กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Inside India ตอน ทำไมเอกชนไทยจึงยังไม่ลงทุนในรัฐที่พร้อมกว่า
โดย พิศาล มาณวพัฒน์
เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
เป็นที่ทราบกันในหมู่นักลงทุนว่า อินเดียเป็นประเทศน่าลงทุนเพราะอะไร และก็ทราบกันดีพอควรว่ามีปัจจัยท้าทายอะไรบ้าง
ระหว่างปี 2543-2555 ตัวเลขทางการของเงินลงทุนจากไทยเข้าไปอินเดียมีประมาณ 3 พันล้านบาท บริษัทจากไทยที่ไปลงทุนหรือทำธุรกิจในอินเดียมี อาทิ เจริญโภคภัณฑ์ อิตาเลียน-ไทย บ้านพฤกษา สยามซีเมนต์กรุ๊ป ไทยซัมมิท เดลต้าอิเลคทรอนิก รอคเวิร์ท ศรีไทยซูเปอร์แวร์ ไทยยูเนียน ฟรอเซน เมเจอร์ซินิเพลกซ์ ในด้านสาขาบริการก็มี การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ และธนาคารกรุงไทย ไปจนถึงกลุ่มโรงแรม ดุสิต เลอบัว และเซนทารา
ที่ตั้งสำนักงานและโรงงานมักอยู่ที่กรุงนิวเดลี เมืองมุมไบ และในรัฐทมิฬนาฑูและรัฐกรณาฎกะทางใต้ สำหรับอิตาเลียน-ไทย ได้งานสร้างอาคารสนามบิน เขื่อน อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน วางรางรถไฟยกระดับ ทางหลวงฯ ไปเกือบทั่วอินเดีย
จากการพบปะพูดคุยกับนักธุรกิจไทยทั้งในกรุงนิวเดลีและตามโรงงานต่างๆ มักได้รับฟังข้อคิดเห็น และปัญหาคล้ายๆ กัน คือเรื่องความล่าช้าของการขอวีซ่าทำงาน การต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปัญหากระแสไฟฟ้าไม่พอ ความสลับซับซ้อนในการหาซื้อที่ดินตั้งโรงงาน ขั้นตอนราชการ การขอใบอนุญาต การคำนวณภาษี และแรงงานท้องถิ่น
ห้าเดือนหลังจากผู้นำภาคเอกชนยกปัญหาข้างต้นแจ้งนายกรัฐมนตรี ในระหว่างการเยือนกรุงนิวเดลี ก็มีการติดตามความคืบหน้ามาตลอด เอกชนเองรับว่า ปัญหาการขอวีซ่าทำงานจากสถานทูตอินเดียในไทยได้รับการปัดเป่าไปเกือบหมด เรื่องการจ่ายเงินสมทบกองทุน หน่วยงานไทยที่รับลูกไปก็ต้องเตรียมเจรจากับฝ่ายอินเดีย ถึงแม้จะต้องใช้เวลาอีกเป็นปี
เรื่องการเช่าซื้อที่ดินในเขตอุตสาหกรรมที่มีน้ำไฟพร้อม ผู้แทนรัฐบาลอินเดียในงานสัมมนาที่สถานทูตจัดให้พบเอกชนไทยที่กรุงนิวเดลีเมื่อปลายเมษายนที่ผ่านมาก็ยืนยันว่า พร้อมจะช่วยให้ข้อมูลและประสานงานกับรัฐนั้นๆ ให้ สำหรับการขอใบอนุญาตกับขั้นตอนมากมายก็มีแผนจะให้เป็นแบบออนไลน์ในไม่ช้า โดยจะเริ่มโครงการนำร่องที่รัฐอานธรประเทศภายในพฤศจิกายน ศกนี้
นอกจากนี้ สถานทูตยังจ้างบริษัทที่ปรึกษาอินเดียให้บริการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง โดยเฉพาะการเช่า ซื้อที่ดินตั้งโรงงาน หรือแนะนำเรื่องภาษีที่ถูกประเมินสูงเกินความจริง หลังจากได้แนะนำให้ติดต่อกันแล้วก็ย่อมเป็นเรื่องของบริษัทไทยนั้นๆ ที่จะตัดสินใจต่อเอง
อินเดียเป็นประเทศกว้างใหญ่ไพศาล หลายๆ รัฐมีขนาดและประชากรมากกว่าไทยหลายเท่า มีความเป็นอิสระพอควรในการบริหาร ผู้บริหารสูงสุดมาจากการเลือกตั้ง คล้ายๆ กับผู้ว่าการรัฐของสหรัฐฯ แต่ของอินเดียเรียกตำแหน่งนี้ว่า มุขมนตรี (Chief Minister)
หากกล่าวถึงการเข้าอกเข้าใจและสนับสนุนการลงทุนของนักธุรกิจทั้งอินเดียเองและจากต่างชาติ เห็นจะไม่มีรัฐไหนเด่นเกินคุชราต บ้านเกิดมหาตมะ คานธี ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอารเบียด้านตะวันตกของอินเดียเหนือเมืองมุมไบ
ที่ต่างกับรัฐอื่นๆ มากๆ คือ คุชราตผลิตกระแสไฟฟ้าพอเพียงขนาดเหลือส่งออกไปรัฐข้างเคียง มีท่อส่งแก๊ซ เชื่อมทั่วทุกภาคของรัฐ มีสนามบิน 11 แห่ง มีทางหลวง รางรถไฟ ท่าเรือรอบชายฝั่ง 1,600 กิโลเมตร ซึ่งยาวหนึ่งในสามของชายฝั่งอินเดียทั้งหมด มีเขื่อนพลังน้ำสามารถบริหารจัดการตามความต้องการน้ำได้ทั่วทุกภาค ร้อยละ 22 ของสินค้าส่งออกอินเดียมาจากคุชราต เป็นเพชรร้อยละ 70 ปิโตรเคมีร้อยละ 62 เคมีร้อยละ 51 เวชภัณฑ์ร้อยละ 35 ในปี 2553 นิตยสารฟอร์ปส์ยกให้เมือง อาห์เมดาบัดติดกับเมืองหลวงคานธีนครเป็นเมืองที่มีอัตราการเจริญเติบโตอันดับ 3 ของโลก
นายนเรนทรา โมดี มุขมนตรีรัฐคุชราตผู้นี้มีวิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำสูง คิด พูด โครงการใดแล้ว มักจะเกิดขึ้นในเวลารวดเร็ว ขณะนี้กำลังสร้างศูนย์กลางการเงินและไฮเทคแข่งกับ เซี่ยงไฮ้ ใกล้เมืองอาห์เมดาบัด โครงการ Delhi - Mumbai Industrial Corridor (DMIC) ที่จะเชื่อมเส้นทางระหว่างเดลีกับมุมไบก็จะผ่านรัฐคุชราตถึงร้อยละ 38 นายนเรนทรา โมดี จึงมีแผนจะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่โดยมีญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนใหญ่ และสิงคโปร์ก็มีแผนเข้าไปร่วมแล้ว
เมื่อมีโอกาสเยือนรัฐคุชราตเมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมกับมีกงสุลใหญ่ และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าจากมุมไบที่มีเขตความรับผิดชอบถึงรัฐคุชราต พวกเราต่างประจักษ์กับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง ศูนย์ประชุม / แสดงสินค้าขนาดยักษ์ที่สร้างเสร็จตามกำหนด บริษัททุกบริษัท นักธุรกิจทุกคนที่พวกเรามีโอกาสไปเยือนและพูดคุยด้วย ต่างมีความเห็นเหมือนกันว่า คุชราตน่าทำธุรกิจ เพราะผู้นำเข้าใจความต้องการนักธุรกิจและทำสิ่งที่นักธุรกิจต้องการให้เกิดเป็นจริงได้ ไม่ว่าการลดขั้นตอนระบบราชการ ไฟฟ้าที่ไม่เคยขาดจนเครื่องปั่นไฟสำรองของโรงงานต่างๆ ถูกทิ้งไว้เฉยๆ ทุกแห่ง แรงงานมีฝีมือเพียงพอ ไม่มีปัญหาสหภาพแรงงาน
ข้อควรทราบ โดยเฉพาะสำหรับคนไทยที่ชอบคิดแต่เรื่อง “แขกกับงู” คือ นักธุรกิจชาวคุชราตเองเป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือสูง โดยเฉพาะพ่อค้าเพชรที่มีชื่อเสียงด้านความน่าเชื่อถือสูงสุดในหมู่นักธุรกิจอัญมณีด้วยกันเอง
เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดีย คือ ทาทาที่ลงทุนสร้างโรงงานรถยนต์นาโนเสร็จแล้วในรัฐเบงกอลตะวันตก ต้องติดปัญหาการอ้างสิทธิ์ที่ดินจากชาวบ้านแบบไม่เห็นทางจบสิ้น นายนเรนทรา โมดี ได้ส่งข้อความโทรศัพท์มือถือไปยังนายราธาน ทาทา นายใหญ่ของบริษัททาทาว่าคุชราตยินดีต้อนรับ ปรากฏว่ากระบวนการจัดซื้อที่ดิน ขออนุญาต ถมที่ สร้างโรงงานจนผลิตรถยนต์คันแรกได้ใช้เวลาอย่างเหลือเชื่อรวมทั้งสิ้นเพียง 14 เดือน
เมื่อพวกเราได้เข้าพบมุขมนตรีในวันสุดท้ายของการเยือน ก็ได้เสนอแนวทางความร่วมมือทั้งการบินตรง/ท่องเที่ยว ธุรกิจไทยสาขาต่างๆ (โดยเฉพาะดูจากสาขาที่ได้เข้ามาลงทุนแล้วในรัฐอื่นๆ ของอินเดีย) ที่มีศักยภาพจะขยายเข้ามารัฐคุชราต แต่ยังไม่รู้จะเริ่มตรงไหนกับใคร ซึ่งนายนเรนทรา โมดี ตอบทันทีว่า ขอให้สถานทูตจัดคณะผู้แทนบริษัทเหล่านี้มาพบตนได้ทุกเมื่อ
จากการเดินทางไปเยือนกว่าสิบรัฐในอินเดีย พวกเราเห็นว่า จะหารัฐที่มีความพร้อมด้วยปัจจัยข้างต้น พร้อมโอกาสในอุตสาหกรรม เพชร อัญมณี อาหาร เกษตร แร่ธาตุ ปิโตรเลียม เวชภัณฑ์/ไบโอเทค โครงการก่อสร้าง ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและการพัฒนาเมือง เช่นคุชราตในรัฐอื่นๆ คงยาก สถานทูตจึงได้เพิ่มคอลัมน์ชี้โอกาสธุรกิจในรัฐนี้เป็นการเฉพาะในเว็บไซต์ thaiindia.net นอกจากนี้ สถานทูตยังเตรียมจัดสัมมนาแบบจำกัดจำนวน เน้นแต่เนื้อๆ ในวันศุกร์ที่ 14 กันยายนนี้ โดยเชิญผู้แทนภาครัฐอินเดียทั้งส่วนกลางและรัฐคุชราตให้จ่ายค่าเครื่องบินกันเองเพื่อมาตอบคำถามผู้ประกอบการไทยให้หายสงสัยถึงที่กรุงเทพฯ
หลังจากนั้น ผมขอชักชวนนักธุรกิจไทยโดยเฉพาะที่ลงทุน ตั้งถิ่นฐานในอินเดียแล้วและผู้ประกอบการรายใหม่ไปพบมุขมนตรีตามที่เขาเชิญไว้ปลายเดือนกันยายน ศกนี้ เพื่อลงในสาระสาขาธุรกิจที่ต้องการกันเลย คณะไม่จำเป็นต้องใหญ่แต่ควรเป็นระดับบิ๊ก พอที่จะตัดสินใจได้
ผมเชื่อว่าเอกชนไทยระดับอินเตอร์ที่ไม่ขัดข้อง ค่ากระแสไฟฟ้าของรัฐคุชราตที่แพงกว่ารัฐอื่นร้อยละ 25 แต่มีเพียงพอ ไม่มีตกหรือดับ (ขนาดกลางเมืองหลวงในเขตคณะทูตไฟยังตกและดับวันละเป็นสิบครั้ง) ทำให้การผลิตมีความต่อเนื่อง ลดค่าใช้จ่ายในภาพรวม หรือที่ไม่ขัดข้องกับการที่ต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายของอินเดีย น่าจะสนใจคุชราต เช่นที่ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐฯ ยุโรป ได้เข้าไปแทบทุกแห่งของรัฐคุชราตแล้ว
เอกชนไทยที่เคยเสนอภาครัฐผ่านนายกรัฐมนตรีให้ช่วยเจรจาหาที่ดินเขตอุตสาหกรรมไว้ตั้งโรงงานอยู่ด้วยกัน โอกาสมาถึงท่านแล้ว เพราะคุชราตมีนิคมอุตสาหกรรม 200 แห่ง บวกกับเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก 60 แห่งทั่วรัฐ
มีอุตสาหกรรมเดียวที่ไม่ควรไปตั้งที่รัฐนี้ คือ อุตสาหกรรมน้ำเมา เพราะรัฐนี้ห้ามจำหน่ายสุรา!