ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 35)
รัฐทมิฬนาฑู : ฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย
โดย ธัชไท ถมังรักษ์สัตว์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
อินเดียเป็นตลาดรถยนต์ที่เติบโตมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และในแง่ของประเทศที่เป็นฐานอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก อินเดียอยู่ในลำดับที่ 6 ตามหลังจีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น และบราซิล
แต่ในปี 2011 ที่ผ่านมา อินเดียแซงหน้าจีนในเรื่องการผลิตรถยนต์บรรทุก และรถยนต์โดยสารไปแล้ว
นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2015 อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ของอินเดียจะขยับขึ้นไปเป็นอันดับสามของโลก เป็นรองก็แต่เพียงจีนและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
ปัจจัยที่ช่วยเร่งอันดับของอินเดียให้ทะยานสูงขึ้นนี้อยู่ที่รัฐทมิฬนาฑู ดีทรอยต์ของอินเดียนี่เอง
รัฐทมิฬนาฑูซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1840 ในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญของอินเดีย
ปัจจุบัน รัฐทมิฬนาฑู เติบโตเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีค่ายรถยนต์ชั้นนำจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนแล้วมากมาย เช่น ฟอร์ด ฮุนได เรย์โนลด์ นิสสัน และมิตซูบิชิ
เมืองหลวงของรัฐทมิฬนาฑูคือเมืองเจนไน ติด 1 ใน 10 ของฐานการผลิตยานยนต์ของโลกไปแล้ว สามารถผลิตรถยนต์ได้ปีละ 1.3 ล้านคัน และผลิตรถบรรทุก และรถโดยสารได้อีก 360,000 คัน ที่สำคัญ กว่า 35 เปอร์เซ็นต์ของยอดการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อยู่ในรัฐทมิฬนาฑู ถือว่าใหญ่ที่สุดในอินเดีย
นางสาวจายาละลิตา มุขมนตรีรัฐทมิฬนาฑู มีนโยบายชัดเจนที่สนับสนุนบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในรัฐของตน โดยเธอกล่าวในวิสัยทัศน์ของรัฐทมิฬนาฑู 2023 ว่า ภายใต้การบริหารของพรรค AIADMK ที่เธอเป็นประธาน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จะเป็น อุตสาหกรรมการผลิตหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้เป้าหมายปี 2023 ของรัฐสำเร็จ
เป้าหมายดังกล่าวมุ่งทำให้ปี 2023 เป็นปีที่รัฐทมิฬนาฑูมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงให้ได้ 11 เปอร์เซ็นต์ต่อไป หรือมากกว่า ตามรอยเท้าของมาเลเซีย และจีน ที่เคยมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ 7-10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นเวลาติดต่อกัน 20 ปี ตั้งแต่ปี 1980
นอกจากนี้ มุขมนตรีหญิงเหล็กยังให้คำมั่นว่า รัฐทมิฬนาฑูจะเป็นรัฐที่มั่งคั่งมากที่สุดในอินเดีย และเป็นอันดับหนึ่งในทุกด้านของการพัฒนา
อย่างน้อย ในปี 2012 นี้ อุตสาหกรรมการผลิตของรัฐอย่างเดียว ก็น่าจะเติบโตได้ถึง 14 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตและชิ้นส่วนยานยนต์ที่ชัดเจน แถมยังเพิ่มการขยายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อวกาศ และพลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย
ต้นไม้จะเติบโตได้ดีฉันใด ดินก็ต้องดีเป็นรากฐานที่แข็งแรงฉันนั้น สิ่งที่ท้าทายนโยบายนี้ ก็คงจะมีแต่การวางระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม
ซึ่งก็ไม่ได้เป็นที่นิ่งนอนใจ ภายใต้นโยบายเดียวกัน ก็มีแผนจะสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ทันสมัย มีแผนการสร้างถนน 2,000 กม. เป็นทางด่วน 6-8 ช่องจราจร และทางหลวง 4 ช่องจราจร ระยะทางถึง 5,000 กม. และมีแผนเพิ่มพลังงานไฟฟ้าในปีนี้อีก 2,000 เมกกะวัตต์ และเพิ่มอีก 10 เท่า ในอีก 10 ปี
นอกจากปัจจัยภาครัฐบาลท้องถิ่นที่มีนโยบายชัดเจนและสนับสนุนอุตสาหกรรมเต็มที่แล้ว รัฐทมิฬนาฑูเอง ยังมีเรื่องแรงงานที่มีฝีมือ จำนวนวิศวกรที่เพียงพอรองรับอุตสาหกรรม จุดแข็งด้านโลจิสติกส์ที่มีท่าเรือที่ทันสมัย และบรรยากาศด้านการลงทุนที่เอื้ออำนวย ทั้งสภาพอากาศ และอัธยาศัยของคนท้องถิ่น
สิ่งเหล่านี้จึงช่วยผลักดันให้ทมิฬนาฑูก้าวสูงการเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียและของโลกได้
แม้จะมีปัญหาต่างๆ ที่เป็นที่คุ้นเคยของผู้อยู่ในแวดวงการลงทุนอินเดีย เช่น ความยุ่งยากซับซ้อนของระบบราชการ ระบบภาษี ระบบศุลกากร ระบบการตรวจลงตรา และระบบสวัสดิการแรงงาน ข้อได้เปรียบสำคัญที่บดบังปัญหาเหล่านั้นคือ economy of scale ที่มีสถานศึกษาที่สร้างวิศวกรและแพทย์ที่มีคุณภาพ ผลิตบุคลากรเพื่อช่วยผลัดดันการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งชนชั้นกลางที่ขยายตัวและมีพฤติกรรมบริโภคนิยมมากขึ้น แถมภาษาอังกฤษก็ไม่เป็นอุปสรรค
ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะในสาขาการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่เป็นที่ไว้วางใจจากบริษัทใหญ่ๆ ของโลก อาจมองเห็นโอกาสในดีทรอยต์อินเดีย ทั้งที่เป็นโอกาสจากรัฐบาลของรัฐ และโอกาสจากปัจจัยต่างๆ ในท้องที่ตามที่กล่าวมา
ที่สำคัญ อาจลองคิดเก็บเกี่ยวความสามารถของนักเรียนไทยที่เรียนในภาคใต้ของอินเดีย ที่มีจำนวนมากถึง 1,000 คน เรื่องนี้ ปรึกษากับสถานกงสุลใหญ่ของไทย ที่ปักหลักอยู่ในเจนไนได้เสมอ
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 10 ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,743 วันที่ 27-30 พ.ค. 2555)