กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Inside India ตอน Vibrant Gujarat: รัฐคุชราตที่กำลังโชติช่วงชัชวาลย์
วันนี้ขออนุญาตพาดหัวด้วยชื่องานส่งเสริมการค้าและการลงทุนของรัฐคุชราต หรือที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Vibrant Gujarat 2013 ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2556 ณ เมืองคานธีนาการ์ (Gandhinagar) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคุชราต งานนี้จัดขึ้นทุก 2 ปี โดยครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2546 เพื่อให้เป็นเวทีระดับโลกที่นักธุรกิจจากประเทศต่างๆมาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน รวมทั้งส่งเสริมให้นักธุรกิจจากทั่วโลกเข้าไปลงทุนในรัฐคุชราต
การจัดงานครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่รัฐคุชราตถึง 450,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOUs) ทันทีถึง 7,936 ฉบับ โดยเป็นการลงนามในบันทึกความเข้าใจโดยอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 4,286 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของ MOUs ทั้งหมด ทำให้เกิดการจ้างงานในรัฐคุชราตถึง 5.2 ล้านตำแหน่ง หยั่งงี้ไม่เรียกว่าโชติช่วงชัชวาลย์ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว
ปัจจุบันรัฐคุชราตภายใต้การนำของมุขมนตรี นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ถือว่าเป็นรัฐที่เจริญรุ่งเรืองโชติช่วงชัชวาลย์ที่สุดในประเทศอินเดีย มีสถิติมากมายเกี่ยวกับรัฐคุชราตที่คนไทยอาจจะยังไม่รู้ คนรวยที่สุดในประเทศอินเดียทุกๆ 25 คนจะมาจากรัฐคุชราตถึง 10 คน, เพชรที่เจียระไนและขัดเงาแล้วทุก 10 เม็ดบนโลกนี้จะมาจากเมืองสุรัต ในรัฐคุชราตถึง 8 เม็ด, เขตเศรษฐกิจพิเศษ Dahej ในรัฐคุชราตได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 25 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีที่สุดในโลก โดยนิตยสาร fDi (Foreign Direct Investment) ซึ่งเป็นนิตยสารในเครือหนังสือพิมพ์ Financial Times เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพียงแห่งเดียวของทั้งประเทศอินเดียที่ได้รับเลือก
รัฐคุชราตมีผลผลิตทางอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ของทั้งประเทศอินเดีย, มีการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22 ของการส่งออกรวมของประเทศ, มีการผลิตสินค้าเกี่ยวกับเคมีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51 ของทั้งประเทศ, มีผลผลิตปิโตรเคมีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 ของทั้งประเทศ, อุตสาหกรรมพลาสติกมีผลผลิตคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65 ของประเทศ, รัฐคุชราตมีผลผลิตเกลือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของทั้งประเทศ
รัฐคุชราตเป็นรัฐเดียวในอินเดียที่มีเครือข่ายท่อก๊าซธรรมชาติเชื่อมโยงทั่วทั้งรัฐยาวถึง 2,200 กิโลเมตร, รัฐคุชราตเป็นรัฐแรกในประเทศอินเดียที่มีระบบไฟฟ้าเข้าถึงทุกหมู่บ้านในรัฐจำนวน 18,065 หมู่บ้าน, รัฐคุชราตเป็นรัฐที่มีชายฝั่งทะเลยาวที่สุดในประเทศอินเดียด้วยระยะทางถึง 1,600 กิโลเมตร, เมืองอาห์เมดาบาดในรัฐคุชราตได้รับเลือกจากนิตยสาร Forbes เมื่อปี 2553 ให้เป็นเมืองที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และยังมีอื่นๆอีกมากมายที่รัฐคุชราตก้าวล้ำนำหน้ากว่ารัฐอื่นๆไปหมดแล้ว
ก็เป็นที่น่าแปลกใจที่เศรษฐกิจหลักๆในภูมิภาคต่างๆของโลกกำลังประสบปัญหาทางศรษฐกิจกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรปหรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา แต่อินเดียก็ยังเป็นประเทศที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากภาคเอกชนไทยสักเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะเกิดจากยังฝังใจกับความเชื่อเดิมๆว่าอินเดียยังไม่พัฒนาหรือทำธุรกิจกับคนอินเดียทำยากอะไรประมาณนั้น แต่ทราบหรือไม่ว่าขณะนี้ภาคเอกชนของประเทศอื่นเขาบุกอินเดียกันอย่างคึกโครมเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะเกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่เบลเยี่ยมซึ่งได้ออกมาประกาศแล้วว่าได้เลือกรัฐคุชราตเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจในปี 2557 แล้วทำไมไทยเรายังไม่ขยับ
ความโชติช่วงชัชวาลย์ของรัฐคุชราตทำให้ทีมประเทศไทยที่อินเดียไม่สามารถทนนิ่งดูดายอยู่ได้ด้วยเกรงว่าโอกาสมหาศาลสำหรับประเทศไทยจะหลุดลอยไปเสียหมด จึงได้จัดทัพออกเดินทางไปพบปะและสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆในเมืองสำคัญของรัฐคุชราตรวมทั้งสำรวจโอกาสด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างวันที่ 13-18 พฤษภาคมที่ผ่านมาโดยมีท่านพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ในฐานะหัวหน้าทีมประเทศไทยพร้อมด้วยทีมประเทศไทยจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบและสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ ร่วมเดินทางไปด้วย
คณะได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติตลอดระยะเวลาที่อยู่ในรัฐคุชราต โดยมีรถนำขบวนพร้อมทั้งตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอารักขาตลอดการเดินทางตั้งแต่เมืองสุรัต (Surat) เมืองวาโดดารา (Vadodara) เมืองอาห์เมดาบัด (Ahmedabad) และเมืองคานธีนาการ์ (Gandhinagar) ซึ่งเมืองสำคัญทั้งสี่เมืองนี้ตั้งอยู่ในแนวระเบียงอุตสาหกรรมเดลี-มุมไบ (Delhi-Mumbai Industrial Corridor: DMIC) ซึ่งเป็นอภิมหาโครงการโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เชื่อมโยงระหว่างกรุงนิวเดลีทางเหนือกับเมืองมุมไบทางใต้ ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร
ตลอดเส้นทางรถยนต์ที่คณะทีมประเทศไทยเดินทางจากเมืองสุรัต (Surat) จนถึงเมืองคานธีนาการ์ (Gandhinagar) พบว่ารัฐคุชราตได้รับการพัฒนาเป็นอย่างมากโดยเฉพาะด้านถนนหนทาง สิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ผังเมือง รวมทั้งความสะอาดซึ่งแตกต่างไปจากรัฐอื่นๆในประเทศอินเดีย จนรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ในประเทศอินเดียเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองอาห์เมดาบาด (Ahmedabad) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของรัฐคุชราต ได้รับการออกแบบเพื่อรองรับการเป็นเมืองสมัยใหม่และศูนย์กลางทางการเงินในอนาคตอย่างชนิดที่ใครเห็นก็อดอิจฉาไม่ได้
เมืองอาห์เมดาบาดจึงเป็นเมืองที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้มีโครงการสำคัญที่เรียกว่า GIFT หรือ Gujarat International Finance Tec-City อยู่ระหว่างการก่อสร้างอยู่บนพื้นที่ 2 ตารางกิโลเมตร โดยได้รับการออกแบบเพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินและศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีที่รองรับด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานระดับสุดยอดสมบูรณ์แบบ ธุรกิจเป้าหมายสำหรับโครงการนี้ คือ การให้บริการทางการเงิน บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศประเภท Software Application ตลาดทุน และบริการ Outsourcing ขณะนี้โครงการอยู่ในระยะที่ 2 (ปี 2554-2556) และคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในปี 2560
นอกจากโครงการ GIFT แล้ว เมืองอาห์เมดาบาดยังมีโครงการที่น่าทึ่งมาก คือ โครงการ Sabarmati Riverfront หรือโครงการคืนชีวิตให้แม่น้ำ Sabarmati ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเหือดแห้งจนแม่น้ำทั้งสายกลายเป็นพื้นดินธรรมดาที่ชาวบ้านใช้เป็นตลาดขายสินค้า ปัจจุบันแม่น้ำนี้ได้รับการพัฒนาจนมีน้ำใสสะอาดเต็มฝั่ง และริมแม่น้ำทั้งสองฟากได้รับการพัฒนาและปรับภูมิทัศน์อย่างสวยงามและทันสมัยไม่แพ้เมืองในยุโรปเลย ที่สำคัญคือ มีการวางแผนและบริหารจัดการไม่ให้กระทบกับผู้ที่อยู่อาศัยหรือมีวิถีชีวิตอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำอีกด้วย
การพัฒนาเมืองต่างๆในรัฐคุชราตซึ่งดำเนินมาระยะหนึ่งแล้วและจะยังดำเนินต่อไปอีก จะเป็นโอกาสของนักธุรกิจก่อสร้างของไทยที่สามารถเข้าไปรับงานก่อสร้างได้ ทั้งนี้ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของเมืองอาห์เมดาบาดก็ก่อสร้างโดยบริษัทคนไทยนี่เอง นอกจากสนามบินแล้วในรัฐคุชราตยังมีโครงการก่อสร้างอีกมากมายโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่กำลังขยายตัวอย่างมาก รวมทั้งถนนหนทางและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
นอกจากโอกาสในการลงทุนในธุรกิจก่อสร้างแล้ว รัฐคุชราตยังมีอุตสาหกรรมอีกมากมายที่ภาคเอกชนของไทยสามารถเข้าไปลงทุนได้ โดยแต่ละเมืองก็จะเน้นอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันไป เช่น เมืองสุรัต จะเน้นที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหลัก รวมทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีชีวภาพ
ส่วนที่เมืองวาโดดารามีโอกาสในการลงทุนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารและอาหารแปรรูป (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมห้องเย็น) อุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมและเครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมพลาสติก สำหรับเมืองอาห์เมดาบาด ก็มีโอกาสในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (Software และ Outsourcing) อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
สำหรับคณะทีมประเทศไทยที่ได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจและพบปะเจรจากับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องของรัฐคุชราตทุกหน่วยรวมทั้งสมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมทุกเมือง และที่สำคัญที่สุด คือ การได้เข้าพบหารือกับท่านนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) มุขมนตรีคนสำคัญของรัฐคุชราต ที่ได้ให้เกียรติให้คณะเข้าพบ ขอฟันธงด้วยความมั่นใจได้เลยว่ามาถูกทางแล้ว ที่รัฐคุชราตนี้ยังมีโอกาสอีกมากมายมหาศาลที่นักธุรกิจไทยจะสามารถ Go Inter(nationalization) ได้ด้วยรูปแบบธุรกิจ Offshoring คือ ออกไปลงทุนเพื่อนำเงินตรากลับประเทศไทย ทั้งจากรายได้จากการรับงานก่อสร้าง หรือกำไรจากการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในตลาดอินเดียหรือส่งออกต่อไปประเทศที่สาม
ที่สำคัญที่สุด เราได้รับการยืนยันจากทุกหน่วยงานว่าที่รัฐคุชราตไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน ไม่มีปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าไม่พอหรือไฟฟ้าติดๆดับๆ ไม่มีปัญหาในการหาสถานที่หรือที่ดินในการจัดตั้งโรงงาน......แล้วเราจะรออะไรกันอยู่อีกครับ
---------------------------------------------------------
อดุลย์ โชตินิสากรณ์
ผู้อำนวยการอาวุโส
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ