การผลิตกระแสไฟฟ้า
การใช้พลังงานนิวเคลียร์และพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าของอินเดีย
ปัจจุบันอินเดียใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนมากถึง 66% และอีกประมาณ 10% ใช้แก๊สธรรมชาติ ซึ่งการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลทั้งสองดังกล่าวแม้จะได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ต่ำและคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ แต่ก็มีจุดอ่อนในแง่ที่ไม่มีเสถียรภาพในด้านราคาและเริ่มมีการขาดแคลนและนับวันจะหมดไป ที่ผ่านมาอินเดียได้พยายามใช้พลังงานทางเลือกอื่นเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานทั้งสองดังกล่าวแล้ว ซึ่งก็ประสบความคืบหน้าพอสมควรแต่ก็ยังมีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าไม่สูงนัก ดังนี้
1. พลังงานนิวเคลียร์ (nuclear power)
อินเดียได้เริ่มก่อตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1964 โดยความร่วมมือจากบริษัท General Electric ของสหรัฐฯ ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จำนวน 2 แห่งที่เมือง Tarapur รัฐมหาราษฏระและต่อมาอินเดียได้ร่วมมือกับบริษัทของแคนาดาก่อตั้งโรงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอีกที่รัฐราชาสถาน โดยขณะนี้หน่วยงานของรัฐชื่อ Nuclear Power Corporation of India Limited (NPCI) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการดำเนินงานในด้านนี้ ที่ผ่านมาอินเดียยังมีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่ต่ำ โดยมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 4.8 กิกะวัตต์ และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 32,455 ล้านหน่วยหรือมีสัดส่วนประมาณ 3.75% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งนี้ NPCI ได้ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในด้านนี้ให้ได้ถึง 63 กิกะวัตต์ภายในปี ค.ศ. 2023 หรือเป็นสัดส่วนประมาณ 9% ของการผลิตไฟฟ้าโดยรวม
ขณะนี้อินเดียมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (pressurized heavy water reactors) จำนวน 18 เครื่อง และจะติดตั้งเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 เครื่องที่มีกำลังการผลิตประมาณ 2.8 กิกะวัตต์ รวมทั้งมีแผนที่จะติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าประเภท fast breeder reactors ที่ใช้พลังงานจากแร่ plutonium เพิ่มขึ้น จากที่ขณะนี้มีอยู่แล้วจำนวน 2 เครื่องที่มีกำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ ที่ตั้งอยู่ในรัฐทมิฬนาฑู ปัจจุบันมีรัฐที่ได้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าแล้ว คือ รัฐมหาราษฏระ คุชราต ราชาสถาน อุตตรประเทศ ทมิฬนาฑู และกรณาฏกะ โดยโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในแต่ละรัฐมีกำลังการผลิตโรงงานละประมาณ 100 - 540 เมกะวัตต์ และขณะนี้อินเดียมีโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอยู่ที่เมือง Jaitapur รัฐมหาราษฏระ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอินเดียกับบริษัท Areva ของฝรั่งเศส แต่การดำเนินการดังกล่าวยังได้รับการต่อต้านจากประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งการต่อต้านคัดค้านมีมากขึ้นภายหลังเหตุการณ์ที่ Fukushima ในญี่ปุ่น
2. พลังงานน้ำ (hydroelectric power)
อินเดียมีศักยภาพสูงในการใช้พลังงานน้ำในการผลิตไฟฟ้าและเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่เริ่มใช้พลังงานน้ำ โดยได้มีการก่อตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำแห่งแรกขึ้นที่เมือง Darjeeling เมื่อปี ค.ศ. 1898 ซึ่งปัจจุบันอินเดียมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำโดยรวมประมาณ 37,367 เมกะวัตต์หรือประมาณ 21.53% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยบริษัทของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเกือบทั้งหมดถึง 97% บริษัทที่รับผิดชอบในด้านนี้ที่สำคัญ อาทิ National Hydroelectric Power Corporation (NHPC) และ Northeast Electric Power Company (NEEPCO) เป็นต้น คาดว่าอินเดียมีศักยภาพที่จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำได้ถึง 84,000 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 60% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ และหากรวมกำลังการผลิตจากแหล่งพลังงานน้ำย่อยอื่นๆ แล้วจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 94,000 เมกะวัตต์ ซึ่งนับว่ามีศักยภาพมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก อย่างไรก็ตาม แหล่งกำเนิดพลังงานน้ำของอินเดียไม่ได้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
3. พลังงานแสงอาทิตย์ (solar power)
อินเดียมีศักยภาพที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เนื่องจากมีพื้นที่รับแสงอาทิตย์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ ปัจจุบัน
รัฐบาลอินเดียมีความกระตือรือร้นในการส่งเสริมให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและใช้ไม่มีวันหมด โดยในปี ค.ศ. 2009 รัฐบาลอินเดียได้เริ่มดำเนินโครงการ Jawahalal Nehru National Solar Mission มีเป้าหมายที่จะผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 1 กิกะวัตต์ภายในปี ค.ศ. 2013 และต่อจากนั้นให้เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเรื่อยๆให้ได้ถึง 22 กิกะวัตต์ และให้มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 20 ล้านตารางเมตรภายในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องก่อสร้าง solar parks เพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ทั้งนี้ ในบรรดารัฐต่างๆ ของอินเดีย รัฐคุชราตมีความกระตือรือร้นมากที่สุดในการใช้ศักยภาพในด้านนี้ โดยได้ออกนโยบาย Solar Power Policy ในปี ค.ศ. 2009 และขณะนี้ได้มีการก่อสร้าง Charanka Solar Park ซึ่งเป็นโครงการ solar park ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฯ โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินโครงการและรัฐฯ เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดหาที่ดินและสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นให้ ซึ่งมีหน่วยงานของรัฐชื่อ Gujarat Power Corporation Limited ดูแลรับผิดชอบการพัฒนา solar parks ให้มีกำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โครงการของรัฐคุชราตส่วนหนึ่งได้รับความสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ด้วย ในการพัฒนาศักยภาพการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดีย การจัดหาที่ดินนับเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งรัฐต่างๆ ได้หาวิธีแก้ไขปัญหานี้ โดยมีข้อเสนอให้ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์อยู่เหนือแนวคลองชลประทาน ซึ่งจะทำให้สามารถลดพื้นที่ที่จะใช้ แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการระเหยของน้ำในคลองชลประทานได้ด้วย
4. พลังงานลม (wind power)
อินเดียใช้พลังงานลมในการผลิตไฟฟ้าพอสมควร โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตประมาณ 15.9 กิกะวัตต์ หรือมีสัดส่วนประมาณ 6% ของการผลิตไฟฟ้าโดยรวมและคิดเป็นขนาดกำลังการผลิตใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก ทั้งนี้ รัฐทมิฬนาฑูเป็นรัฐแรกของอินเดียที่เริ่มพัฒนาการใช้พลังงานลมก่อนรัฐอื่นๆ โดยมีบริษัท Suzlon และบริษัท Vestas ดำเนินการในด้านนี้ที่สำคัญ ขณะนี้รัฐทมิฬนาฑู มีกำลังการผลิตสูงสุดในประเทศ มีสัดส่วนประมาณ 30% ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ รัฐอื่นๆ ที่มีการใช้พลังงานลมมากรองลงมา คือ รัฐมหาราษฏระ คุชราต กรณาฏกะ และราชสถาน คาดว่าภายในปี ค.ศ. 2012 อินเดียจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังลมเพิ่มขึ้นอีก 6 กิกะวัตต์ โดยเชื่อว่ารัฐคุชราตอยู่ในวิสัยที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในด้านนี้ได้สูงที่สุดในประเทศถึงประมาณ 10.6 กิกะวัตต์
5. พลังงานความร้อนใต้พิภพ (geothermal energy)
อินเดียมีศักยภาพที่จะใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพมาผลิตไฟฟ้าพอสมควร แต่การใช้ศักยภาพในด้านนี้ยังมีน้อยมากและอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ประเมินกันว่า อินเดียมีน้ำพุร้อนอยู่จำนวน 340 แห่ง โดยอยู่ในภาคเหนือสูงที่สุดจำนวน 62 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐจัมมูแคชเมียร์ หิมาจัลประเทศ และอุตตรขัณฑ์ นอกนั้นกระจายตัวอยู่ในเขตอื่นๆ อาทิ เขต Aravali Belt ที่ Naga-Lushi, west coast regions และ Son-Narmada lineament, เขต Andaman และ Nicobar, เขต radioactive provinces เช่น จังหวัด Surajkund, Hazaribagh และ Jharkhand และในเขตรัฐคุชราต เป็นต้น ขณะนี้รัฐบาลอินเดียได้มีแผนที่จะตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพแห่งแรกที่เขต Puga ในรัฐจัมมูแคชเมียร์ กำลังผลิตประมาณ 2 – 5 เมกะวัตต์
6. พลังงานคลื่นในทะเล (tidal wave energy)
อินเดียมีศักยภาพในการใช้พลังงานคลื่นในทะเลอยู่สูง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 7,500 กิโลเมตร ซึ่งวิธีการหนึ่งในการใช้พลังงานคลื่นในทะเลเรียกว่า integrated barrage technology โดยการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำในทะเลและติตตั้งเครื่องกังหันน้ำ (turbines) ในบริเวณแหล่งเก็บกักน้ำดังกล่าว แล้วปล่อยให้คลื่นในทะเลไหลผ่านกังหันน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า การใช้วิธีนี้คลื่นในทะเลต้องมีความสูงเฉลี่ย 4 เมตรขึ้นไป ซึ่งในอินเดียบริเวณที่สามารถติดตั้งเทคโนโลยีนี้ได้ดี อาทิ อ่าว Khambhat และ อ่าว Kutch ที่อยู่ชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศที่มีคลื่นสูงประมาณ 8 - 11 เมตร และในเขต Ganges Delta, West Bengal และชายฝั่งรัฐคุชราต คาดว่าอินเดียมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังคลื่นชนิดนี้ประมาณ 8 กิกะวัตต์ แต่วิธีนี้มีข้อเสียที่การติดตั้งมีค่าใช้จ่ายสูงและอาจกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศทางทะเลในบริเวณดังกล่าว ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการดึงพลังงานจากผิวคลื่นมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งวิธีนี้คาดว่าอินเดียมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 40 กิกะวัตต์ แต่ความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ยังต่ำมากและมีผลกระทบต่อการประมงและการแล่นเรือในบริเวณที่ใช้เทคโนโลยีนี้ด้วย
7. ข้อสังเกตและข้อคิดเห็น
การขาดแคลนไฟฟ้านับเป็นปัญหาสำคัญของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินเป็นหลัก ในช่วงที่การผลิตถ่านหินในประเทศมีไม่เพียงพอและราคาถ่านหินที่นำเข้ามีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อินเดียจึงหันไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนหรือลดปริมาณการใช้พลังงานจากถ่านหินได้อย่างสำคัญ ทั้งนี้ การใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ ก็มีข้อจำกัดอยู่ในตัวด้วย อาทิ การใช้พลังงานนิวเคลียร์แม้จะเป็นพลังงานที่ประหยัดและสะอาดกว่าถ่านหิน แต่ก็มีการประท้วงคัดค้านจากนักการเมืองและประชาชนในเขตก่อสร้างโรงงาน เนื่องจากเกรงภัยจากการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ส่วนการใช้พลังงานจากน้ำดูเหมือนจะมีศักยภาพที่จะสามารถขยายตัวได้มากที่สุด แต่แหล่งพลังงานน้ำของอินเดียก็ไม่ได้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ อีกทั้งการดำเนินโครงการจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาการเวนคืนที่ดินและการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ สำหรับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมและพลังงานคลื่นในทะเลยังมีค่าใช้จ่ายต่อหน่วยที่สูงมากและไม่สามารถผลิตได้ในปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม อินเดียจำเป็นที่จะต้องพัฒนาการใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ อย่างจริงจัง เนื่องจากการหวังพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินมากจนเกินไปจะก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการผลิตในประเทศไม่พอเพียงและความไม่มีเสถียรภาพของราคาในการนำเข้า รวมทั้งถ่านหินยังเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ยั่งยืนอีกด้วย
ธีระพงษ์ วนิชชานนท์
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
30 สิงหาคม 2555