใช้เรียกรวมชุดแต่งกายประจำชาติของสาวอินเดีย ซึ่งนอกจากจะมีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นแล้ว ยังมีส่าหรีเฉพาะสำหรับการใส่ไปทำงาน ใส่ไปออกงานกลางคืน ชุดส่าหรีแต่งงาน แล้วยังมีวิธีการห่ม/พันผ้าส่าหรีที่แตกต่างกันของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย จะว่าไปแล้วความหลากหลายก็พอๆ กันกับชุดไทยนะคะ แตกต่างกันตรงที่ผู้หญิงอินเดียส่วนมากยังนิยมใส่ส่าหรีเป็นประจำทุกวัน แม้กระทั่งใส่อยู่บ้านเฉยๆ หรือจะนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์
ตลาดผ้าส่าหรีจึงเป็นตลาดมโหฬารที่ใครๆ ก็อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการทำธุรกิจ (ประชากรสตรีอินเดีย ณ ปี 2555 ประมาณ 591.4 ล้านคน) แต่ดูๆ แล้วไม่น่าจะง่ายใช่มั๊ยคะ เพราะว่าอินเดียเค้าก็ใช้หลัก “แขกทำ แขกใช้ แขกเจริญ” ค่ะ ทำเองเกือบหมดครบวงจรจริงๆ
เมื่อมาที่เมืองสุราต ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตส่าหรี จึงได้เห็นเบื้องหลังของการผลิตผ้าสวย ๆ เหล่านี้สักที เจ้าของโรงงานพาชมโรงงานซึ่งมีพนักงานประมาณ 200 คน เริ่มตั้งแต่การออกแบบลายผ้าส่าหรี และมีพนักงานประจำเครื่องจักรต่างๆ ที่น่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นเครื่องที่เรียกว่า Shiffli Embroidery Machines เนื่องจากเจ้าเครื่องนี้สามารถปักลายผ้าส่าหรีได้ 21 เมตรพร้อมๆ กัน ซึ่งหมายความว่าสามารถผลิตผ้าส่าหรีได้ 3 ชุดในครั้งเดียว (ส่าหรีหนึ่งชุดจะใช้ผ้าในส่วนที่เป็นผ้าพันๆ ราว 7 เมตร) และเป็นเครื่องที่นำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนผ้าที่ใช้ทำส่าหรีราคาย่อมเยาและเป็นที่นิยมของสาวๆ อินเดียแถบนี้ จะเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ซึ่งนำเข้าจากจีนค่ะ นอกจากเครื่อง Shiffli จากสวิตเซอร์แลนด์และผ้าโพลีเอสเตอร์จากจีนแล้ว ทุกอย่างเป็นของอินเดียและโรงงานเป็นผู้ผลิตเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้ายหรือเลื่อมที่ใช้ปักผ้า ย้อมก็ย้อมเอง แถมยังขายให้เฉพาะตัวแทนจำหน่ายชาวอินเดีย ผู้ส่งออกก็ยังเป็นคนอินเดียอีกต่างหาก เรียกว่าเงินไม่มีกระเด็นไปให้คนอื่นกันเลย
จากคำบอกเล่าของเจ้าของโรงงาน รัฐอุตตรประเทศและรัฐพิหารเป็นผู้ผลิตส่าหรีจำนวนมากที่สุดในอินเดีย ถ้าอยากได้ส่าหรีทำจากผ้าไหมต้องไปที่เมืองบังคาลอร์ รัฐกรณาฏกะและเมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู ถ้าส่าหรีทำจากผ้าฝ้ายต้องไปที่เมืองอัมเมดาบาด รัฐคุชราต ส่วนส่าหรีที่เมืองสุราต จะเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์เป็นส่วนใหญ่ค่ะ
ถึงแม้ว่าในภาพรวมนักธุรกิจไทยอาจจะมีโอกาสเจาะตลาดนี้ได้ยากอยู่เหมือนกัน แต่ก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้างในตลาดส่าหรีแบบ luxury นะคะ ผู้ออกแบบส่าหรีมักหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพเยี่ยม ลายสวยงามหรือแปลกตาจากลายดั้งเดิมของอินเดียเพื่อนำไปประดิษฐ์เป็นส่าหรีที่มีราคาแพงได้ค่ะ ผ้าไหมไทยและผ้าไทยก็ยังจะพอมีโอกาสอยู่บ้าง เพียงแต่จะต้องเข้าถึงผู้ออกแบบเหล่านี้เท่านั้นเอง และท้ายที่สุด แม้ว่าจีนจะขายผ้าโพลีเอสเตอร์ให้กับอินเดียเพื่อทำส่าหรีได้ แต่เจ้าของโรงงานก็แอบกระซิบนะคะว่าไทยยังคงเป็นผู้นำในวงการผ้าในเรื่องของแบบและลวดลายค่ะ เค้าใช้คำว่าเป็น “Trend setter” เลยทีเดียวค่ะ
กนกภรณ์ คุณวัฒน์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
30 พ.ค. 55