ฐานเศรษฐกิจ : มองอินเดียใหม่ (ตอนที่ 54)
จะบุกตลาดอินเดีย ? เอกชนและรัฐจะต้องขับเคลื่อนพร้อมๆ กัน
งาน Indo-German Urban Mela ที่กรุงนิวเดลี ภาพโดย ประพันธ์ สามพายวรกิจ
อากาศเย็นลง ก็ถึงเวลาเข้าช่วงเทศกาลในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเทศกาล “นวราตรี” Navratri ช่วงบูชาพระแม่กาลี และรวมทั้งปางอื่นๆ เช่นพระแม่ลักษมี และพระแม่สุรัสวดี 9 คืนติดต่อกัน ตบท้ายในวันที่ 10 ด้วยวันดุชเชร่าห์ Dusshera เฉลิมฉลองชัยชนะของพระราม (ความดี) เหนือทศกัณฑ์ (ความชั่ว) ต่อไปถึงเทศกาล Diwali ที่คนอินเดียจะจับจ่ายซื้อของขวัญให้ญาติสนิทมิตรสหายอย่างไม่อั้น
อากาศดีๆ อย่างนี้ ไม่มีเพียงชาวอินเดียเท่านั้นที่ฉวยโอกาสจัดงาน ฝรั่งในอินเดียก็เฝ้ารอให้ถึงช่วงฟ้าฝนเป็นใจ จัดงานใหญ่ประกาศศักดาของประเทศตน และในปีนี้ ชาวเดลี มุมไบ เจนไน บังกาลอร์ และอีกหลายๆ เมือง มีโอกาสเข้าร่วมงานสนุกๆ ที่ประเทศตะวันตกสองประเทศจัดขึ้นมาให้คนอินเดียเข้าชม ฟัง เล่น ชิม และสัมผัส กันถึงสองงาน คือ งาน Indo-German Urban Mela ซึ่งเป็นไฮไลท์ของปี “Infinite Opportunities: Germany and India 2011-2012” เฉลิมฉลองการครบรอบ60 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตเยอรมนี-อินเดีย อีกงานหนึ่งคืองาน “Oz Fest – Australia Unlimited” เปิดตัวงานพร้อมๆ กับการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการของนางสาวจูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีออสซี่
เข้าไปดูเว็บไซต์ของทั้งสองงานนี้แล้วต้องทึ่งกับความคิด วิสัยทัศน์ และความเตรียมพร้อมของทั้งสองประเทศ เพราะเวลาเขาจะบุกตลาดอินเดีย เขาจะมาพร้อมกันอย่างแข็งแกร่ง ภาครัฐและเอกชนจับมือกันอย่างสามัคคีกลมเกลียว แถมใจดีเปิดโอกาสให้บริษัทอินเดียเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนจัดงานด้วย เน้นย้ำความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เท่าเทียมกันและใกล้ชิด
งาน Indo-German Urban Mela นั้น มีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีเป็นตัวตั้งตัวตี ร่วมมือกับคณะกรรมการธุรกิจเยอรมนีในเอเชียแปซิฟิก กระทรวงการศึกษา สถาบันเกอร์เต่ และบริษัทชั้นนำเช่น Bosch, Siemens, Deutsche Bank และบริษัทประกันลูกครึ่งอินเดีย-เยอรมนี Bajaj Allianz ผู้จัดงานดังกล่าวต้องการถ่ายทอดให้คนอินเดียเห็นว่า ทั้งเยอรมนีและอินเดียกำลังมีประสบการณ์และปัญหาที่เหมือนๆ กัน โดยหยิบยกเรื่องการเติบโตของเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชน การใช้พลังงาน การวางผังเมืองให้ประชากรสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า ทั้งนี้ทั้งนั้น เยอรมนีมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่นำสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมสนับสนุนการพัฒนาชุมชนเมืองแบบยั่งยืน และวิธีคิดอย่างนี้สามารถนำมาใช้กับการพัฒนาสังคมเมืองในอินเดียได้เช่นกัน เห็นได้ว่า แผนรุกของเยอรมนีคือ นอกจากต้องการเข้าถึงและได้ใจคนอินเดียด้วยการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดของเยอรมนีแล้ว เขาต้องการขายเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ชาวเมืองของอินเดีย ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมผู้บริโภคที่มีกำลังการซื้ออันมหาศาลของโลกในศตวรรษนี้
มาถึงงาน Oz Fest งานนี้ ออสเตรเลียเจ้าบุญทุ่ม พยายามกอบกู้ภาพลักษณ์ของตนหลังจากมีข่าวด้านลบเรื่องการทำร้ายร่างกายนักศึกษาอินเดียในออสเตรเลีย ซึ่งได้สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวอินเดียทั้งประเทศ จึงมีการรวมทัพระหว่างภาครัฐและเอกชนกว่า 24 องค์กร เนรมิต Oz Fest ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายสร้างภาพลักษณ์ของออสเตรเลียให้คนอินเดียเห็นว่าเป็นประเทศที่มีไมตรีจิตรที่ดี คนออสซี่เปิดกว้างต่อโลกภายนอก สนุกสนาน วัฒนธรรมออสเตรเลียมีสีสันต์และความหลากหลาย เขาเชื่อว่า การสร้างความสัมพันธ์ให้ประชาชนทั้งสองประเทศมีความเข้าใจที่ดีซึ่งกันและกัน จะเป็นรากฐานไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจ วิทยาศาสตร์และการวิจัย การศึกษา ฯลฯ
โชคดีที่มีรายการคุณภาพอย่าง Masterchef Australia มาทำให้ผู้ชมในอินเดียติดกันงอมแงมทั้งประเทศ รัฐบาลออสซี่หัวใส ออกค่าตั๋วเครื่องบินให้นายจอร์จและแกรี่ ดาราเชฟและพิธีกรยอดนิยมของรายการ มาพบแฟนๆ ในซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำของอินเดีย แถมมีการเปิดตัว พร้อมทั้งขายและเซ็นหนังสือให้กับแฟนคลับด้วย
สำหรับประเทศไทย เราต้องถือได้ว่า เราโชคดีกว่าประเทศตะวันตกทั้งสอง เพราะแทนที่จะต้องวิ่งเข้าหาอินเดียและพยายามโน้มน้าวอินเดียให้สนใจ ในทางกลับกัน อินเดียเป็นผู้ที่กระตือรือร้นวิ่งเข้าหาเราและต้องการสร้างความร่วมมือกับไทยในหลายๆ งาน ตามที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบผ่านสื่อและเว็บไซต์ thaiindia.net อยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นงาน India-ASEAN Business Fair ครั้งที่ 2 (18-20 ธ.ค.) ที่กรุงนิวเดลี เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 20 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียในปลายปีนี้ ซึ่งจะมีการจัด B2B matching ให้บริษัทไทยและอินเดีย ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพสูง เช่น อัญมนีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ฯลฯ งาน Vibrant Gujarat Summit 2013 (11-13 ม.ค. 56) ซึ่งมุขมนตรีของรัฐได้ให้คำยืนยันด้วยตนเองกับคณะนักธุรกิจไทยที่ได้ไปเยือนรัฐคุชราตเมื่อปลายเดือนที่แล้วว่า พร้อมที่จะสนับสนุนการเข้าร่วมของไทยอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีงาน Agro-Auto Summit (3-5 ม.ค. 56) ที่เมือง Vadodara รัฐคุชราต ที่ผู้จัดได้ส่งเทียบมาเชิญให้ไทยเป็นประเทศหุ้นส่วน พร้อมทั้งจะช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ไทยด้วย
สำหรับงานทั้งสามนี้ และงานอื่นๆ ที่จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทยในอนาคต หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไทยควรศึกษากรณีของประเทศอื่นๆ ว่าเขาผนึกกำลังกันอย่างไร ให้สามารถบุกตลาดอินเดียได้อย่างเป็นเอกภาพและมีรูปธรรม
ดร. แจ่มใส เมนะเศวต