ฐานเศรษฐกิจ คอลัมน์มองอินเดียใหม่ : บุกชมโรงงานรถทาทา นาโน "จิ๋วแต่แจ๋ว" สยบแรงต้านด้วยการสร้างงานและซีเอสอาร์
หลายคนคงจะเคยได้ยินใครๆ พูดถึงรถยนต์ยี่ห้อทาทาความภูมิใจระดับประเทศของอินเดียกันมาบ้างแล้วนะคะ บริษัท ทาทามอร์เตอร์ส เป็นบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของอินเดีย มีพนักงานทั้งหมด 51,000 คน จาก 16 สัญชาติ มีโรงงาน 14 แห่งในทวีปเอเชีย แอฟริกาและยุโรป เป็นเจ้าของรถหรูสัญชาติอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น จากัวร์ แรนจ์โรเวอร์ แลนด์โรเวอร์ เวลาเห็นรถราคาพวกนี้ที่ราคาหลายล้านบาท ต้องทึ่งทุกครั้งค่ะ ว่าจริงๆ แล้วเป็นรถที่ผลิตโดยบริษัทของอินเดีย
แต่รถในเครือทาทาที่ดังที่สุด คงไม่ใช่จากัวร์ราคาสูง แต่เป็นรถอีกรุ่นที่อยู่ขั้วราคาฝั่งตรงข้าม เมื่อออกตัวมาใหม่ๆ มีชื่อเสียงโด่งดังก้องโลกว่าเป็นรถที่ถูกที่สุดในโลก นั่นก็คือ รถยี่ห้อทาทานาโน
ทาทานาโน เป็นผลจากวิสัยทัศน์ของนายราธาน ทาทา ประธานบริษัท ที่เป็นห่วงวิธีการขนส่งครัวเรือนของอินเดีย ที่มักชอบนั่งซ้อนมอร์เตอร์ไซค์กันทีเดียวหมดทั้ง พ่อ แม่ ลูกเล็กๆ อีก 2-3 คน มอเตอร์ไซค์คันหนึ่งบรรทุกได้เท่าไหร่ยิ่งมากยิ่งดี เขาเลยสั่งให้วิศวกรบริษัทผลิตรถใช้ในเมืองขนาดกระทัดรัด ขายให้ครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่างได้ รถ Tata Nano กินน้ำมันน้อยมาก 1 ลิตรวิ่งได้ถึง 25.2 กิโลเมตร ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่ามอร์เตอร์ไซค์เสียอีกด้วย ราคาก็ย่อมเยา
ปัจจุบัน รถนาโนแบบเต็มครบ option ราคารวมภาษีทุกอย่างแล้วก็ประมาณแค่ 141,100 บาท ผ่อนสบายๆ แถมประหยัดในยุคข้าวยากหมากแพง
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะจากสถานทูต ณ กรุงนิวเดลี สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ และสำนักงานพาณิชย์เมืองมุมไบ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถยนต์ทาทานาโน ในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งรัฐคุชราต ที่เมือง Sanand ชานเมืองอาห์เมดาบัด เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลคุชราตตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์อีกแห่งของอินเดีย
โรงงานทาทานาโนแห่งนี้ย้ายมาจากเมือง Singur ตั้งอยู่ในรัฐเบงกอลตะวันตก หลังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อเกิดม๊อบต่อต้าน กล่าวหาว่าบริษัทได้ที่ดินมาครอบครองอย่างมิชอบ พื้นที่กว้าง 4.03 ตารางกิโลเมตรดังกล่าว เป็นแผ่นดินอุดมสมบูรณ์ ชาวนาชาวไร่ กลุ่มนักวิชาการ เอ็นจีโอ และนักการเมืองฝ่ายค้านสมัยนั้น (ปัจจุบันพรรคนี้ได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลรัฐเบงกอลตะวันตก) ได้รวมตัวกันประท้วงขับไล่โรงงานรถยนต์ให้ออกไป อ้างว่าโรงงานสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรในท้องถิ่น แถมจะก่อให้เกิดมลภาวะในบริเวณนั้นด้วย
คุณราธาน ทาทา จึงตัดสินใจย้ายโรงงานนาโน ซึ่งขณะนั้นได้เริ่มผลิตรถออกมาบ้างแล้ว ไปที่ใหม่ และตำนานการย้ายโรงงานขนาดมหึมาข้ามชมพูทวีป แบบถอนรากถอนโคนแล้วไป ‘ปลูก’ ใหม่ก็เกิดขึ้น ย้ายทั้งหุ่นยนต์ เครื่องจักร อุปกรณ์ร้อยแปด พร้อมคานและเสา ในเวลาเพียง 14 เดือน สมควรเป็นสถิติในกินเนสต์บุ๊ค
ดูๆ แล้วเมือง Sanand ก็น่าจะมีศักยภาพเป็น hub รถยนต์ ได้สมหวัง เพราะมุขมนตรีของ
รัฐคุชราต นายนเรนทรา โมดี สนับสนุนเต็มที่ อีกทั้งยังไม่มีไม่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าและแรงงาน และที่สำคัญการจัดซื้อและครอบครองที่ดิน บริษัทฟอร์ดและเปอร์โย-ซิตรอง ก็จะมาเปิดโรงงานที่เมือง Sanand ตามกันติดๆ
จากการเยี่ยมชม โรงงานรถ Tata Nano ทำให้เห็นว่า โรงงานของเขามีมาตรฐานสากล สะอาดสะอ้าน ทุกอย่างจัดเป็นระบบระเบียบ พนักงานแต่งกายเรียบร้อย และปฏิบัติตามกฎเรื่องการป้องกันความปลอดภัยของโรงงาน ทุกคนดูมีความเป็นมืออาชีพ รับผิดชอบในหน้าที่ของตน พนักงานของโรงงานได้รับการอบรมให้ยกระดับความสามารถของตนตามหลัก Kaizen ของญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่น วิธีการที่ผู้บริหารจัดให้เราเยี่ยมชมโรงงาน คือ จัดให้เรานั่งรถนาโนเปิดประทุน โดยมีไกด์ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ขับรถและวิทยากรในเวลาเดียวกัน ขับพาเราดูขั้นตอนการประกอบรถนาโนตั้งแต่ต้นจนจบ
โชคดีนะคะที่พวกเราไม่ต้องเดินชมเพราะโรงงานใหญ่จริงๆ เพราะโรงงานตั้งอยู่บนพื้นที่กว้าง 1,100 เอเคอร์ (2,790 ไร่) โรงงาน Tata Nano ปัจจุบัน มีพนักงาน 4,200 คน สามารถผลิตรถ Tata Nano ได้วันละ 1,200 คัน (ปีละ 250,000 คัน)
อีกเรื่องที่คณะของเราได้พบเห็นคือบริษัทใหญ่ๆ ของอินเดียต่างให้ความใส่ใจในบทบาททางด้านสังคม (CSR) ของตนมากขึ้นซึ่งบริษัท Tata เองก็มีการให้ทุนการศึกษาแก่เด็กผู้ยากไร้ มีการบำบัดและแจกจ่ายน้ำที่สะอาดและปลอดภัยสำหรับการบริโภคและอุปโภคให้แก่บางหมู่บ้านที่อยู่ในบริเวณห่างไกล หรือแม้กระทั่งมีการนำไม้ที่ใช้ในการขนส่งอุปกรณ์ระหว่างการย้ายโรงงานจากเมือง Singur มาที่เมือง Sanand มาทำโต๊ะเรียนให้เด็กนักเรียนอีกด้วย และเท่าที่ผ่านมา ก็ยังไม่ปรากฏมลภาวะของโรงงานในสื่อของอินเดียแต่อย่างใด
คิดแล้ว ก็แอบเสียดายแทนชาวบ้านในรัฐเบงกอลตะวันตกที่เสียโอกาสทางเศรษฐกิจดีๆ อย่างทาทานาโนไป
กนกภรณ์ คุณวัฒน์
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 10 ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,747 วันที่ 10-13 มิ.ย. 55