ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 40)
รถไฟฟ้ามหาภารตะ
อินเดียมีระบบรถไฟใต้ดินที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ระบบที่ว่าอยู่ที่เมืองกัลกัตตา เมืองหลวงเก่าสมัยถูกปกครองโดยอังกฤษ และในปัจจุบัน อินเดียมีระบบรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียใต้ คือระบบ Delhi Metro ที่ถือได้ว่าเป็นรูปแบบของการวางผังขนส่งมวลชนที่ทันสมัยและน่าภาคภูมิใจ รับรองได้ว่าใหม่ กลิ่นดีกว่า Tube กรุงลอนดอน และสะอาดกว่า Subway ของมหานครนิวยอร์ก!!
และเป็นที่น่าภูมิใจเช่นกันว่า บริษัทก่อสร้างชื่อดังของไทย คือ อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนท์ ได้มีส่วนสร้างให้รถไฟใต้ดินของกรุงนิวเดลีเป็นความจริง อีกทั้งได้สร้างตำนานในวงการก่อสร้างอินเดีย ด้วยการส่งมอบงานก่อนกำหนด และขณะนี้ ได้ย้ายพลไปสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าที่เมืองบังคาลอร์แล้ว
เมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ มีความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรับรองการขยายตัวเมืองและระบบขนส่งมวลชนสูง อันเป็นแหล่งขุมทรัพย์ให้บริษัทวิศวกรรมและบริษัทก่อสร้างทั้งแขกและเทศ ทว่าเค้กก้อนโตชิ้นนี้ไม่หมู เนื่องจากอินเดียมีปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินที่ขึ้นชื่อว่า กว่าจะเจรจากันเสร็จก็ใช้เวลานานขนาดน้องๆ มหากาพย์มหาภารตะ บริษัทที่มารับงานต่างโอดครวญ ยิ่งล่าช้า งบประมาณก็จะยิ่งบานปลาย ดอกทบต้น ต้นทบดอก เป็นไมเกรนไปตามๆ กัน
แต่เชื่อหรือไม่ มีบริษัทต่างชาติหนึ่งแห่งที่คิดสูตรสำเร็จ มาจัดตั้งวางรากฐานในอินเดีย เพราะเห็นการเติบโตเรื่องนี้ เพื่อจะเป็นเสือนอนกินไปได้นานๆ
บริษัท Bombardier ของแคนาดา ที่มีโรงงานตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมพิเศษของ Gujarat Industrial Development Corporation (GIDC) ในเมือง Savli ของรัฐคุชราต น่าจะมีชื่อเสียงมากกว่าในฐานะผู้ผลิตเครื่องบินส่วนตัวแบบ LearJet ยอดนิยมของมหาเศรษฐีที่ไม่ชอบใช้สายการบินพาณิชย์ แต่ที่นี่ Bombardier เข้ามาตั้งโรงงานผลิตตู้รถไฟฟ้าแห่งเดียวของอินเดีย โดยผลิตโบกี้ตู้แรกเมื่อปี 2551 ผูกขาดลูกค้ารายเดียว คือ Delhi Metro Rail Corporation (DMRC) ที่มีแผนขยายเส้นทางออกไปเรื่อยๆ ให้ครอบคลุมทุกมุมเมืองและต่อไปไกลถึงปริมณฑลในรัฐหรยาณาและอุตตรประเทศ
สูตรของความสำเร็จของ Bombardier คืออะไร?
คือการนำสิ่งที่ดีที่สุดของอินเดียมาใช้ในทุกขั้นตอนของการผลิต ใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้ในอินเดียให้มากที่สุด ปรับสินค้าให้เข้ากับตลาด และไม่ลืมคืนกำไรให้กับอินเดีย ด้วยการลงทุนสร้างคน สร้างแรงงานอินเดียให้มีคุณภาพสากล
โรงงานแห่งนี้สามารถผลิตตู้รถไฟได้ 32 ตู้รถต่อเดือน (รถไฟฟ้า 1 ขบวน มี 4 ตู้รถ) ใช้ทั้งหุ่นยนต์และแรงงานมนุษย์ในการประกอบรถไฟฟ้า
ด้วยความที่อินดียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะแร่เหล็กและเหล็กกล้า อินเดียสามารถถลุงเหล็กและทำเป็นแผ่นรีดร้อนได้เองในราคาถูก ซึ่งเหล็กแผ่นนี้เองเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดของตัวรถไฟฟ้าเกือบทั้งคัน เว้นแต่เก้าอี้ผู้โดยสาร 5 – 6 ที่นั่งที่ทำจากพลาสติกชิ้นเดียวที่ต้องสั่งเข้าจากเกาหลีใต้เท่านั้น ส่วนแอร์ เบรคและประตูรถ สั่งนำเข้าจากฝรั่งเศส
รถไฟฟ้าของ Bombardier ต้องสร้างให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ในอินเดีย ที่มีประชากรกว่า 1.2 พันล้านคน คือ ต้องจุผู้โดยสารให้ได้มากที่สุด ซึ่งตามปกติแล้ว สามารถบรรจุได้เพียง 350 คนต่อตู้รถเท่านั้น แต่ความเป็นจริงสามารถรับผู้โดยสารได้ถึง 500 คนต่อตู้รถ และที่สำคัญ ระบบปรับอากาศของรถไฟฟ้า Bombardier เป็นระบบปรับอากาศที่ดีที่สุดในโลก ทำให้ข้างในเย็นสบายได้แม้อุณหภูมิข้างนอกจะสูงถึง 55 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นความจำเป็นของอินเดียหากมีผู้โดยสาร 500 คนเบียดเสียดในตู้รถที่มีอุณหภูมิข้างนอกร้อนระอุ
หากท่านคิดว่า Bombardier ซึ่งเป็นบริษัทฝรั่ง จะมีนายฝรั่งให้การต้อนรับเวลาคณะเข้าไปเยี่ยมชมกิจการ คงจะต้องผิดหวังเพราะทุกคนในโรงงานนี้ตั้งแต่ผู้บริหารไปถึงภารโรง รวมถึงพนักงานทั้งหมด 600 คน เป็นชาวอินเดียแทบทั้งสิ้น!
แต่กว่าจะมาเป็นช่างขันน๊อตในโรงงานนี้ได้ คุณจะต้องผ่านการทดสอบหลักสูตรวิศวกรรมเยอรมัน เพราะทุกๆ ชิ้นส่วนจะต้องมีความแม่นยำ มิฉะนั้นรถที่วิ่งอยู่ก็จะหลุดออกมาเป็นเสี่ยงๆ ช่างรุ่นแรกของโรงงานได้ฝึกฝนอบรมกับผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมัน ซึ่งมาถ่ายทอดความรู้ให้ครูฝึกอินเดียในสไตล์ training the trainer จนปัจจุบันช่างชาวอินเดียสามารถอบรมกันเองได้แล้ว
ด้วยเหตุนี้เอง บริษัทแคนาดาจึงช่วยให้อินเดียจึงไม่ต้องพึ่งการนำเข้าโบกี้รถไฟฟ้าจากต่างประเทศ และยังวางตัวเป็นเสือนอนกิน รอรับออร์เดอร์จากโครงการสร้างรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินที่จะผุดขึ้นในอีกหลายสิบเมืองสบายๆ เป็นการลงทุนที่มองการณ์ไกลจริงๆ
กนกภรณ์ คุณวัฒน์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
16 ก.ค. 2555