ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 44)
อินเดียในความมืด
คนอินเดีย หรือคนที่อาศัยอยู่ในอินเดีย โดยเฉพาะในรัฐทางภาคเหนือและตะวันออกของประเทศ มักจะคุ้นชินกับภาวะไฟตกและไฟดับของอินเดียเป็นอย่างดี บ้านที่มีฐานะมักจะมีเครื่องปั่นไฟฟ้าติดไว้ที่บ้าน เมื่อยามไฟดับ ในละแวกที่อยู่อาศัยของผู้มีอันจะกินก็มักจะมีเสียงเครื่องปั่นไฟดังกระหึ่มไปทั่ว
ส่วนบ้านที่ไม่สามารถซื้อเครื่องปั่นไฟฟ้าได้ อย่างน้อยก็จะต้องมีเครื่องสำรองไฟ เพื่อป้องกันกระแสไฟกระตุก หรือกระชาก ซึ่งจะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าแพงๆ เช่น คอมพิวเตอร์ ทีวี และเครื่องปรับอากาศ เสียได้ง่าย
เรื่องปัญหาไฟฟ้านี้เกิดขึ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะในรัฐที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาก รวมถึงเมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลีเอง รัฐบาลอินเดียก็ไม่นิ่งนอนใจ อย่างเช่นรัฐทมิฬนาฑูที่แม้จะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหนักอย่างรถยนต์ก็ยังมีปัญหาเรื่องไฟฟ้า ทำให้เมื่อต้นปีต้องออกมาตรการชั่วคราว ด้วยการให้แต่ละพื้นที่หมุนเวียนกันใช้ไฟฟ้าสลับกันไป
โรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ของต่างชาติอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จึงต้องมีเครื่องสำรองไฟฟ้าป้องกันไว้ ผลกระทบจึงตกอยู่กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก
การบริหารจัดการในเรื่องนี้ของภาครัฐอินเดียที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังไม่มีประสิทธิภาพยิ่งถูกซ้ำเติมอีก เมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างและยาวนาน ครอบคลุมรัฐส่วนใหญ่ทางภาคเหนือของประเทศถึงสองครั้ง ในวันที่ 30 และ 31 กรกฎาคม 2555
ครั้งแรกที่ไฟฟ้าดับ ทุกภาคส่วนเดือดร้อนกันถ้วนหน้าเพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ถึง 15 ชั่วโมง ส่วนในครั้งที่สอง แม้จะดับเพียง 10 ชั่วโมง แต่ก็ทำเอาครั้งแรกอาย เพราะครอบคลุมรัฐตอนเหนือมากกว่า 21 รัฐ ในขณะที่ครั้งแรก รัฐที่ได้รับผลกระทบมีเพียง 9 รัฐ
ที่สำคัญ เมืองที่อยู่ในความมืดมิดและหยุดนิ่งสองครั้งนี้ มีเมืองหลวงคือนิวเดลีรวมอยู่ด้วย รวมทั้งเมืองสำคัญๆ เช่น จันดิการ์ ชัยปุระ และกัลกัตตา ไม่นับเขตอุตสาหกรรมในรัฐต่างๆ เหล่านี้ อีกหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบและเสียหายเช่นกัน
เหตุที่ทำให้ประชากรกว่าค่อนประเทศได้รับผลกระทบครั้งนี้ ทางการอินเดียชี้แจงว่า เกิดจากความล้มเหลวของระบบแจกจ่ายกระแสไฟฟ้าของรัฐที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือ ใกล้ๆ กับเมืองอัคระ ที่ตั้งของทัชมาฮาลอันโด่งดัง
น่าดีใจที่ทัชมาฮาลสร้างเสร็จแล้วโดยไม่จำเป็นต้องใช้กระแสไฟฟ้า เราจึงได้เห็นทัชมาฮาลตั้งตระหง่านเป็นความภูมิใจของอินเดียก่อนปัญหาที่เพิ่งเกิดไปสดๆ ร้อนๆ
กระทรวงพลังงานอินเดีย บอกต้นเหตุของปัญหาว่า มีรัฐ 4 รัฐที่เป็นตัวการสำคัญในการใช้กระแสไฟฟ้ามากเกินข้อกำหนด ซึ่งได้แก่ หรยาณา ปัญจาบ อุตตรประเทศ และราชาสถาน ทำให้โรงงานผลิตไฟฟ้าและจุดจ่ายไฟฟ้าทางตอนเหนือของประเทศถูกดึงไฟฟ้าไปมากกว่ากำหนดถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แม้กระทรวงพลังงานจะตักเตือนรัฐเหล่านั้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว แต่ก็ยังคงเพิกเฉย
ไฟฟ้าดับครั้งนี้ มีผลหนักต่ออินเดีย โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่และเมืองสำคัญที่ผู้บริหารของเมืองเหล่านั้น เร่งพัฒนาให้มีความทันสมัยทัดเทียมเมืองชั้นนำอื่นๆ ของโลก ที่คนอินเดียทั่วไปตื่นตระหนกที่สุด คงเป็นเรื่องขบวนรถไฟ ทั้งรถไฟสายหลักๆ ที่โยงใยแต่ละภาคแต่ละเมืองของอินเดีย และรถไฟฟ้าใต้ดินบนดินที่ทันสมัย (เช่นในกรุงนิวเดลี) ก็จำเป็นจะต้องหยุดให้บริการชั่วคราว เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจประเทศหยุดทำงาน
โชคดีที่ไฟฟ้าในสนามบินต่างๆ ไม่ดับไปด้วย โดยเฉพาะสนามบินนานาชาติอินทิราคานธี ที่กรุงนิวเดลี ที่มีอาคารผู้โดยสารหมายเลข 3 (T3) อันใหญ่โตและทันสมัย ที่สร้างต้อนรับการเป็นเจ้าภาพกีฬา Commonwealth Games ที่อินเดียในปี 2553
ส่วนภาคธุรกิจก็เสียหายอย่างหนัก แม้จะยังไม่มีตัวเลขทั้งหมด แต่ก็คิดดูว่าแค่เพียงรัฐปัญจาบรัฐเดียวก็สูญเสียถึง 1 หมื่นล้านรูปี จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ 2 ครั้งนี้
บทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ คงทำให้รัฐบาลอินเดีย เร่งจัดการบริหารเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ให้ทันกับความต้องการใช้พลังงาน ที่เป็นผลจากการการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศเองและจากการลงทุนจากต่างประเทศ และป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจฟุบตัวไปมากกว่านี้จากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่อินเดียโดนหางเลขไปด้วย
นอกจากนี้ รัฐต่างๆ ที่เร่งแข่งขันพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง เพื่อความมั่งคั่งของประชาชนในรัฐ รวมถึงดึงดูดความเจริญและการลงทุนจากต่างประเทศ ก็คงต้องคิดทบทวนเรื่องแผนพลังงานเสียใหม่ ไม่ให้แพ้รัฐต่างๆ ที่อยู่ทางตอนใต้ที่ไม่ได้ประสบปัญหานี้ หรือแพ้บางรัฐที่มีพลังงานเหลือเฟือเพียงพอขายแก่รัฐเพื่อนบ้าน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ รัฐคุชราต
เรียกได้ว่า ไฟฟ้าดับครั้งนี้ น่าจะเป็นบทเรียนให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของอินเดีย เพื่อทบทวนหน้าที่ของตัวเองให้ดีขึ้น อินเดียจะได้พัฒนาสมกับที่ทั่วโลกหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ต่อไป
โดย
คณิน บุญญะโสภัต
สรวิชญ์ กิ่งสุวรรณกุล
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
*ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 10 ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,765 วันที่ 12-15 สิงหาคม พ.ศ. 2555