กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ INSIDE INDIA ตอน อย่าแค่มองหรือกลัวๆ กล้าๆ
โดย พิศาล มาณวพัฒน์
เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 สิงหาคม 2555
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา บรรดาทูตไทยและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ได้มีโอกาสกลับมาประชุมพร้อมกันที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
นอกจากมารับทราบนโยบายจากฝ่ายการเมืองแล้ว บรรดาทูตและกงสุลใหญ่ยังได้มีโอกาสหารือกับประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารจากสามบริษัทชั้นนำของไทย คือ ปตท. ไทยยูเนียนโฟรเซ่นโปรดักส์ และเอสซีจี
นายธฤต จรุงวัฒน์ ทูตไทยประจำบราซิลเป็นตัวแทนแจ้งผู้นำภาคเอกชนว่า กระทรวงการต่างประเทศและบรรดาทูต/กงสุลใหญ่ทั่วโลกมีบทบาทหน้าที่ด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนเอกชนไทยมาตลอด เหมือนเป็นผู้ถือไม้ผลัดแรกในการเคาะประตู เปิดประตู อำนวยความสะดวก ให้คำแนะนำ ตลอดจนแก้ไขอุปสรรคทางธุรกิจ
คำถามหลักของการประชุมนี้คือ ผู้นำภาคเอกชนมองสถานทูตและบทบาททูตอย่างไร ควรทำงานด้านใดเพิ่มเติม
ผู้นำภาคเอกชนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากได้ข้อมูล ข่าวกรองความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ โอกาสของภาคเอกชนไทย ตลอดจนแนวโน้มทางการเมืองในประเทศที่สถานทูตไทยตั้งอยู่
คุณกลินท์ สารสิน ผู้บริหาร เอสซีจี ได้ลงรายละเอียดในจอภาพบนเวที 1 หน้า อย่างเข้าใจง่าย อาทิ การช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าพบรัฐมนตรี/ บุคคลสำคัญ การให้คำแนะนำเรื่องสิ่งที่พึงทำ/ ไม่ควรทำ โอกาสและความเสี่ยงทางธุรกิจ ข้อมูลภาษีและข้อกฎหมาย ข้อมูลบริษัทที่เป็นตัวเล่นหลัก สถานะความน่าเชื่อถือในแต่ละกลุ่มธุรกิจ วิธีดำเนินธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ รูปแบบการขนส่ง ฯลฯ
จากการประชุมกันในวันนั้น ก็มีความชัดเจนร่วมกันว่า กระทรวงการต่างประเทศ สถานทูตและสถานกงสุลต่างๆ ได้จัดทำข้อมูลข้างต้นเป็นประจำ แต่ยังมีช่องว่างที่ข้อมูลเหล่านี้ยังกระจัดกระจาย ไม่ตรงกับความต้องการรายบริษัท ไปไม่ตรงกับเวลาที่จะใช้
กระทรวงการต่างประเทศและสถาบันหลักของภาคเอกชน คือ สภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ คงจะต้องมาร่วมกันบริหาร จัดระเบียบข้อมูล สร้างจุดนัดพบ และเผยแพร่ข้อเสนอแนะที่คุณกลินท์และบริษัทอื่นๆ ประสงค์ให้บรรดาทูตและกงสุลใหญ่ใช้เป็นพื้นฐานในการทำงาน เพื่อข้อมูลนั้นจะสามารถตอบสนองเอกชนไทยได้ตรงเป้ายิ่งขึ้น
บริษัททั้งสามข้างต้นของไทยมีการลงทุนในแทบทุกมุมโลก ปตท. ลงทุนแล้ว 2.5 แสนล้านบาทในเอเชีย อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และแอฟริกา ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นโปรดักส์ได้ซื้อ/ควบกิจการ /ตั้งโรงงานอาหารทะเลกระป๋องในสหรัฐฯ ฝรั่งเศส แอฟริกา อินโดนีเซีย อินเดีย ปาปัวนิวกินี ส่วน เอสซีจี มีสำนักงานกว่า 22 แห่ง และ 33 สาขาทั่วโลก
ผมจึงถือโอกาสขอร้องบริษัทเอกชนให้ช่วยให้ข้อมูลสถานทูตเป็นประจำถึงสถานะล่าสุดของธุรกิจตนในต่างประเทศ เพื่อจับมือกับทูตไทยในการใช้ประโยชน์จากระบบการเมืองภายในประเทศเหล่านั้น ใช้วุฒิสมาชิก/สส. ในเขตที่ตั้งโรงงาน/สำนักงาน ให้เต็มที่ในการปกป้องผลประโยชน์บริษัทและประเทศไทย
สำหรับอินเดีย ข้อมูล ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวทั้งในส่วนที่เป็นการจับชีพจรเศรษฐกิจอินเดีย ติดตามปัญหาที่เกิด อาทิ เรื่องไฟฟ้าดับครึ่งประเทศ ปัญหาสหภาพแรงงาน และโอกาสช่องทางการทำธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพ นั้น สถานทูตมีเจ้าหน้าที่ประจำติดตาม ปรับเปลี่ยนทุกวันในเว็บไซต์ www.thaiindia.net ที่ได้รับความร่วมมือจากสถานกงสุลใหญ่ สำนักงานส่งเสริมการค้า ททท. ทั่วอินเดีย นอกจากนี้ สถานทูตยังได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาคอยตอบคำถามและแก้ไขปัญหาติดขัดเฉพาะเรื่องให้บริษัทไทยที่เจออุปสรรคในการทำธุรกิจในอินเดียอีกด้วย
สำหรับนักธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจอินเดีย แต่ยังไม่แน่ใจนั้น เพื่อลดความกลัวๆ กล้าๆ สถานทูตจึงได้เตรียมจัดสัมมนาสำหรับระดับผู้บริหารภาคเอกชนไทย ด้วยการนำผู้แทนภาครัฐ ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลจากรัฐคุชราช ซึ่งเป็นรัฐที่สถานทูตประเมินแล้วว่า มีปัจจัยพร้อมในการตอบสนองความต้องการนักลงทุนต่างชาติมากที่สุดรัฐหนึ่ง มาเล่าเรื่องโอกาสการทำธุรกิจในอินเดียและคุชราช ตลอดจนตอบคำถามที่ภาคเอกชนเริ่มทะยอยส่งมาล่วงหน้าแล้วอย่างเต็มที่ ใน วันศุกร์ที่ 14 กันยายน ที่โรงแรมพลาซ่า แอธทินี หากผู้บริหาร ทั้งเถ้าแก่เก่าและเถ้าแก่ใหม่ที่สนใจอินเดีย ยังสามารถแจ้งความจำนงจองที่นั่งได้ที่This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. ส่วนในช่วงบ่าย จะจัดเป็นคลินิกสองต่อสองให้อินเดียพบกับบริษัทเอกชนไทยโดยเฉพาะบริษัทละ 10 นาที ดูเหมือนคลินิกภาคบ่ายจองกันเต็มแล้ว
นอกจากจองที่นั่งการสัมมนาวันที่ 14 กันยายน แล้ว ยังสามารถจองที่ในคณะนักธุรกิจไทยที่ทูตไทยจะพาไปพบกับมุขมนตรี หรือพูดง่ายๆ ว่า นายกรัฐมนตรีของรัฐคุชราชในวันที่ 27-29 กันยายน ศกนี้ นอกจากได้จับมือ พูดคุย ถามคำถามกับมุขมนตรีคนดังของอินเดียอย่างจุใจแล้ว ยังจะมีรายการจับคู่หารือธุรกิจ เยี่ยมชมสถานที่ตั้งโรงงาน ซักถามเรื่องภาษี/เอกสาร ปัญหาร้อยแปดที่นักธุรกิจไทยเป็นห่วงได้อย่างเต็มที่ นักธุรกิจไทยที่สนใจจริงๆ โปรดจองที่ที่มีจำกัดได้ที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. ท่านเพียงรับผิดชอบตั๋วเครื่องบินไปให้ถึงสนามบินอาห์เมดาบัด ซึ่งบริษัทอิตาเลียนไทยเป็นผู้สร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ที่เหลือสถานทูตจะเป็นธุระให้หมด
จบ 2 งานในเดือนหน้านี้ สถานทูตเองก็จะได้ข้อประเมินที่ชัดเจนว่า เอกชนไทยยังกลัวๆ กล้าๆ กับอินเดียมากน้อยเพียงใด และต้องการให้ภาครัฐทำอะไรให้เพิ่มเติม