ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 53)
รัฐคุชราตกับยุทธศาสตร์สองอินเดีย
รัฐคุชราตอีกแล้ว...หลายท่านอาจจะสงสัยว่า อะไรๆ ก็รัฐคุชราต มันมีอะไรดีนักหนาหรือถึงพูดถึงกันบ่อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมประเทศไทยในอินเดียที่ได้นำเสนอเรื่องราวและโอกาสในรัฐคุชราตผ่านสื่อมาตลอดในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา อันนี้ก็ต้องขอเรียนให้ทราบแบบภาษาโฆษณาว่า “ของเขาดีจริงๆ”
ชื่อรัฐคุชราตเริ่มเป็นที่รู้จักคุ้นเคยมากขึ้นหลังจากที่ทีมประเทศไทยในอินเดียนำโดยท่านพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำอินเดียนำร่องเดินทางไปสำรวจรัฐคุชราตระหว่างวันที่ 13-18 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมาและปรากฏว่าได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและสมเกียรติจากรัฐคุชราตทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยคณะทีมประเทศไทยได้รับเกียรติให้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับท่านนเรนทรา โมดี มุขมนตรีคนเก่งของรัฐคุชราตที่มองเห็นศักยภาพของประเทศไทยและอยากจะให้นักธุรกิจไทยเข้าไปทำการค้าและลงทุนในรัฐคุชราตเป็นอย่างมาก
หลังจากที่คณะทีมประเทศไทยเดินทางนำร่องไปสำรวจลู่ทางการค้าและการลงทุนที่รัฐคุชราตในครั้งนั้นแล้ว ก็ได้มีข้อสรุปร่วมกันว่ารัฐคุชราตเป็นรัฐที่มีความพร้อมที่สุด มีศักยภาพมากที่สุด และมีโอกาสมากที่สุดสำหรับนักธุรกิจไทยที่สนใจจะไปทำการค้าและการลงทุนในประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภค ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ไม่มีปัญหาด้านแรงงาน ไม่มีปัญหาเรื่องที่ดิน และที่สำคัญไม่มีปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้าเหมือนรัฐอื่นๆของอินเดีย ก็ต้องขอเรียนว่ารัฐคุชราตเป็นรัฐที่สมบูรณ์แบบมากๆสำหรับนักธุรกิจไทยที่จะใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าตลาดอินเดีย
นี่จึงเป็นที่มาของการนำทัพนักธุรกิจไทยบุกรัฐคุชราตเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยในส่วนของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้นำคณะนักธุรกิจไทย ภายใต้โครงการ Internationalization หรือโครงการนำนักธุรกิจไทยสู่สากล จำนวน 11 บริษัทเดินทางไปสำรวจและเจรจาธุรกิจกับนักธุรกิจอินเดียในรัฐคุชราตระหว่างวันที่ 23-29 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา โดยไปเริ่มต้นที่เมืองมุมไบ เมืองหลวงของรัฐมหาราษฏระและบินต่อไปยังเมืองสุราต ซึ่งเป็นเมืองทางใต้สุดของรัฐคุชราตติดกับรัฐมหาราษฏระ แล้วเดินทางขึ้นไปทางเหนือด้วยรถยนต์บนถนนไฮเวย์อย่างดีไปยังเมืองวาโดดารา และไปสมทบกับคณะนักธุรกิจไทยอีกคณะหนึ่งซึ่งนำคณะโดยท่านพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำอินเดียที่เมืองอาห์เมดาบาด ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากรัฐคุชราตและมีโอกาสได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับท่านนเรนทรา โมดี มุขมนตรีของรัฐคุชราตอีกด้วย
ตลอดการเดินทางในรัฐคุชราตตั้งแต่เมืองสุราต เมืองวาโดดารา ไปจนถึงเมืองอาห์เมดาบาด คณะนักธุรกิจไทยได้มีโอกาสสำรวจสภาพภูมิประเทศ สภาพตลาด ตลอดจนได้มีโอกาสพบปะเจรจากับนักธุรกิจอินเดียกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหอการค้าในแต่ละเมืองได้จัดทำนัดหมายไว้ให้ตรงตามประเภทธุรกิจของไทยที่ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ และหลังการพบปะเจรจากันแล้วก็มีการนัดหมายและเชิญไปเยี่ยมบริษัทของนักธุรกิจอินเดียต่อทันที ทำให้คณะนักธุรกิจไทยได้เห็นความกระตือรือร้นในการทำการค้าของนักธุรกิจอินเดียที่ให้ความสำคัญกับนักธุรกิจไทยแบบคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว
จากการพูดคุยกับคณะนักธุรกิจไทยหลังจากเสร็จสิ้นโครงการนี้ พบว่านักธุรกิจไทยบางรายตอบด้วยความมั่นใจว่ามีความคิดที่จะเข้าไปลงทุนในรัฐคุชราตเพื่อผลิตสินค้าสำหรับจำหน่ายในประเทศอินเดีย บางรายมองเห็นโอกาสที่จะซื้อวัตถุดิบจากรัฐคุชราตไปผลิตสินค้า บางรายอาจจะซื้อสินค้าจากรัฐคุชราตส่งไปจำหน่ายในประเทศที่สาม และสุดท้ายที่คณะนักธุรกิจไทยกลุ่มนี้ตอบตรงกันก็คือ เรามาถูกทางแล้วและจะต้องกลับไปรัฐคุชราตอีกในเร็ววันนี้ เนื่องจากต้องกลับไปเจรจาเพื่อสานต่อธุรกิจกับเครือข่ายธุรกิจที่ได้พบปะเจรจากันในการเดินทางไปเยือนรัฐคุชราตในครั้งนี้
ผลจากการจัดโครงการนำคณะนักธุรกิจไทยเดินทางไปเจรจาธุรกิจในรัฐคุชราตในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการตอบโจทย์เรื่อง “ยุทธศาสตร์ 2 อินเดีย” ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในอินเดียทั้งสามแห่งได้ใช้เป็นแผนที่นำทางในการบุกตลาดอินเดียอยู่ในขณะนี้ นั่นคือ การมองอินเดียเป็นแหล่งวัตถุดิบของไทยและในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งรายได้ของประเทศไทยอีกด้วย โดยอินเดียในฐานะเป็นแหล่งรายได้ของประเทศไทย จะแบ่งตลาดออกเป็น 2 อินเดีย คือ ตลาดอินเดียระดับบน ซึ่งนิยมแบรนด์ไทยและความเป็นไทย เรายังสามารถส่งออกสินค้าไทยไปได้ ส่วนตลาดอินเดียระดับทั่วไป การส่งออกสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคอาจจะค่อนข้างลำบากเพราะต้องแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในประเทศอินเดีย จึงต้องเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าในอินเดียและจำหน่ายในประเทศอินเดียเลยจึงจะสามารถแข่งขันได้ ซึ่งนักธุรกิจไทยที่เดินทางร่วมคณะในครั้งนี้ก็ได้เริ่มมองเห็นแนวทางและรูปแบบธุรกิจนี้แล้ว
“ยุทธศาสตร์ 2 อินเดีย” จึงเป็นอะไรที่มากกว่าการส่งออกสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเรื่องการนำเข้าและการลงทุนอีกด้วย ซึ่งเท่าที่ดูทั่วทั้งประเทศอินเดีย “รัฐคุชราต” เป็นรัฐแรกที่เรามองเห็นได้ชัดว่าจะสามารถตอบโจทย์เรื่องยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของไทยได้ดีที่สุด...มาจนถึงขนาดนี้ ก็คงไม่ต้องลังเลใจกันแล้วครับ
--------------------------------
อดุลย์ โชตินิสากรณ์
ผู้อำนวยการอาวุโส
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
12 ตุลาคม 2555