จับตาต่างชาติลงทุนในแดนภารตะ ตอน การส่งเสริมการลงทุนในอินเดียของสหรัฐฯ
ข่าวใหญ่ที่เป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา คือ การเดินทางเยือนอินเดียของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยทางการสหรัฐฯ ประกาศข่าวว่า เป็นการเยือนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เยือนอินเดียซ้ำเป็นครั้งที่สอง ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง การเยือนอินเดียครั้งนี้ มีกำหนดการ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2558 และประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันสาธารณรัฐของอินเดีย ในวันที่ 26 มกราคม 2558
สหรัฐฯ มองอินเดียอย่างไร? ทำไมถึงสหรัฐฯ ถึงให้ความสำคัญกับอินเดียอย่างมากในช่วงเวลานี้?
ขอย้อนกลับไปเมื่อครั้งการเยือนอินเดียของประธานาธิบดีโอบามาเมื่อปี 2553 ประธานาธิบดีโอบามาได้เคยกล่าวว่า อินเดียไม่ใช่เป็นแค่มหาอำนาจที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมา หากแต่เป็นมหาอำนาจที่ก้าวผงาดขึ้นมาแล้ว พร้อมกับย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ ได้วิวัฒนาการเข้าสู่ขั้นที่อินเดียกำลังสร้างงาน สร้างการเจริญเติบโต และสร้างมาตรฐานความเป็นอยู่ที่สูงขึ้นให้กับทั้งสหรัฐฯ และอินเดียร่วมกัน
การเดินทางเยือนครั้งนั้น นอกจากด้านการเมืองการทหารที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งแล้ว สหรัฐฯ ยังได้ดีลทางธุรกิจจากการลงนามความตกลงสำคัญหลายฉบับ รวมมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น บริษัท โบอิ้ง สามารถขายเครื่องบินแก่สายการบินอินเดียหลายสิบลำ บริษัท GE สามารถขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลายร้อยเครื่อง ซึ่งนั่นหมายถึง รายได้และการสร้างงานให้แก่ชาวอเมริกันในช่วงเวลาที่อัตราว่างงานของสหรัฐฯ เฉียดใกล้ร้อยละ 10
ความจริงผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในอินเดียเองก็มิใช่น้อย โดยสหรัฐฯ ลงทุนในอินเดียมากเป็นลำดับ 5 โดยมีมูลค่าการลงทุนตั้งแต่เดือนเมษายน 2543- เดือนพฤษภาคม 2557 รวม 12,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดในอินเดีย นอกจากนี้ มูลค่าการค้ารวมระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ ยังอยู่ที่ปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าในช่วงทศวรรษก่อนถึง 5 เท่า
สาขาอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในอินเดีย ก็ได้แก่ อุตสาหรรมพลังงาน เช่น ไฟฟ้าและโรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร พวกสินค้าอาหารและสินค้าอาหารทะเล และอุตสาหกรรมบริการต่างๆ
ว่ากันว่า เกือบ 2 ใน 5 ของบริษัท Fortune 500 สัญชาติสหรัฐฯ ได้ outsource งานด้าน IT ให้กับบริษัทอินเดียไปแล้ว นอกจากนี้ บริษัทของสหรัฐฯ ยังมีโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในอินเดียหลายโครงการ เช่น การสร้างสายเส้นใยแก้วนำแสง สร้าง gateway และการพัฒนาซอฟแวร์ เป็นต้น
สำหรับด้านอุตสาหกรรมพลังงาน อินเดียประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐฯ ไม่น้อย เนื่องจากนักลงทุนสหรัฐฯ เห็นโอกาสและศักยภาพการลงทุนในอินเดียทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้า และการผลิตก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน
ทั้งนี้ จากกฏหมาย Central Electricity Act 2003 รัฐบาลอินเดียได้เปิดเสรีให้มีการลงทุน ในธุรกิจพลังงาน โดยบริษัทเอกชนสามารถเป็นผู้ผลิต ส่งและจำหน่ายไฟฟ้าในอินเดียได้ ก็อย่างที่รับทราบกันดีว่า อินเดียยังขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าอยู่มาก และยังต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานในด้านพลังงานเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนจากสหรัฐฯ ที่จะเข้ามาจับธุรกิจนี้
ก่อนการมาเยือนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมานี้ ทางการสหรัฐฯ ได้โหมโรงจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เด่นสุด น่าจะเป็นการมาเยือนอินเดียของนาย John Kerry รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ได้นำคณะผู้แทนสหรัฐฯ เข้าร่วมประชุมสุดยอดด้านการลงทุนในรัฐคุชราตหรืองาน Vigrant Gujarat (VGS)
ซึ่งในปีนี้ ได้ข่าวว่า การจัดงาน Vigrant Gujarat จัดได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นไปเพื่อตอบรับกระแสนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีโมดี ซึ่งเป็นผู้เริ่มจัดงานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2546 ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นมุขมนตรี
ในคราวนี้ สหรัฐฯ ได้นำคณะนักธุรกิจมาเข้าร่วมงาน Vibrant Gujarat จำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยจัดมา คือ ประมาณ 80 คน โดยเหล่าบรรดานักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ได้เดินทางมาด้วย ก็เช่น CEO ของ Textron System ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอาวุธค่ายยักษ์ใหญ่ CEO ของ Emerson Electric ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า CEO ของ Standard Chartered และผู้บริหารของ Peabody Energy ซึ่งเป็นบริษัทถ่านหินภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้นำระดับโลกด้านโซลูชั่นการทำเหมืองแร่และการเข้าถึงพลังงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ นาย John Kerry ยังได้กล่าวสุนทรพจน์ชื่นชมนโยบาย Make in India ของนายกรัฐมนตรีอินเดีย ระหว่างพิธีเปิดงานฯ ว่าเป็น Win-Win Opportunity ที่ทุกประเทศทั่วโลกได้อย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ดี แม้จะไม่กล้ากล่าวถึงปัญหาอุปสรรคทางการค้าการลงทุนกับอินเดียโดยตรง แต่นาย Kerry ก็สะท้อนมุมมองในการกล่าวสุนทรพจน์อีกแห่งที่ Pandit Deenadayal Petroleum University ทำนองว่า โลกปัจจุบันก็มีการแข่งขันกันมากขึ้น จึงต้องการความโปร่งใสและจิตสำนึกในหน้าที่ของภาคราชการมากขึ้น แล้วมันจะเป็นไปได้อย่างไรต่อไป หากภาคราชการ ในวงเล็บว่าแบบอินเดีย ยังไม่ปรับตัว ประมาณนั้น อันนี้คือพูดแบบอ้อมๆ
ซึ่งเรื่องนี้ ก็ตรงกับที่สภาธุรกิจสหรัฐฯ -อินเดีย หรือ US India Business Council (USIBC) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนองค์กรส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ ให้ความเห็นว่า การจะทำให้แคมเปญ Make in India ประสบความสำเร็จนั้น อินเดียจะต้องปรับตัวหลายอย่าง เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน รถไฟ ท่าเรือ ไฟฟ้า ให้มีความพร้อมเพื่อรองรับการลงทุน
แคมเปญ Make in India อาจจะดูแล้ว fantastic สำหรับตัวนายกรัฐมนตรีโมดีและรัฐบาลอินเดีย แต่การจะให้แคมเปญดังกล่าวประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ ปัจจัย เช่น ความโปร่งใส การที่นักลงทุนสามารถคาดการณ์ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และความต่อเนื่องของนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเมื่อบริษัทจะลงเล่นในเกมธุรกิจจริงๆ กุญแจแห่งความสำเร็จในการส่งเสริมการลงทุน คือ การทำให้การประกอบธุรกิจให้ง่ายขึ้น หรือที่เรียกว่า ease of doing business
ซึ่งจากรายงานตัววัดความสะดวกในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก เมื่อปี 2557 อินเดียถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 140 และในปี 2558 นี้ ถูกลดอันดับไปอยู่อันที่ 142 จาก 189 ประเทศทั่วโลก
ประธาน USIBC ยังให้ความเห็นว่า ช่วงนี้แหละเป็นช่วงที่สำคัญและสมควรอย่างยิ่งที่สหรัฐฯ จะเร่งเจรจากับฝ่ายอินเดียในเรื่องของการปฏิรูปเรื่องใหญ่ๆ เช่น ภาษี กฏหมายแรงงานและกฏหมายการจัดหาที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการส่งเสริมการลงทุนทางตรง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจในอินเดีย
หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการส่งเสริมการลงทุน ได้ถูกผลักดันจากทางการสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
เช่นที่ผ่านมา อินเดียและสหรัฐฯ ได้ร่วมกันจัดทำข้อริเริ่มด้านการลงทุน (Investment Initiative) สำเร็จไปแล้ว โดยข้อริเริ่มดังกล่าวเน้นให้มีการปฏิรูปตลาดทุนและนโยบายต่างๆ ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนอเมริกันในระยะยาว
ข้อริเริ่มดังกล่าวนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือและบรรลุข้อตกลงมาตั้งแต่เมื่อครั้งนายกรัฐมนตรีโมดีเยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ก็เพิ่งจะมาเริ่มประกาศใช้จริงเมื่อกลางเดือนมกราคมปีนี้ โดยจะมีส่วนช่วยให้พวกนักลงทุนสถาบันในตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ลงทุนในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ในอินเดียได้สะดวก มากขึ้น
สำหรับการเยือนอินเดียของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ มีประเด็นที่จะจับตาหลายเรื่องในส่วนที่เกี่ยวกับการเจรจาจัดทำความตกลงทางด้านการค้าการลงทุน โดยเฉพาะสนธิสัญญาการลงทุนทวิภาคีอินเดีย-สหรัฐฯ หรือ BIT ซึ่งมีชื่อเต็มว่า Bilateral Investment Treaty และความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนทวิภาคี หรือ BIPPA ซึ่งมีชื่อเต็มว่า Bilateral Investment Promotion and Protection Agreement ว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไร รวมทั้งเวทีที่ผู้นำอินเดียและสหรัฐฯ จะได้ร่วมวงเสวนากับผู้นำทางธุรกิจจากทั้งสองประเทศว่า จะมีข้อคิดเห็นอะไรใหม่ๆ และจะส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดีย ซึ่งจะได้นำมารายงานให้ทราบต่อไป
**************************
ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
รายงานจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน