ฐานเศรษฐกิจ คอลัมน์มองอินเดียใหม่ : รัฐคุชราต (Gujarat) มาแรงแซงทุกรัฐในอินเดีย
ชื่อรัฐคุชราตอาจจะไม่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคนไทยเท่าใดนัก แต่รัฐนี้เป็นรัฐที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจของอินเดียมานานแล้ว เนื่องจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแหล่งแรกๆของอินเดีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ จนได้รับสมญานามว่าเป็น “แมนเชสเตอร์แห่งตะวันออก”
รัฐคุชราตเป็นรัฐที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของอินเดีย ด้วยจำนวนประชากรกว่า 60 ล้านคน บนพื้นที่ 196,030 ตารางกิโลเมตรพร้อมด้วยชายฝั่งทะเลยาวถึง 1,600 กิโลเมตร ทิศเหนือจรดรัฐราชาสถาน ทิศใต้จรดรัฐมหาราษฏระ ทิศตะวันออกจรดรัฐมัธยประเทศ และทิศตะวันตกจรดทะเลอาระเบียนกับบางส่วนของประเทศปากีสถาน เมืองหลวงชื่อคานธีนาการ์ (Gandhinagar) ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีซอฟแวร์และศูนย์กลางทางการเงินของรัฐด้วย แต่เมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐคุชราตและเป็นที่รู้จักกว้างขวาง คือ เมืองอาห์เมดาบาด (Ahmedabad) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตยาที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย 2 บริษัท คือ บริษัท Zydus Cadila และบริษัท Torrent Pharmaceuticals นอกจากนั้น ยังเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ (Business School) ที่ดีที่สุดของอินเดียอีกด้วย คือ Indian Institute of Management Ahmedabad (IIMA) และเมืองที่สำคัญอีกเมืองหนี่งของรัฐนี้ก็คือ เมืองสุรัต (Surat) ซึ่งเป็นศูนย์กลางเจียระไนเพชรที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของอินเดียและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยเฉพาะผ้าส่าหรีของอินเดีย
ปัจจุบันรัฐคุชราตได้ทวีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากเป็นเมืองศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมของอินเดียหลายสาขาทำให้มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของรัฐที่พัฒนาแล้วของอินเดียรัฐอื่นๆและที่สำคัญเป็นรัฐที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนมากที่สุด ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมหอการค้าและอุสาหกรรมแห่งอินเดีย หรือ Assocham ระบุว่า ณ สิ้นปี 2554 มีการลงทุนเฉพาะใน 5 รัฐ (จาก 20 รัฐสำคัญ) ของอินเดีย คือ คุชราต มหาราษฏระ อานธรประเทศ โอริสสา และกรณาฏกะ (ตามลำดับ) รวมกันเป็นมูลค่า 120.34 ล้านล้านรูปี (ประมาณ 78.22 ล้านล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 53.56 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด โดยรัฐคุชราตสามารถดึงดูดเงินลงทุนได้มากที่สุดเป็นมูลค่า 16.28 ล้านล้านรูปี (ประมาณ 10.58 ล้านล้านบาท)
นอกจากนี้ รัฐคุชราตยังถือเป็น Petro Capital ของอินเดีย โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตปิโตรเคมีร้อยละ 30 และอุตสาหกรรมเคมีและเวชภัณฑ์ร้อยละ 50 ของปริมาณการผลิตในประเทศอินเดีย และยังมีอุตสาหกรรมที่สำคัญอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่กำลังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วท้าทายรัฐคู่แข่งอย่างรัฐทมิฬนาดูอย่างไม่เกรงใจ โดยบริษัท General Motors ก็ได้ใช้รัฐคุชราตเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์อีกด้วย
ปัจจุบันรัฐคุชราตยังคงเป็นรัฐที่ต่างชาติหมายตาต้องการเข้าไปเป็นพันธมิตรทางธุรกิจการค้าและการลงทุนด้วยอย่างมาก โดยล่าสุดคณะผู้แทนการค้าการลงทุนจากรัฐวิคตอเรียของออสเตรเลียประกอบด้วยบริษัทเอกชนจำนวน 212 บริษัท นำโดยมุขมนตรีของรัฐ ได้เดินทางไปพบปะเจรจาธุรกิจกับภาครัฐและเอกชนของรัฐคุชราต โดยมุ่งเน้นในสาขาเภสัชภัณฑ์ การท่องเที่ยว การศึกษา และการแปรรูปอาหาร เป็นหลัก นอกจากนั้น บริษัท Nestle India ก็มีแผนที่จะขยายการลงทุนเข้าไปที่รัฐคุชราตอีก โดยจะลงทุนประมาณ 5,000 ล้านรูปี (ประมาณ 3,250 ล้านบาท) เพื่อสร้างโรงงานผลิตบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อแม็กกี้และขนมหวานภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ ภายในปีหน้า (2556)
ในส่วนของรัฐคุชราตเองก็ไม่เคยนิ่งนอนใจ แต่ได้มีการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนด้วยการจัดสรรเงินงบประมาณสำหรับปี 2555-2556 จำนวน 30,800 ล้านรูปี (ประมาณ 20,000 ล้านบาท) เพื่อก่อสร้างถนนไฮเวย์และพัฒนาถนนสายเดิมให้ดียิ่งขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของรัฐคุชราตต่อไปในอนาคต
ได้เห็นการเจริญเติบโตและการพัฒนาของรัฐคุชราต รวมทั้งได้เห็นนักลงทุนจากชาติต่าง ๆหลั่งไหลกันเข้าไปลงทุนในรัฐนี้แล้ว คิดว่านักธุรกิจของไทยก็ไม่ควรจะมองข้ามโอกาสดีๆอย่างนี้ไปเสีย รูปแบบการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่การส่งออก (Export) เท่านั้น เพราะด้วยสถานการณ์ในการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกได้ทำให้ยุทธภูมิการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนไปแล้ว บางสินค้ายังอาจจะสามารถใช้การส่งออกส่งสินค้าไปจำหน่ายในบางประเทศได้ แต่สำหรับบางประเทศ แม้สินค้าจะเป็นชนิดเดียวกันก็อาจจะไม่สามารถใช้การส่งออกได้ เพราะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตในประเทศนั้นได้ การเข้าไปลงทุนเพื่อผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศนั้นๆ จึงอาจจะเป็นทางออกที่จะช่วยให้สินค้าไทยสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศสำเร็จก็ได้...รัฐคุชราตจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักธุรกิจที่จะได้ Go Inter(nationalization) กันจริงจังเสียที... “ทีมประเทศไทย” ที่อินเดียรอพวกท่านอยู่ครับ
อดุลย์ โชตินิสากรณ์
ผู้อำนวยการอาวุโส
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 10 ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,735 วันที่ 29 เม.ย.-2 พ.ค. 2555