ยาตราการทูตของอินเดีย (ตอนที่ 1 ฝรั่งเศส)
เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้นำอินเดียผงาดในเวทีโลกอีกครั้ง ด้วยการออกเดินสายเยือนประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจกลุ่ม G7 สามประเทศติดกัน ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี และแคนาดา
การเดินทางที่ผู้เขียนขอเรียกแบบเก๋ๆ ว่า "ยาตราการทูต" (Diplomatic Yatra) ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเยือนทวีปยุโรปครั้งแรกของนายโมดี ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และการเดินทางข้ามทวีปไปแคนาดาจากยุโรปเช่นนี้ซึ่งไม่มีให้เห็นบ่อยนัก แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอินเดียกำลังใส่เกียร์เดินหน้าแบบเต็มสูบที่จะสร้างพันธมิตรเพื่อสนองนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ประกาศออกมาตลอด 11 เดือนที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น “Make in India”, “Smart Cities”, “Skill India” หรือ “Clean Ganga”
วัตถุประสงค์หลักของการเยือน 3 ประเทศนี้จึงหนีไม่พ้นการดึงดูดเงินลงทุน ส่งเสริมให้มีการไปทำธุรกิจในอินเดียเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและเพิ่มศักยภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอินเดีย โดยเฉพาะในด้านพลังงาน โดยนายโมดีใช้ความเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่และเก่าแก่เป็นเครื่องผูกใจทั้ง 3 ประเทศมหาอำนาจ ให้เกิดความรู้สึกความเป็นพันธมิตรที่มีแนวคิดเหมือนกัน
ประเทศแรกที่นายโมดีเลือกที่จะไปเยือนในครั้งนี้คือฝรั่งเศส เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็น่าจะเป็นเพราะความก้าวหน้าทางความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ หลังได้ประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เมื่อปี 2541 และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 นายฟรองซัวส์ โอลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็เลือกเยือนอินเดียเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียหลังเข้ารับตำแหน่ง ปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่กว่า 7 พันล้านยูโร มีบริษัทฝรั่งเศสไปลงทุนในอินเดียแล้วกว่า 700 บริษัท
สำหรับการเดินทางเยือนฝรั่งเศสของนายโมดีครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย มีการลงนามความตกลงถึง 20 ฉบับ โดยฝ่ายอินเดียมุ่งเป้าไปที่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยเชิญชวนฝรั่งเศสร่วมมือในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม โครงการ “Smart Cities” การจัดการของเสีย “Clean Ganga” และเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศตามนโยบาย “Make in India”
โดยเฉพาะในด้านการคมนาคม ทั้งสองฝ่ายตกลงจะร่วมมือกันในโครงการพัฒนาระบบรางของอินเดียให้ทันสมัย ส่งเสริมโครงการรถไฟความเร็วสูงและความเร็วกึ่งสูง (semi high speed) โดยเฉพาะในโครงการ Mumbai - Ahmedabad high speed corridor โครงการรถไฟความเร็ว semi high speed ระหว่าง New Delhi-Chandigarh และการพัฒนาสถานีรถไฟที่เมือง Ambala และ Ludhiana รัฐปัญจาบ
นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังตอบรับร่วมมือกับอินเดียในโครงการ “Smart Cities” และ “Make in India” เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่สำคัญด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันปรับปรุงให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงตลาดอินเดียได้มากขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้คณะผู้บริหารในสาขาโครงสร้างพื้นฐานและการป้องกันประเทศของฝรั่งเศสไปเยือนอินเดียเพิ่มขึ้นด้วย
แต่สิ่งที่ดูจะแย่งซีนประเด็นอื่นๆ ไปเสียหมดคงหนีไม่พ้นดีลการซื้อขายเครื่องบินรบ Rafale (Multirole Combat Aircraft) ซึ่งเริ่มมีการเจรจามาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนที่ต้องการให้มีการซื้อขาย 108 ลำโดยตั้งข้อแม้ให้มีการร่วมผลิตกับบริษัทอินเดียเพื่อให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่รัฐบาลชุดนี้กลับประกาศพร้อมซื้อเครื่องบินรบดังกล่าวโดยตรงจากฝรั่งเศสจำนวน 36 ลำ ซึ่งผู้คัดค้านมองว่าสวนทางกับนโยบาย Make in India ของนายโมดีที่ต้องการให้ต่างชาติไปผลิตในอินเดีย
นอกจากนี้ นายโมดียังได้ถือโอกาสไปเยือนเมืองตูลูส (Toulouse) ซึ่งเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และศูนย์กลางด้านอวกาศของยุโรป เพื่อเยี่ยมชมบริษัท Airbus ซึ่งอินเดียให้ความสำคัญด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุน และมีความร่วมมือกับบริษัทอินเดียหลายบริษัทอยู่แล้วด้วย นี่แค่การเดินทางเยือนประเทศแรกในการทูตยาตราของนายโมดี ก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปไกลทั่วยุโรป ชื่อประเทศอินเดียถูกตีพิมพ์ลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทั่วโลก ยังไม่นับผลลัพธ์ที่จะได้จากการลงทุนของฝรั่งเศสที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก
ตอนต่อไปเราจะมาติดตามกันต่อว่า การเยือนเยอรมนี ประเทศพี่เบิ้มแห่งยุโรปเพื่อเข้าร่วมงาน Hannover Messe และการเดินทางเยือนแคนาดาครั้งแรกของนายกฯ อินเดียในรอบ 42 ปี จะช่วยให้อินเดียเดินหน้านโยบายพัฒนาประเทศได้อีกมากน้อยเพียงใด
โดย พจมาศ แสงเทียน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,047 วันที่ 26 - 29 เมษายน พ.ศ. 2558
-
บทความที่เกี่ยวข้อง