ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 52)
เปิดเสรีแดนภารตะ : โอกาสและความท้าทาย
ศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์
เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียของนายกมานโมฮัน ซิงห์ ประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ คือการเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกแบบหลายแบรนด์ ให้ต่างชาติถือหุ้นได้ร้อยละ 51 ในจังหวะที่รัฐบาลต้องฝ่ามรสุมการเมือง เผชิญวิกฤตเสื่อมศรัทธาจากปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่นักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลหลายคนถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพัน โดยหวังว่าการกำหนดใช้นโยบายนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และช่วยกอบกู้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่มีพรรคคองเกรสแห่งตระกูลคานธีเป็นแกนนำ
นโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจครั้งนี้จะพลิกฟื้นสถานะทางการเมืองของรัฐบาลอินเดียได้หรือไม่ และโอกาสของไทยอยู่ที่ไหน
อินเดียเริ่มเปิดเสรีธุรกิจบางสาขาในระยะหลัง แต่ก็เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์และเงื่อนไข กับทั้งยังไม่ใช่ธุรกิจสาขาใหญ่ การเข้ามาเจาะตลาดอินเดียในด้านธุรกิจค้าปลีกแบบหลายแบรนด์ เป็นที่จับจ้องของต่างชาติมานาน ไม่ว่าจะเป็น Walmart ของสหรัฐฯ หรือ Carrefour ของฝรั่งเศส ที่เตรียมพร้อมจ่อคิวเข้าไปทำธุรกิจค้าส่งรออยู่ก่อนแล้ว รัฐบาลเอง ก็ร่ำๆ จะประกาศใช้นโยบายนี้มาหลายครั้ง แต่ต้องถอย เพราะฝ่ายค้าน ค้านแบบหัวชนฝา
ครั้งนี้ก็เช่นกัน ทันทีที่รัฐบาลประกาศนโยบาย มีกระแสต่อต้านจากพรรคฝ่ายค้าน BJP และพรรคพันธมิตรบางพรรค ถึงขนาดถอนตัวจากรัฐบาลผสม และมีการก่อการประท้วงกลางเมือง โดยมีเหตุผลว่า จะกระทบพ่อค้ารายย่อยชาวอินเดียนับล้าน
ไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วย ผู้อาวุโสในสังคมระดับอดีตผู้พิพากษาศาลสูงก็ออกมาเขียนบทวิจารณ์ทางสื่อว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องดีต่อระบบเศรษฐกิจอินเดีย แต่เป็นประโยชน์กับเอกชนต่างชาติมากกว่า และให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า โลกาภิวัฒน์ และระบบทุนนิยมไม่มีทางช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของอินเดีย กลับยิ่งจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้นด้วยซ้ำ ข้ออ้างที่ว่า อินเดียต้องการเงินลงทุนจากต่างชาติก็ไม่เป็นความจริง เพราะมีหลักฐานปรากฏว่า บริษัทชั้นนำ 5 แห่งมีเงินทุนอยู่กว่า 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่รัฐบาลกลับอนุญาตให้นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ ส่วนที่รัฐบาลบอกว่า การเปิดเสรีค้าปลีก จะทำให้ผลผลิตการเกษตรจะได้ราคาดีขึ้น ก็มีตัวอย่างชัดๆ ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ Walmart ขายอยู่ทั่วโลก 90% เป็นสินค้าราคาถูกจากจีน ถ้าทำแบบนี้ในอินเดีย ไม่เป็นผลดีแน่ๆ แม้แต่ Walmart ในนิวยอร์ก ก็โดนปิดไปแล้ว
แต่ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านมากแค่ไหน รัฐบาลอินเดียก็คงถอยหลังไม่ได้แล้ว เพราะจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอย่างมาก นายกมานโมฮันพยายามทำความเข้าใจกับสังคม และได้แถลงต่อประชาชนทางทีวีซึ่งหลายปีจะมีสักครั้งว่า ประโยชน์การเปิดเสรีค้าปลีกมีมากมาย ทั้งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถดถอย ช่วยทำให้ GDP เติบโตตามเป้า แก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพราะเม็ดเงินลงทุนที่จะไหลมาเทมา ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรได้ราคาดีขึ้น เพราะขายตรงให้เจ้าของธุรกิจค้าปลีกได้ ที่สำคัญ เทคโนโลยีที่จะช่วยเก็บรักษาผลผลิตการเกษตรก็จะตามมา (ปัจจุบัน จากปริมาณผักผลไม้ 230 ล้านตัน มีการเน่าเสียถึง 20-40%) การจ้างงานก็จะมากขึ้น ผู้บริโภคเองก็จะซื้อสินค้าที่ถูกลง เศรษฐกิจที่ดีขึ้นของอินเดีย ย่อมหมายถึงการพัฒนาทางสังคมด้านอื่นๆ ที่จะตามมา
ที่สำคัญ รัฐบาลไม่ได้เปิดเสรีแบบหลับหูหลับตา นาย P. Chidambaram รัฐมนตรีคลังยืนยันว่า รัฐบาลได้ไตร่ตรองแล้วโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก รัฐบาลได้วางเงื่อนไขอย่างรอบคอบว่า จะเปิดเสรีเฉพาะในเมืองที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 1 ล้านคน และบริษัทต่างชาติต้องลงทุนอย่างน้อย 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ต้องใช้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ห้องเย็น โกดังสินค้า การขนส่ง และต้องซื้อวัตถุดิบ/ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างน้อย 30% แถมยังเปิดช่องให้รัฐที่ไม่พร้อม สามารถเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ได้
ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอินเดียต่างขานรับและเชียร์นโยบายเปิดเสรีนี้เต็มที่ เพราะเห็นว่าจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุน และเป็นการส่งสัญญาณที่ถูกทางต่อประชาคมโลก ฝ่ายเกษตรกรเองก็ดูจะสนับสนุนสุดตัว เพราะเหนื่อยหน่ายกับระบบพ่อค้าคนกลาง นาย P. Chengal Reddy เลขาธิการสมาคมเกตรกรแห่งชาติบอกว่า อินเดียมีเกษตรกร 600 ล้านคน ผู้บริโภค 1,200 ล้าคน และพ่อค้า 5 ล้านคน งานนี้ ผู้ได้รับประโยชน์เต็มๆ คือ เกษตรกรและผู้บริโภค
ความจริง ไม่ใช่แต่เฉพาะธุรกิจค้าปลีกเท่านั้นที่รัฐบาลเปิดเสรี ก่อนหน้าการประกาศนโยบายนี้เพียง 1 วัน รัฐบาลก็ได้ประกาศลดการอุดราคาน้ำมัน เพราะแบกรับไม่ไหว ถ้าไม่ลด ปีนี้ รัฐบาลต้องจ่ายถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนั้น ยังมีการเปิดเสรีธุรกิจการบิน โดยให้บริษัทต่างชาติถือหุ้นได้ร้อยละ 49 แต่มีเงื่อนไขให้ บริษัทนั้นต้องจดทะเบียนในอินเดีย ผู้บริหาร 2 ใน 3 ต้องเป็นชาวอินเดีย และบริษัทต่างชาติต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานความมั่นคง และเปิดเสรีธุรกิจสื่อสารมวลชน ขยายอัตราการถือหุ้นโดย บริษัทต่างชาติจาก 49% เป็น 74%
รัฐบาลกำลังรอจังหวะประกาศการปฏิรูปเศรษฐกิจสาขาใหญ่อื่นๆ อีก โดยเฉพาะสาขาโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่ากว่า 334 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่รัฐบาลเตรียมจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสาขาการประกัน ที่จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจากต่างชาติ จาก 26% เป็น 49%
เมื่อเร็วๆ นี้ เซ็นทรัลกรุ๊ปประกาศกำเงิน 2-3 หมื่นล้าน บุกตลาดค้าปลีก ขยายตลาดในสหรัฐฯ ยุโรปและเอเชีย เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ เซ็นทรัลเคยชิมลางเข้าไปดูตลาดอินเดีย แต่ไม่สามารถฝ่าด่านมาตรการปกป้องตลาดของอินเดียได้ ตอนนี้ คงถึงเวลาแล้วที่เอกชนรายใหญ่ หรือเจ้าพ่อค้าปลีกของไทย จะหันกลับไปมองอินเดียอีกครั้ง หากเปิดเองไม่ได้ ก็น่าจะจับจองพื้นที่บนชั้นวางสินค้าโดยจับมือกับพันธมิตรรายใหญ่ไว้ก่อน
ผู้ผลิตไทยก็ควรศึกษาและใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียที่มีผลใช้แล้วให้เต็มที่ ดูว่าสินค้าตัวไหนอยู่ในรายการลดภาษี และหาทางส่งไปขึ้นห้างในอินเดีย ซึ่งคงต้องหาทางแข่งขันกับสินค้าราคาย่อมเยาจากเมืองจีน ซึ่งได้ทำให้จีนได้ดุลการค้ากับอินเดียอย่างมากแล้ว