ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 36)
เวลาคนไทยคิดจะค้าขายกับอินเดีย เป็นปกติที่หลายคนจะก็กล้าๆ กลัวๆ เพราะมีอคติฝังลึกอยู่ในทัศนคติว่า “แขกขี้โกง”
ความจริงแล้ว แขกที่มาเที่ยวเมืองไทยก็เจอคนไทยหลอกต้มตุ๋นหลายกรณีเหมือนกัน และคนไทยเองก็เป็นเหยื่อของการโกง จี้ ปล้น กันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในกรณีของร้านเพชรร้านทอง
คนอินเดียก็ชอบทองเหมือนกัน และจะแห่ซื้อทองในช่วงเทศกาลต่างๆ ประเพณีก็ไม่ห่างไกลจากคนไทยคนจีนมากนัก แต่ในขณะที่เมืองไทยมีข่าวปล้นร้านทองเป็นอยู่ประจำ เชื่อหรือไม่ว่า ข่าวประเภทนี้แทบจะไม่เกิดขึ้นในอินเดีย
เช่นเดียวกับในอุตสาหกรรมเพชรของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกเพชรที่เจียระไนแล้วที่ใหญ่ที่สุดของโลก การลักเล็กขโมยน้อย แทบที่จะไม่เกิดขึ้นในวงการนี้ ซึ่งพึ่งพาความซื่อสัตย์และความภักดีกับและพวกพ้องสูง
เชื่อหรือไม่ว่า 60% ของเพชรที่ผ่านการขัดเกลาแล้วของโลกนี้ มีการซื้อขายบนถนนที่แออัดไปด้วยผู้คน ในย่าน Opera House ที่เมืองมุมไบ เวลาพ่อค้าเพชรในตลาดจะต่อรองซื้อของกัน ก็มักจะเกิดขึ้นบนถนนกลางแจ้ง พ่อค้าพวกนี้แต่งตัวง่ายๆ ห่อเพชรล้ำค่าไว้ในกระดาษทิชชู่ แล้วก็เดินไปเดินมาปะปนไปกับฝูงชนอันมหาศาล ความไร้ตัวตนเปรียบเสมือนยุทธศาสตร์ความมั่นคงของพวกเขา
แต่พวกเขาก็รู้สึกปลอดภัย เพราะในย่านนั้น ทุกคนรู้จักกันดี อยู่ด้วยกันมาหลายชั่วอายุคน ทุกคนช่วยกันเป็นยาม สอดส่องสายตา เฝ้ามองคนแปลกหน้ามีพิรุธ
หากใครโกง ก็จะถูกเนรเทศออกไปจากวงศาคณาญาติ ไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย เป็นอันฆ่าตัวตายทางอ้อม ทุกคนสามารถสืบประวัติ ชื่อเสียงเรียงนาม จากเครือข่ายที่แพร่ขยายครอบคลุมทั้งประเทศ ไปถึงศูนย์กลางเพชรใหญ่ๆ ในต่างแดน เช่น เมือง Antwerp ในเบลเยี่ยม ซึ่งพ่อค้าอินเดียได้ไปครองตลาดที่นั่นเรียบร้อยแล้ว
กลุ่มพ่อค้าเพชรอินเดียหลักๆ ก็จะมีพวกที่นับถือศาสนาเชน และพวก Gujarati (ชาวคุชราต) ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะ 80% ของเพชรที่ผ่านการเจียระไนขัดเกลาในโลกนี้ เป็นฝีมือของช่างในเมืองสุราต ในรัฐคุชราตของอินเดีย
เมืองสุราต หรือ hub ของการเจียระไนเพชรโลก ได้รับอานิสงค์จากนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ กอปรกับการที่ชาวพื้นเมืองมีหัวทางการค้า และมีแรงงานมีฝีมือค่าแรงถูกกว่าคนในสาขาอาชีพเดียวกันในประเทศอื่นๆ หลายเท่า
เมืองสุราตมีศักยภาพในการแข่งขันสูงเพราะสามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะสูงได้เองด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ โดยมีสถาบันสอนเรื่องเพชรและอัญมณีของตัวเองชื่อ Indian Diamond Institute ที่เก็บค่าเล่าเรียนถูกกว่าสถาบันในระดับเดียวกันของประเทศอื่นๆ แต่คุณภาพของความรู้ไม่เป็นรอง
ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมการเรียนการสอนของสถาบันดังกล่าว สิ่งที่น่าประทับใจคือ แม้ว่าบางหลักสูตรจะมีค่าเทอมไม่กี่พันบาท แต่สถาบันก็มีอุปกรณ์หลักล้านให้นักเรียนใช้พัฒนาความรู้ อีกทั้งมีเพชรเป็นกองๆ ให้นักเรียนทั้งจับทั้งส่องดู ไม่เกรงกลัวเลยว่าจะมีใครแอบลักลอบเอาไปเป็นของที่ระลึก
การไว้เนื้อเชื่อใจมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการเจียระไนเพชรยังเป็นอุตสาหกรรม labor intensive แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยทุ่นแรงงานมนุษย์ แต่ก็ยังต้องอาศัยความละเอียดอ่อน การประสานสัมผัสระหว่างสายตาและมือ ที่เครื่องจักรยังไม่สามรถลอกเลียนได้ ดังนั้น การจะเป็น hub จึงต้องอาศัยแรงงานช่างเจียระไนจำนวนมหาศาล
และเมืองสุราต สามารถสร้าง scale economy ได้ด้วยการมีแรงงานฝีมือที่ราคาต่ำ แต่ก็ยังได้รับค่าจ้างสูงกว่าแรงงานประเภทอื่นๆ (มากกว่า 10,000 รูปี/ เดือน) ในขณะที่ค่าครองชีพในรัฐคุชราตอยู่ในระดับต่ำกว่ารัฐอื่นๆ ที่มีการพัฒนาในระดับเทียบเท่า
บริษัทเจียระไนเพชรระดับแนวหน้าเช่น ศรีรามกฤษณะ เอ็กซ์พอร์ต (Shree RamKrishna Exports) ที่มีลูกจ้างกว่า 3,000 คน ใช้หลักการสร้างคน และดูแลคน เพื่อให้ลูกจ้างของเขาทำงานได้อย่างมีความสุข จึงทำให้มีอัตราการผลัดเปลี่ยนการว่าจ้างแรงงานต่ำ ในโรงงานนี้ ทุกๆ คน จะรับประทานอาหารมังสวิรัติในโรงอาหารเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ ผู้บริหาร จนไปถึงลูกจ้างระดับต่ำสุด
และสิ่งที่พวกเขาภาคภูมิใจที่สุด คือ แม้ว่าโรงงานจะติดกล้องวงจรปิดทั่วตึก แต่เวลาพนักงานเดินทางกลับบ้าน เจ้าของจะไม่ค้นตัวลูกน้อง ซึ่งในแต่ละวันจะจับต้องเพชรหลายเม็ดหลายขนาด
ด้วยหลักการความไว้เนื้อเชื่อใจ ความสื่อสัตย์จงรักภักดี และการอยู่อาศัยพึ่งพากันอย่างครอบครัวและชุมชนใหญ่ อินเดียจึงสามารถพิชิตอาณาจักรเพชรโลกได้
ดร. แจ่มใส เมนะเศวต
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
*ภาพถ่ายโดย กนกภรณ์ คุณวัฒน์ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
**ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 10 ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,749 วันที่ 17-20 มิ.ย. 55