ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 50)
การลงทุนในอินเดีย : ภาครัฐปูทางไว้ รอเอกชนไทยสานต่อ
ภาครัฐไทยและอินเดียแสดงความพร้อมเต็มที่ในการปูทางและเปิดโอกาสให้เอกชนไทยไปลงทุนในอินเดีย โดยนับเป็นครั้งแรกที่นำผู้บริหารระดับสูงขององค์กรส่งเสริมการลงทุนอินเดียมาพบกับเอกชนไทยที่จริงจังกับตลาดอินเดียอย่างใกล้ชิด
การสัมมนาในหัวข้อ Doing Business in India : Forum for Thai Executives ที่จัดไปเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2555 ที่กรุงเทพฯ สะท้อนภาพความเอาใจใส่และจริงจังของภาครัฐ เพื่อตอบสนองความกระตือรือร้นของเอกชนไทย โดยบริษัทไทยกว่า 130 รายที่ได้รับการคัดสรรว่ามีแผนการลงทุนที่ชัดเจนและมุ่งมั่นกับตลาดอินเดีย ได้มาร่วมงานรับฟังการบรรยายจากผู้บริหาร Invest India และ iNDEXTb ที่เป็นหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลกลางและรัฐคุชราตตามลำดับ
นอกจากการให้ข้อมูลจากผู้บรรยายจากอินเดียและสถานทูตอินเดียในกรุงเทพฯ ในช่วงเช้าแล้ว ช่วงบ่ายยังเปิดโอกาสให้นักธุรกิจที่เข้าร่วมได้ลงทะเบียนเพื่อหารือตัวต่อตัวกับผู้บรรยาย และพบกับผู้บริหารของทีมประเทศไทยในอินเดีย นำโดยท่านทูตพิศาล มาณวพัฒน์ นายชาญชัย จรัญวัฒนากิจ กงสุลใหญ่เจนไน และนายทอมวิชย์ ชาญสรรค์ กงสุลใหญ่มุมไบ
รูปแบบการสัมมนาที่ลงลึกรายละเอียดเจาะจงรัฐคุชราต ที่เป็นรัฐที่มีศักยภาพใหญ่เป็นอันดับ 5 ของอินเดีย และยังไม่มีนักลงทุนไทยไปตั้งฐานการลงทุนถาวร แถมการเปิดโอกาสให้เอกชนไทยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสอบถามเรื่องลู่ทางการลงทุน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้ประโยชน์ตรงประเด็นและตรงความต้องการ
นอกจากผู้บริหาร/เจ้าของธุรกิจ MSMEs ที่สนใจอินเดียแล้ว บริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่มีฐานในอินเดีย เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บริษัท อิตาเลียนไทยฯ บริษัท พฤกษา ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ และบริษัท ร๊อกเวิร์ธ ก็ได้ส่งผู้บริหารเข้าร่วมด้วย การสัมมนาครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการชี้ช่องโอกาสธุรกิจไทยในอินเดียและรัฐคุชราตเป็นการเฉพาะ แต่ยังรวมถึงการปัดฝุ่นแก้ไขปัญหาขจัดความขัดข้องทางธุรกิจของบริษัทที่ได้มาลงทุนแล้วในอินเดีย
นอกจากนี้ อนาคตของการลงทุนไทยในอินเดียอาจจะมีลู่ทางสดใส เมื่อผู้แทนอมตะ คอร์ปอเรชั่น ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมในช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทีมประเทศไทยในอินเดีย แสดงให้เห็นว่าอินเดียเป็นแหล่งการลงทุนที่ไม่ควรมองข้าม การลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่นั้น สองฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะในรัฐคุชราตที่จะอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ในเรื่องการจัดสรรพื้นที่ให้ และนิคมอุตสาหกรรมอมตะของไทยที่มีชื่อเสียงและมาตรฐานระดับโลกก็จะดึงดูดนักลงทุนและบริษัททั้งไทยและต่างชาติที่เป็นลูกค้าอุ่นใจและตามมาตั้งฐานพร้อมกันในอินเดีย ทั้งนี้ หากนักลงทุนไทยหลากสาขาสามารถเกาะกลุ่มกันเข้าไปลงทุนในลักษณะ cluster ร่วมกันตั้งถิ่นฐานภายในนิคมอุตสาหกรรมที่ชักธงไทย ก็จะได้ประโยชน์มหาศาลกว่าการเข้าไปอย่างโดดเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจการต่อรอง การจัดสรรสร้างสภาวะแวดล้อมให้เข้ากับชีวิตความเป็นอยู่อย่างไทยๆ การสร้างระบบการบริหารจัดการให้เทียบเท่ากับมาตรฐานและความคุ้นเคยของเอกชนไทย
ผลจากการสัมมนาและการพบปะตัวต่อตัวในช่วงบ่าย พบว่า ภาคเอกชนไทยยังต้องทำการบ้านเรื่องตลาดอินเดียมากขึ้น เพราะมีข้อมูลรายละเอียดปลีกย่อยหลากหลาย หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนในอินเดียอย่าง Invest India และ iNDEXTb ก็มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือ ทั้ง Invest India ที่จะช่วยอธิบายนโยบายกฎระเบียบของอินเดียให้ ประสานข้อมูลไปยังรัฐเป้าหมาย แสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจในท้องถิ่น และช่วยเหลือให้ข้อมูลประเด็นต่างๆ เช่น พื้นที่การลงทุน หรือระเบียบต่างๆ ให้เข้าใจ ในขณะที่ iNDEXTb ก็ทำหน้าที่เดียวกัน เพียงแต่จะจำกัดเฉพาะการลงทุนในพื้นที่รัฐคุชราต
ในส่วนของช่องทางการช่วยเหลือนั้นก็มีความสะดวกสบาย ฝ่ายอินเดียได้พัฒนาข้อมูลและระบบออนไลน์ต่างๆ บนเว็บไซต์ของตน และในส่วนของสถานทูตเองก็มีเว็บไซต์ thaiindia.net ที่ให้ข้อมูลนักลงทุนอินเดียอย่างต่อเนื่อง
สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยในอินเดียก็พร้อมให้ความช่วยเหลือและอ้าแขนต้อนรับนักลงทุนไทยไปอินเดีย ซึ่งหลังจากการสัมมนานี้ ทูตไทยก็จะนำทีมนักธุรกิจไปเยี่ยมรัฐคุชราตเพื่อชมศักยภาพของรัฐด้วยตาของตนเอง อีกทั้งยังจะได้มีโอกาสย้ำถึงความจริงจังของธุรกิจไทยที่มีต่อรัฐคุชราต กับมุขมนตรีที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐด้วย
สิ่งที่หน่วยงานอินเดียต้องการความชัดเจนจากภาคเอกชนที่กำลังจะเริ่มเข้าไปในอินเดียในขณะนี้ คือแผนการลงทุนที่ชัดเจน มีการระบุถึงแผนการจัดตั้งโรงงาน พื้นที่และปัจจัยพื้นฐานของโรงงาน สินค้าที่จะผลิต ต้องการสร้างหุ้นส่วนกับธุรกิจอินเดียประเภทไหน อย่างไร และมีแผนการจ้างงานอย่างไรบ้าง เพื่อที่หน่วยงานอินเดียที่ให้ความช่วยเหลือ จะได้วางแผนและแนะนำให้ตรงจุด ทั้งเรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานในอินเดีย แนะนำหุ้นส่วนอินเดียที่เหมาะสม และช่วยเหลือเรื่องการขอวีซ่า ที่ในส่วนหลังนี้ สถานทูตอินเดียในไทยจะช่วยพิจารณา
ภาครัฐสองฝ่ายได้ทำหน้าที่เต็มที่เพื่อเตรียมความพร้อมแก่การลงทุนของเอกชนไทยในอินเดีย ซึ่งจะต้องมีปัจจัยที่ดี 5 ด้านเป็นสำคัญ ที่ทูตไทยได้สรุปในช่วงท้ายของการบรรยาย ได้แก่
Good Understanding ความเข้าใจในอินเดีย ซึ่งหน่วยงานรัฐไทยและอินเดียได้พยายามอย่างเต็มที่ในการให้ข้อมูล เช่นการสัมมนานี้ที่สถานทูตเป็นหัวแรงหลักในการจัดให้ข้อมูลแก่เอกชนที่สนใจ รวมทั้งการให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องบน thaiindia.net
ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเก่าๆ ในแง่ลบที่มีต่อคนอินเดีย ความเข้าใจที่ดีจะเป็นรากฐานในการลงทุนที่จะประสบความสำเร็จที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นและไว้เนื้อเชื่อใจกัน
Good heart การตั้งใจดีที่จะมาลงทุนที่อินเดีย โดยการนำระบบธรรมาภิบาลมาใช้ และระบบธุรกิจที่ดีที่จะเป็นประโยชน์แก่อินเดียด้วย
Good partner พันธมิตรท้องถิ่นที่ดีที่คอยช่วยเหลือและชี้ช่องการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
Good lawyer ที่ปรึกษาด้านกฎหมายที่จะช่วยให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องกฎระเบียบการลงทุน ภาษี
และสุดท้ายที่สำคัญและขาดไปไม่ได้คือ Good luck เพราะไม่ว่าจะไปลงทุนที่ไหน ก็ต้องพร้อมเผชิญกับความท้าทาย แต่ขอให้คำนึงว่า หน่วยงานรัฐพร้อมสนับสนุนเอกชนทุกท่านเสมอ
คณิน บุญญะโสภัต