ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 49)
มองตะวันออก: สายนทีแห่งความสัมพันธ์
ปีนี้อินเดียกำลังเดินหน้าการต่างประเทศอย่างเต็มที่ เน้นความสำคัญกับประเทศอาเซียนโดยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีหลายด้าน ไปจนถึงการพบปะระดับผู้นำ อินเดีย-อาเซียน ปลายปี
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา อินเดียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา ครั้งที่ 6 (6th Mekong-Ganga Cooperation Ministerial Meeting) ที่กรุงนิวเดลี หลังจากห่างหายไปนานถึง 5 ปี
หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงคงคา หรือ MGC คืออะไร ดังนั้น เรามาทำความรู้จักที่มาที่ไปของกรอบความร่วมมือนี้กันสักเล็กน้อยกันก่อน
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงคงคา แน่นอนว่าประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือนี้ ก็จะต้องเป็นประเทศที่มีแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำคงคาไหลผ่าน ซึ่งประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ไทย และอินเดีย ก่อตั้งเมื่อปี 2543 โดยมีอินเดียเป็นผู้ผลักดัน เพราะต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคอาเซียน ตามนโยบายมุ่งบูรพา (Look East Policy) ของตน
อินเดียรับหน้าที่เป็นประธานต่อจากไทยเมื่อปี 2550 หลังจากผ่านไป 5 ปี ในที่สุดก็ได้รื้อฟิ้นความสำคัญของกรอบความร่วมมือนี้อีกครั้ง เพราะอินเดียต้องการเข้าไปมีบทบาทกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงหรือภูมิภาคอาเซียนในภาพรวม ซึ่งกำลังจะกลายเป็นตลาดร่วมเดียวกันในปี 2558 นี้
MGC พยายามไม่ให้เป็นกรอบซ้ำซ้อนกับกรอบอื่น จึงเน้นความร่วมมือในด้านที่มีผลประโยชน์จากปัจจัยแวดล้อมร่วมกัน คือ 1. การท่องเที่ยว 2. สังคมและวัฒนธรรม 3. การศึกษา และ 4. การคมนาคมขนส่ง
โดยผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 6 ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จ มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่าเมื่อ 5 ปีก่อน ทั้งนี้คงเป็นเพราะต่างฝ่ายต่างเห็นผลประโยชน์ข้างหน้าร่วมกันมากขึ้น
ในด้านการท่องเที่ยว ไทยในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวได้เสนอให้มีการจัดทำแพคเกจทัวร์ร่วม เพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลเข้ามายังประเทศในลุ่มแม้น้ำโขง คงคา กันมากขึ้น เป็นผลประโยชน์ร่วมกันแท้จริง เพราะไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศอยู่แล้ว ส่วนแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกก็มีอยู่ใน 6 ประเทศ พร้อมที่จะร่วมกันทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
อินเดียขอรับบทบาทนำในความร่วมมือด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการใช้ภาษาอังกฤษ ความสามารถด้าน IT และความถนัดด้านวิชาชีพต่างๆ จะเป็นรากฐานสำคัญ ทำให้ประชาชนทั้งไทยและเพื่อนบ้านเพิ่มโอกาสของตนในการที่จะได้รับผลประโยชน์จากการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจยิ่งขึ้น
ในด้านการคมนาคมขนส่ง ที่ประชุมให้ความสำคัญกับโครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย – เมียนมาร์ – ไทย ที่จะเชื่อมโยงภาตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มาที่เมืองเมาะลำไย ของเมียนมาร์ และเข้าสู่ประเทศไทยที่บริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยเมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถเชื่อมโยงกับโครงข่ายเส้นทางคมนาคม East – West Economic Corridor จากไทยผ่านพม่า ลาว และไปสิ้นสุดที่เมืองดานังของเวียดนาม
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านถนน ทั้ง 3 ประเทศ ก็ได้พบกันทันทีที่กรุงนิวเดลี เพื่อสรุปสถานะล่าสุดว่าใครจะต้องทำอะไรต่อไป
ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศไทย ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า รัฐบาลไทยสนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวายของเมียนมาร์อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประตูเชื่อมอินเดีย (ผ่านทางท่าเรือเมืองเจนไน และท่าเรืออื่นๆ ในเขตภาคตะวันออกของอินเดีย) กับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงได้อีกทางหนึ่ง อินเดียเองก็กระตือรือร้นที่จะมีบทบาทในการพัฒนาทวายด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ อินเดียในฐานะเจ้าภาพ ได้ผลักดันความร่วมมือสาขาใหม่ 3 สาขา คือ ด้านการบริหารจัดการโรคระบาด ด้านการสนับสนุนธุรกิจ SME และความมั่นคงด้านอาหาร โดยเน้นความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเทคนิดการผลิตข้าว ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศสมาชิก MGC
ไม่แปลกที่อินเดีย จะให้ความสนใจเรื่องข้าวและเสนอความร่วมมือสาขานี้ ปีนี้อินเดียได้กลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก อินเดียเห็นว่าข้าวเป็นเรื่องหลักของภาคเกษตรในทุกประเทศสมาชิก MGC ที่ผูกโยงกับสายน้ำและคะแนนเสียงทางการเมืองอย่างแน่นแฟ้น
เมื่ออินเดียแสดงบทบาทนำชัดเจนเช่นนี้ ก็คงเป็นหน้าที่และการบ้านของกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง/ภาคเอกชนไทย ที่จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนท่าในการมองอินเดียตั้งแต่แง่มุมยุทธศาสตร์ลงไปจนถึงเศรษฐกิจรากหญ้าให้พร้อม
การพัฒนาศักยภาพและความร่วมมือสาขาต่างๆ ของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา เป็นสิ่งที่น่าจับตามองต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งที่จะเปิดเศรษฐกิจของพม่าและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียซึ่งมีความรู้สึกที่ดีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นไทย ลองคิดง่ายๆ ว่า เมื่อถนนหนทางดี สินค้าอุปโภคบริโกคจากไทยจะได้ลูกค้าอีกกี่ล้านคน ภายในการค้าเสรีที่จะเปิดกว้างยิ่งขึ้น
ไม่ใช่แค่สินค้าเท่านั้น เมื่อเกิดร่วมตัวกันของประชาคมอาเซียนในปี 2558 การไหลเวียนโดยเสรีของคนและบริการต่างๆ ก็จะไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่จะไปไกลถึงภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีตลาดกำลังซื้อยักษ์ใหญ่อย่างอินเดีย
พิชญะ สนใจ