ปิดฉาก Vibrant Gujarat 2015 เปิดฉาก Vibrant India
จบลงไปแล้วสำหรับงานประชุมธุรกิจครั้งใหญ่ประจำปีอย่าง Vibrant Gujarat Summit ครั้งที่ 7 ที่ทุกคนรอคอย ปีนี้เป็นไปตามคาดเป็นงานครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยมีมา เหตุผลก็ไม่ใช่อื่นใด ก็เพราะนายนเรนทร โมดี ที่เป็นผู้ปลุกปั้นงานประชุมนี้จากงานระดับรัฐให้เป็นงานระดับโลก ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งมุขมนตรี (Chief Minister) ของรัฐคุชราต มาคราวนี้กลับมาในฐานะนายกรัฐมนตรีอินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และจีน
งานนี้ไม่เรียกว่าใหญ่ไม่ได้ เพราะดูเฉพาะพิธีเปิด มีคนมาเข้าร่วมมากกว่า 10,000 คน ทั้งจากภาครัฐและเอกชนจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เรียกว่าเต็มฮอลของศูนย์ประชุม Mahatma Madir เมืองคานธีนคร เมืองใหม่ที่นายโมดีสร้างขึ้นให้เป็นศูนย์กลางการปกครองของรัฐคุชราต ถัดไปจากเมืองอาห์เมดาบัดเมืองหลวงเดิมที่ตอนนี้กลายเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งของอินเดีย
นอกจากจำนวนคนที่มาเข้าร่วมมหาศาลแล้ว แขกที่มาเข้าร่วมกล่าวในพิธีเปิดในปีนี้ถือว่าเป็นระดับท๊อปๆ ไม่ว่าจะเป็นนาย Ban Ki-moon เลขาธิการ UN นาย Jim Yong Kim ประธานธนาคารโลก นาย Tshering Tobgay นายกฯ ภูฏาน นาย Mukesh Ambani ประธานบริษัท Reliance Group (บุคคลที่รวยที่สุดในอินเดีย) และนาย Osamu Suzuki ประธาน บ. Suzuki รวมทั้งผู้แทนระดับรัฐมนตรีของประเทศที่เป็น Partner Country ของงาน 8 ประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ โดยในส่วนของสหรัฐฯ มีเซอร์ไพรส์ นายจอห์น แครี่ รัฐมนตรีต่างประเทศเดินทางมาร่วมด้วยตนเอง
แน่นอนว่าเป็นไปตามคาด คำกล่าวของผู้นำและนักธุรกิจระดับโลกบทเวทีในพิธีเปิดส่วนใหญ่ จะเป็นคำกล่าวที่ยกยอนายกฯ โมดีที่นั่งเป็นประธานอยู่ว่า ตั้งแต่นายโมดีฯ เข้ามาบริหารอินเดีย มีพัฒนาทางเศรษฐกิจในทางที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันคือนโยบาย Make in India ที่ปูพรมแดงต้อนรับนักลงทุนจากต่างประเทศ เป็นนโยบายที่ถูกใจต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงอินเดียกำลังเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนและหาผลประโยชน์จากอินเดีย
นอกจากนี้ คำกล่าวของบุคคลสำคัญระดับโลกอย่างเลขาธิการ UN และประธานธนาคารโลก รวมถึงคำกล่าวของนายจอห์น แครี่ ยังได้แสดงให้เราเห็นว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในปี 2015 เป็นต้นไป จะเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และอินเดียเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยเข้มแข็ง ก็จะเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของโลกในการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังกล่าว โดยนายแครี่ ได้เน้นย้ำโดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาพลังงานทางเลือก โดยไม่ลืมที่จะโฆษณาว่าสหรัฐฯ มีความเชี่ยวชาญและพร้อมนำเทคโนโยโลยีมาช่วยอินเดียบรรลุเป้าการผลิตพลังงานทดแทน 100,000 กิโลวัตต์ภายในปี 2020
ด้านนายกฯ โมดี กล่าวว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศเชิงนโยบายที่มีความคาดเดาได้ โปร่งใส และเป็นธรรม (predictable, transparent, fair) เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลได้เปลี่ยน Planning Commission (คล้าย สศช. ที่จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจราย 5 ปี ซึ่งนายโมดีเห็นว่าออกนโยบายบงการรัฐต่างๆ มากเกินไป) เป็น National Institute for Transforming India (NITI) Aayog เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาประเทศของทุกรัฐ (cooperative federalism)
รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ (policy and back it up) อาทิ เพิ่มการเข้าถึงระบบการเงิน (financial inclusion) ภายใน 4 เดือนมีผู้เปิดบัญชีธนาคาร 100 ล้านบัญชีทั่วอินเดีย เปิดเสรี FDI สาขาการถไฟและเครื่องมือแพทย์ และเพิ่มเพดาน FDI สาขาการป้องกันประเทศและสาขาประกันเป็น 49% ปฏิรูประบบสัมปทานเหมืองแร่ และแก้ไขกฎหมายที่ดิน
นโยบายเศรษฐกิจที่จะให้ความสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานผ่านระบบ PPP นโยบาย Sagarmala หรือการพัฒนาโดยใช้ท่าเรือเป็นตัวนำ (port-led development) โครงการ Digital India และโครงการ Make in India คู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแนวระเบียงอุตสาหกรรม และการปรับปรุง Ease of doing business ในอินเดีย
ในช่วงท้าย นายโมดีย้ำว่า อินเดียมีจุดเด่น 3 อย่าง (3D) คือ Democracy, Demography, Demand ประชากรอินเดีย 65% อายุต่ำกว่า 35 ปี อินเดียจะมีแรงงานจำนวนมหาศาลและได้เปรียบเรื่องต้นทุนด้านแรงงาน รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการสร้างงานและพัฒนาทักษะแรงงาน รัฐบาลจึงได้ตั้งกระทรวงพัฒนาทักษะแรงงาน (Ministry for Skill Development) ขึ้น
งาน Vibrant Guajarat Summit ในครั้งนี้ สรุปปิดท้ายงาน 3 วัน (11-13 ม.ค. 58) ที่ประกอบไปด้วยการสัมมนารายประเทศเพื่อส่งเสริมการลงทุน รวมถึงงานแสดงสินค้าและการเจรจาธุรกิจ (B2B) มีผู้แทนจาก 110 ประเทศ รวม 25,000 คนเข้าร่วม มีการลงนาม MOU ด้านธุรกิจ 21,000 ฉบับ รวมมูลค่าการลงทุน 2.5 ล้านล้านรูปี (ประมาณ 40 พันล้านดอลลาร์)
แต่จำนวนเงินที่มีการสัญญาว่าจะลงทุนอาจจะไม่ใช่ประเด็นหลักของความสำเร็จ แต่เป็นเรื่องของการสานต่อกระแสความนิยมในอินเดียและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อนักลงทุนต่างชาติ เพราะในที่สุดแล้วสิ่งที่เป็นความท้าทายที่สุดของรัฐบาลอินเดียในขณะนี้คือการสร้างงานเพื่อรองรับแรงงานจำนวนมหาศาลที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น แคมเปญ Make in India จึงถือเป็นหัวใจสำคัญ และนายโมดีคงจะเตรียมพร้อมที่จะก้าวข้าม Vibrant Gujarat และหันไปให้ความสำคัญกับ Vibrant India มากกว่า เพื่อให้การพัฒนากระจายไปสู่ทุกภูมิภาคและประชาชนได้รับผลประโยชน์มากที่สุด
คลิกที่นี่ เพื่ออ่านสรุปคำกล่าวที่สำคัญในพิธีเปิด Vibrant Gujajrat Summit2015
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
23 มกราคม 2558
-
บทความที่เกี่ยวข้อง