ฐานเศรษฐกิจ: มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 45)
ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง
โดย กนกภรณ์ คุณวัฒน์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
โบราณว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” สาวอินเดียจำนวน 591.4 ล้านคนก็รักสวยรักงามกันเป็นเรื่องธรรมชาตินะคะ โดยเฉพาะสาว ๆ ที่มีฐานะดีหรือได้รับการศึกษาจากต่างประเทศมาก็จะให้ความสนใจกับพวกสินค้าเสริมความสวยความงามและจับจ่ายใช้สอยกับสินค้าประเภทนี้กันอย่างไม่อั้น แถมคุณสามีก็มักจะต้องตามใจคุณภรรยากันหน่อยล่ะค่ะ
ตลาดความงามของอินเดียมีขนาดมโหฬาร มีผู้ประกอบการทั้งต่างชาติและอินเดียเองแบ่งเค้กกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เป็นผลให้ชาวอินเดียสามารถหาซื้อสินค้าเสริมความงามยี่ห้อดัง ๆ ของยุโรปและสหรัฐฯ ได้อย่างง่ายดาย แถมราคาสินค้าพวกนี้ราคาถูกกว่าที่เมืองไทย และบางครั้งยังถูกกว่าที่ยุโรปหรือสหรัฐฯ เองเสียอีกค่ะ
ว่าแล้วก็จะขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาของเครื่องสำอางยี่ห้อ Bourjois ซึ่งเป็นเครื่องสำอางของฝรั่งเศส ที่เป็นบริษัทลูกของ Chanel ยี่ห้อนี้จะขายเครื่องสำอางในราคาระดับไม่แพงมากนักซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตในฝรั่งเศสหรือตามร้านขายเครื่องสำอางประเภท Sephora แต่ไม่มีขายที่เมืองไทย แต่ปรากฏว่าเป็นหนึ่งในยี่ห้อเครื่องสำอางที่สามารถหาซื้อได้ง่ายมากที่อินเดีย ไม่ว่าจะเป็นในห้างสรรพสินค้าหรือในร้านขายส่งเครื่องสำอาง แต่ก็ยังไม่เคยได้ซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อนี้เป็นเรื่องเป็นราวที่นี่สักทีเพราะคิดว่าคงต้องแพงกว่าที่ฝรั่งเศสหลายเท่าแน่ ๆ ก็ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเสียไกลขนาดนั้นนี่นา (ปารีส – มุมไบ บินตรงก็ประมาณ 9 ชั่วโมงนะคะ) จนวันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีโอกาสได้ไปปารีสอย่างไม่คาดฝัน ก็เลยวางแผนว่าจะต้องซื้อเจ้ายาทาเล็บยี่ห้อนี้จากที่ปารีสให้ได้ แต่ปรากฏว่าที่ปารีสเจ้ายาทาเล็บขวดเล็ก ๆ นี่ราคาตั้ง 10 ยูโร (ประมาณ 400 บาท หรือ 680 รูปี) แพงกว่าที่คิดไว้เอาการอยู่ แต่ก็ตัดใจซื้อเพราะคิดเอาเองว่ายังไงก็น่าจะถูกกว่าที่อินเดีย เมื่อเดินทางกลับมาที่มุมไบก็ได้ทำการเช็คราคาค่ะ เช็คแล้วแทบจะเป็นลม เพราะว่าที่นี่เจ้ายาทาเล็บขวดเดียวกันนี่ราคาแค่ 380 รูปี (ประมาณ 230 บาท) หรือถ้าซื้อในเว็บก็แค่ 295 รูปี (ประมาณ 180 บาท) เท่านั้นเอง โอ้ววววแม่เจ้า มันผลิตที่ฝรั่งเศสแท้ ๆ แต่ทำไมราคาถึงได้ต่างกันลิบลับ
และแล้วก็เลยถึงบางอ้อว่าทำไมยี่ห้อฝรั่งเศสเล็ก ๆ ยี่ห้อนี้ถึงเป็นที่นิยมและวางขายอยู่ตามห้างร้านของอินเดียทั่วไปได้ ที่แท้ก็เป็นเพราะว่านี่ทางบริษัทได้ปรับราคาขายให้เข้ากับค่าครองชีพของแต่ละประเทศนี่เอง ส่วนยี่ห้ออื่น ๆ ของฝรั่งเศส เช่น Clarins, Lancðme, l’Occitane, Chanel, Yves Saint Laurent และ Make Up Forever ราคาจะใกล้เคียงหรือแพงกว่าที่ฝรั่งเศสนิดหน่อยค่ะ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะต้นทุนสูงกว่าและมีภาพลักษณ์ของยี่ห้อออกแนวไฮโซที่ต้องรักษาระดับเอาไว้ก็เลยต้องพลอยรักษาระดับราคาที่สูงไปด้วย ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้แบรนด์ Make Up Forever ต้องบอกลาตลาดอินเดียไปเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ได้เปิดร้านขายปลีกร้านแรกที่ห้าง Inorbit ชานเมืองมุมไบ เมื่อปลายปี 2553 โดยอีกเหตุผลหนึ่งอาจจะมาจากการที่คู่แข่งเชื้อสายแคนาดาของตน คือ ยี่ห้อ Mac ประสบความสำเร็จในทุก ๆ ที่ในอินเดียที่ได้ไปเปิดร้าน และขายราคาพอ ๆ กับที่แคนาดาซึ่งถูกกว่าเมืองไทยแน่นอนค่ะ แต่แฟน ๆ ของแบรนด์ Make Up Forever ก็ยังสามารถตามซื้อสินค้าที่ตนชอบได้ทางเว็บไซต์ของที่นี่ซึ่งมีระบบการชำระเงินที่สะดวกมาก ๆ เรียกว่า Cash on Delivery หรือ การชำระเป็นเงินสดให้แก่คนที่มาส่งของค่ะ
นอกจากยี่ห้อยุโรปและอเมริกันทั้งหลายแล้ว คงจะลืมพูดถึงเครื่องสำอางของอินเดียเองไม่ได้เชียวนะคะ เพราะว่าคนอินเดียยังไงก็ยังนิยมใช้ของอินเดียมากกว่าของชาติอื่นอยู่แล้ววันยังค่ำ ซึ่งคนไทยเราคงจะรู้จักเพียงแค่ไม่กี่ยี่ห้อ โดยเฉพาะยี่ห้อ Himalaya แต่ก็จะจำกัดอยู่แค่เพียงสินค้าบางประเภท เช่น เจลอาบน้ำ โลชั่นทาตัวหรือยาสระผม ยังไม่เห็นใครเอาเครื่องสำอางของอินเดียยี่ห้ออื่นเข้าไปขายในไทย ทั้ง ๆ ที่ยังมียี่ห้อที่เป็นที่นิยมมาก ๆ ของที่นี่อยู่อีกหลายยี่ห้อด้วยกัน เช่น Biotique, VLCC, Lotus และ Lakmé เป็นต้น ซึ่งจะขอบอกว่าของอินเดียนี่เขาดีจริง ๆ นะคะ ราคาก็ถูกกว่าของยุโรปอเมริกาหลายเท่าตัว แถมยังเน้นพวกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติล้วน ๆ และผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวขาว ที่นี่เค้าก็ชอบเหมือนบ้านเราน่ะค่ะ เอะอะอะไรก็โฆษณาว่าทำให้ผิวขาวไว้ได้ก่อนแล้วจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เอาเป็นว่าต้องขาว และหุ่นเพรียวพอประมาณ ที่นี่เค้าต้องหุ่นมีอันจะกินนิด ๆ นะคะ เพราะว่าถ้าผอมไปเค้าจะคิดว่าป่วย
แต่เห็นมั๊ยคะพี่ไทยกับพี่แขกก็มีค่านิยมคล้าย ๆ กัน แต่ก็น่าแปลกที่ในไทยก็ยังไม่ค่อยมีเครื่องสำอางของอินเดียเข้าไปขาย และที่อินเดียเองก็ไม่มีเครื่องสำอางของไทยมาขายด้วยเช่นกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วภาคเอกชนของทั้งสองประเทศน่าจะใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน – อินเดีย ในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าซึ่งได้มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่ปี 2554 และสินค้าประเภทเครื่องสำอางก็รวมอยู่ในความตกลงนี้ด้วย พูดสั้น ๆ ก็คือ ภาษีศุลกากรระหว่างอินเดียและประเทศอาเซียนสำหรับสินค้าประเภทเครื่องสำอางจะลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ในวันที่ 31 ธ.ค. 2556 นี้ค่ะ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะขอแบ่งเค้กก้อนโตของตลาดความสวยความงามของอินเดียมาบ้างนะคะ แต่คงจะต้องทำการบ้านกันทั้งเรื่องของรสนิยมของชาวอินเดียเกี่ยวกับโทนสี กลิ่น เนื้อของผลิตภัณฑ์ และการนำผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติเข้ามาใช้ให้มากที่สุด หรือถ้านักธุรกิจไทยรายใดใจกล้าจะมาร่วมลงทุนเปิดบริษัทประกอบธุรกิจในสาขานี้กับชาวอินเดียก็ดูท่าจะอนาคตสดใสอยู่ไม่น้อยเชียวนะคะ