ฐานเศรษฐกิจ คอลัมน์มองอินเดียใหม่ : เมืองสุราต (Surat) VS จังหวัดสุราษฎร์ธานี
พาดหัวไว้แบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะมีการต่อสู้แข่งขันระหว่างเมืองสุราตในรัฐคุชราตของอินเดียกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีของไทยแต่ประการใด แต่ดูจากชื่อแล้วจะเห็นว่าเมืองสุราตของอินเดียกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีของไทยมมีชื่อคล้ายคลึงกันมากจนแทบจะเรียกได้ว่ามีชื่อเดียวกันเลยทีเดียว แถมที่แปลกประหลาดกว่านั้นก็คือ ทั้งเมืองสุราตและจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีแม่น้ำชื่อ “ตาปี” ไหลผ่านเหมือนกันอีก อะไรจะบังเอิญได้ขนาดนั้น
เมืองสุราตในรัฐคุชราตเป็นเมืองแรกนอกรัฐมหาราษฎระ (ซึ่งมีมุมไบเป็นเมืองหลวง) ที่ผมเดินทางไปพบปะผู้นำเข้าและหอการค้าและอุตสาหกรรมตั้งแต่ช่วงเดือนแรกๆของการย้ายไปประจำการที่เมืองมุมไบ รัฐมหาราษฎระเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 เนื่องจาก ทราบมาว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก ประกอบกับหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งรัฐคุชราตใต้ (Southern Gujarat Chamber of Commerce and Industry) ได้ติดต่อเชื้อเชิญให้ผมเดินทางไปพบปะและเยี่ยมเยียนอยู่ตลอด หรือทุกครั้งที่คณะผู้บริหารหอการค้าฯ มีโอกาสเดินทางมาธุรกิจที่เมืองมุมไบก็จะหาเวลาแวะมาเยี่ยมเยียนสำนักงานฯ เราเสมอด้วยความกระตือรือล้น และในที่สุดผมก็ได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนเมืองสุราตตามคำเชิญของหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งรัฐคุชราตใต้เพื่อเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีชื่อว่า SPARKLE Expo ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 ธันวาคม 2554 แม้จะเป็นงานที่ยังไม่ใหญ่โตมโหฬารมาก แต่ก็ได้เห็นถึงความตั้งใจจริงของผู้จัดงานฯ ที่จะผลักดันให้งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก เพราะเมืองสุราตเป็นศูนย์กลางการเจียระไนและขัดเงาเพชรไม่ใช่เฉพาะของอินเดียแต่เป็นศูนย์กลางของโลก เนื่องจากเพชรทุก 10 เม็ดบนโลกนี้ จะเป็นเพชรที่ได้รับการเจียระไนและขัดเงาที่เมืองสุราตนี้ถึง 8 เม็ด
ผมได้นำภาพการเยือนเมืองสุราตในครั้งนั้นโพสต์ขึ้นใน Facebook โดยบรรยายว่าได้เดินทางไปราชการที่เมือง Surat ก็ปรากฎว่ามีเพื่อนๆหลายคนเขียนคอมเม้นท์เข้ามาว่ามาถึง Surat ทำไมไม่เลยขึ้นมาที่กรุงเทพฯ ด้วย ก็รู้สึกขำแต่ไม่ได้ให้ความสนใจมากไปกว่าคิดว่าแค่ชื่อบังเอิญมาพ้องกันเท่านั้นเอง
ล่าสุดระหว่างวันที่ 13-18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสร่วมคณะไปกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลีและสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ นำโดย ฯพณฯ พิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต เพื่อไปสำรวจโอกาสทางการค้าและการลงทุนในรัฐคุชราตและพบปะหารือกับ ฯพณฯ นาเรนทรา โมดี มุขมนตรีคนเก่งผู้มีวิสัยทัศน์ยาวไกลของรัฐคุชราต โดยเริ่มต้นการเดินทางที่เมืองสุราตและเดินทางโดยรถยนต์ไปเมืองอื่นๆด้วย
ครั้งนี้ ผมได้ถ่ายรูปแม่น้ำจากบริเวณหน้าโรงแรมที่พัก ซึ่งเป็นแม่น้ำที่กว้างใหญ่และสวยงามมากแล้วนำไปโพสต์ขึ้นบน Facebook อีกตามเคย คราวนี้มีเพื่อนส่งคอมเม้นท์เข้ามาถามอีกว่าแม่น้ำอะไร ดูกว้างใหญ่และสวยงามดี ผมเลยรีบไปเช็คกับเจ้าหน้าที่โรงแรมและได้รับคำตอบว่าแม่น้ำนี้ชื่อ แม่น้ำตาปติ (Tapti) หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ตาปี (Tapi)” พอได้ฟังคำตอบก็ถึงกับอึ้งไปเลยว่า ทำไมถึงได้บังเอิญขนาดนี้
ด้วยความสงสัยใคร่รู้เป็นอย่างยิ่ง ผมก็เลยรีบเสาะหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ แล้วก็ได้คำตอบจากเว็บไซต์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่าเมืองสุราต ในรัฐคุชราตของอินเดียมีความเกี่ยวพันกับชื่อจังหวัดสุราษฎร์ธานีของไทยจริงๆ โดยนาม “สุราษฎร์ธานี” และแม่น้ำ “ตาปี” นี้ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 เนื่องจาก สภาพของเมืองทั้งสองคล้ายคลึงกัน ประกอบกับทรงทราบว่า ชาวเมืองสุราษฎร์เป็นผู้มีคุณธรรม ยึดมั่นในหลักพระพุทธศาสนาสอดคล้องกับ ความหมายของสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ เรื่องราวดังกล่าวได้มีการระบุไว้ในจดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ พุทธศักราช 2458
จึงต้องนับว่าเป็นโชคดีมหาศาลของประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะปัจจุบันเมืองสุราตในรัฐคุชราตของอินเดียเป็นเมืองที่มีการพัฒนาและมีการเจริญเติบโตสูงที่สุด ติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองใหญ่ที่สุดของอินเดีย และติดอันดับเมืองที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุดของอินเดียแซงหน้าเมืองปูเน่และเมืองนิวเดลีไปอย่างขาดลอย นอกจากนั้นเมืองสุราตยังเป็นศูนย์กลางเจียระไนเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสิ่งทอของอินเดียจนได้รับสมญานามว่าเป็น “แมนเชสเตอร์แห่งตะวันออก” การมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์กับเมืองสุราต จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสานความสัมพันธ์กันระหว่างเมืองสุราตของอินเดียกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีของไทย ในฐานะเมืองคู่แฝด ที่จะสามารถร่วมมือกันส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันเพื่อความเจริญก้าวหน้าร่วมกันทั้งสองฝ่าย
วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นวันที่อาเซียน 10 ประเทศ จะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน...จังหวัดสุราษฎร์ธานีก็น่าจะใช้วันที่ 29 กรกฎาคม 2558 ในปีเดียวกันเป็นวันครบรอบ 100 ปีที่ได้รับพระราชทานนาม “สุราษฎร์ธานี” ตามชื่อเมืองสุราต และ “ตาปี” ตามชื่อแม่น้ำตาปีในเมืองสุราต สร้างกิจกรรมสถาปนาเมืองแฝด “สุราต-สุราษฎร์ธานี” เสียเลย...โอกาสอย่างนี้ไม่ได้หากันได้ง่ายๆ
อดุลย์ โชตินิสากรณ์
ผู้อำนวยการอาวุโส
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 10 ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,745 วันที่ 3-6 มิ.ย. 55