ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 51)
ยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่อินเดีย (ต่อ) : ใช้อาหารเจเป็นกุญแจ
เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวว่า รัฐบาลเตรียมอัดฉีดเม็ดเงินให้สถานทูตไทยในประเทศเป้าหมาย นำไปโหมจัดเทศกาลอาหารไทยและโครงการส่งเสริมอาหารไทย เพื่อสร้างกระแสความนิยมอาหารไทยกันอย่างคึกคัก โดยอินเดียก็เป็นตลาดอีกแห่งหนึ่งที่กระทรวงการต่างประเทศต้องการผลักดันให้อาหารไทยบุกเข้าไป เพราะเป็นตลาดที่มีประชากรมากกว่า 1,200 ล้านคน
แต่ท่านผู้อ่านคงยังพอจำบทความ “ยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่อินเดีย : ต้องเชียร์ให้ร้านหรูใช้เชฟไทยก่อน” ที่ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์นี้เมื่อประมาณสองเดือนก่อนได้ ที่สถานทูตไทยในอินเดียได้เชิญพ่อครัวแม่ครัวไทยในนิวเดลีมาช่วยไขข้อข้องใจว่า เหตุใดอาหารไทยที่เป็นที่นิยมของคนทั่วโลกกลับยังไม่ประสบความสำเร็จในประเทศอินเดีย
พ่อครัวแม่ครัวไทยฝีมือดีกลุ่มนี้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พฤติกรรมการบริโภคของชาวอินเดียที่ทานอาหารท้องถิ่นซ้ำๆ จำเจและชาวอินเดียจำนวนมากเป็นมังสวิรัติ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางศาสนาหรือทางสังคม ทำให้อาหารไทยที่มีรสจัดจ้าน เน้นเนื้อสัตว์และมีน้ำปลาเป็นส่วนประกอบหลักยังไม่เป็นที่นิยม แม้จะมีเศรษฐีใหม่อินเดียจำนวนไม่น้อย ที่พร้อมจะออกไปลองทานอาหารต่างชาตินอกบ้าน แต่ก็ยังจำกัดการรับประทานอยู่ที่อาหารเจ
แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าอาหารต่างชาติไม่มีโอกาสในตลาดอินเดีย เพราะถ้าดูตัวเลขคนกินมังสวิรัติในอินเดียที่มีอยู่กว่าครึ่งของประชากร จะเห็นว่าตลาดอาหารมังสวิรัติเป็นตลาดขนาด 600 ล้านคน จึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพและน่าสนใจไม่ใช่น้อย ครัวต่างชาติหลายแห่งมองเห็นโอกาสตรงนี้มานานแล้ว โดยเฉพาะร้านอิตาเลียนและร้านอาหารจีน ซึ่งได้คิดค้นเมนูมังสวิรัติและปรับรสชาติและสูตรให้ถูกปากคนอินเดีย จนตอนนี้กลายเป็นอาหารต่างชาติยอดฮิตของคนอินเดีย กอบโกยกำไรกันเป็นการใหญ่
แม้แต่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังอย่าง McDonald’s ซึ่งปัจจุบันถือว่ามีสาขาน้อยมากในอินเดีย (ประมาณ 270 สาขา) ยังเตรียมจะบุกตลาดคนไม่กินเนื้อสัตว์อย่างจริงจัง โดยเตรียมจะเปิดสาขา McDonald’s ที่เสิร์ฟอาหารเจอย่างเดียวเป็นครั้งแรกในเมืองอมริตสาร์ รัฐปัญจาบ เร็วๆ นี้
เห็นเช่นนี้แล้ว ภาครัฐไทยที่ต้องการส่งเสริมอาหารไทยในอินเดียก็คงต้องให้ความสำคัญกับตลาดอาหารเจในอินเดียเป็นพิเศษ และต้องพยายามตอบโจทย์ให้ได้ว่า ทำอย่างไรถึงจะคิดค้นและปรับสูตรอาหารไทยให้เป็นมังสวิรัติที่มีรสชาติกลมกล่อมเข้าตากรรมการ MasterChef อินเดีย เช่นเดียวกับครัวอิตาเลียนและครัวจีนได้
และเพื่อจะตอบโจทย์ที่สำคัญนี้ สถานทูตไทยมีไอเดียที่จะจับมือกับสถาบันทำอาหารชื่อดังของไทยในการค้นคว้าและคิดค้นเมนูอาหารมังสวิรัติไทยจานเด็ด ที่จะยังคงความเป็นไทยไว้ แต่หากคนอินเดียได้ลิ้มรสเมื่อไหร่แล้วจะต้องติดใจ สามารถทำให้อาหารไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการบริโภคของคนอินเดียที่มีกะตังค์ เช่นเดียวกับอาหารไทยในยุโรปให้ได้
เมื่อได้เมนูจานเด็ดเหล่านี้มาแล้ว สถานทูตถึงจะเชิญพ่อครัว/แม่ครัวฝีมือดีมาร่วมเดินสายจัดงาน Thai Vegetarian Food Festival ไปยังรัฐใหญ่ๆ ที่เป็นเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นนิวเดลี รัฐคุชราต รัฐอานธรประเทศ หรือ รัฐทมิฬนาดู ลงมือทำเมนูเด็ด ขายแขกอินเดียในร้านอาหารหรูตามโรงแรม 5 ดาว สักประมาณ 3 เดือน เพื่อสร้างกระแสและทำให้อาหารมังสวิรัติไทยติดลมบน
งานนี้ นอกจากจะเป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่โลกในบริบทของอินเดียอย่างตรงเผ็งแล้ว สถานทูตยังมองไปไกลให้ผู้ประกอบการส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารไทยได้อานิสงส์ เพราะเมื่ออาหารไทยติดตลาด ก็ไม่แคล้วที่คนอินเดียจะวิ่งขวักไขว่หาวัตถุดิบมาทำอาหารไทยกัน พ่อครัวและแม่ครัวไทยจะเป็นที่ต้องการและน่าจะมีโอกาสหางานรายได้ดีๆ ได้ไม่ยาก
แม้อาหารมังสวิรัติเชิงพาณิชย์อาจจะยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทย เพราะส่วนใหญ่เราจะคุ้นเคยกับเทศกาลกินเจที่ปีหนึ่งมีอยู่ไม่กี่วัน แต่ขณะนี้อาหารมังสวิรัติเป็นเทรนด์ใหม่ของคนรักสุขภาพอาหารชีวจิตเริ่มได้รับความสนใจกันมากขึ้นในประเทศไทย แสดงว่า อาหารไทยก็มีศักยภาพที่จะเป็นอาหารมังสวิรัติที่อร่อยและสามารถเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ ทั้งในไทยและในต่างประเทศ หากมีการศึกษาและวิจัยทางการตลาดที่ดี
ผู้อ่านท่านใดสนใจและกำลังมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจอาหารไปยังตลาดใหม่ๆ ขอแนะนำว่า ตลาดอินเดียเป็นตลาดที่น่าสนใจไม่แพ้ประเทศไหน ไม่ว่าจะด้วยจำนวนประชากร หรือแม้แต่ค่าครองชีพและแรงงานที่ถูกกว่าประเทศไทย ขอให้ติดตามคอลัมน์ของเราและเว็บไซต์ thaiindia.net ทีมงานของเราจะนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มารายงานให้ท่าน ทราบกันต่อไป
ประพันธ์ สามพายวรกิจ