ไฮไลท์สำคัญแผนงบประมาณปี 2558/2559 ของอินเดีย
รัฐบาลอินเดียเพิ่งแถลงแผนงบประมาณประจำปี 2558/2559 ที่จะเริ่มในเดือนเมษายนนี้ต่อสมาชิกรัฐสภาไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาลนายนเรนทร โมดีที่มีการจัดทำงบประมาณประจำปีอย่างเต็มตัวภายหลังจากที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งและเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอินเดียเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
ในครั้งนั้น ระหว่างการรณรงค์หาเสียง นายโมดีได้เคยให้สัญญาว่า จะทำให้อินเดียกลับมามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 8 ให้ได้อีกครั้ง เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อเศรษฐกิจอินเดีย
การแถลงแผนงบประมาณประจำปี 2558/2559 ของรัฐบาลอินเดียในครั้งนี้ แม้จะได้รับการวิพากวิจารณ์ว่า ไม่ได้สร้างปรากฎการณ์ให้ตื่นเต้นอะไรมากนัก หรือที่คนอินเดียเรียกว่า บิ๊กแบง (big bang) แต่ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งนักลงทุน และนักธุรกิจทั้งชาวอินเดียและต่างชาติ หลายฝ่ายเชื่อว่า รัฐบาลอินเดียได้ออกมาตรการหลายประการที่น่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแก่อินเดียได้
แผนงบประมาณของรัฐบาลอินเดียระบุว่า ขณะนี้ อินเดียยังคงต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจหลายประการ เช่น ปัญหารายได้ของภาคเกษตรกรที่ตกต่ำ การลดลงการผลิต ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน
อินเดียจึงยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลสำหรับปีงบประมาณ 2558/2559 เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ดี อินเดียก็จำเป็นที่จะต้องรักษาวินัยทางการคลังด้วย รัฐบาลจึงได้กำหนดให้รักษาเพดานการขาดดุลการคลังไว้ที่ระดับร้อยละ 3.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP
พร้อมประกาศที่จะขยายเวลาการขาดดุลการคลังให้เหลือร้อยละ 3 ของ GDP ออกไปอีก 2 ปี โดยการขาดดุลการคลังในปีงบประมาณปี 2559/2560 กำหนดให้อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.5 และปี 2560/2561 ถึงจะกำหนดให้อยู่ที่ร้อยละ 3
สำหรับการใช้จ่ายงบประมาณนั้น รัฐบาลอินเดียมุ่งเน้นให้มีการใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก เนื่องจาก เป็นที่ทราบกันดีว่า อุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอินเดีย ก็คือ การขาดการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน
จะว่าไปแล้ว นายกรัฐมนตรีนเรนทร โมดี ได้แสดงความหวังอย่างลึกๆ ว่า ภารกิจสำคัญของเขาที่ต้องจะเปลี่ยนอินเดีย ก็คือ การทำให้อินเดียเป็นศูนย์กลางทางการผลิต หรือ Manufacturing hub เช่นเดียวกับ เกาหลี และไต้หวัน ให้ได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือ จะต้องผลักดันให้อินเดียมีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นให้มากขึ้น
สำหรับแผนงบประมาณในปีนี้ รัฐบาลอินเดียเลยตั้งเป้าไว้ที่จะใช้เงินงบประมาณประมาณ 7 แสนล้านรูปี หรือหมื่นกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ และโรงไฟฟ้า ซึ่งภายใต้แผนฯ กำหนดให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 4,000 เมกะวัตต์ รวม 5 แห่ง รวมทั้งยังอนุญาตให้ออกพันธบัตรปลอดภาษี หรือ Tax Free Bond เพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญด้วย
นอกจากเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ประเด็นเรื่องภาษีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งอยู่ในความสนใจของนักลงทุนทุกคน
อินเดียเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax) สูงที่สุดประเทศหนึ่ง ของโลก โดยจัดเก็บในอัตราร้อยละ 30 อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินเดียไฟเขียวที่จะให้มีการลดภาษีต่างๆ และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมา
โดยภายใต้แผนงบประมาณปี 2558/2559 นี้ อัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลบวกภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะลดลงมาเหลือประมาณร้อยละ 25
นอกจากนี้ การยกเว้นภาษีต่างๆ จะมีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การจัดเก็บและปรับระบบการจัดเก็บภาษีเป็นไปได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำเสนอภาพลักษณ์ของอินเดียที่เป็นมิตรต่อนักลงทุนได้ด้วย
รัฐบาลอินเดียยังประกาศที่จะให้มีการจัดเก็บภาษีการค้าและบริการ (Good and Services Tax หรือ GST) ในวันที่ 1 เม.ย. 2559 โดยให้มีการใช้อัตราเดียวกันทั่วประเทศ โครงสร้างภาษี GST ดังกล่าว จะเป็นการผนวกรวมการจัดเก็บภาษีต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อที่จะลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษี
และเพื่อปูทางสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดเก็บภาษี GST ในช่วงต่อไป รัฐบาลอินเดียได้ประกาศการเก็บภาษีบริการ (Service Tax) เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ภาษีบริการถูกเก็บรวมกับภาษีเพื่อการศึกษาในอัตรา ร้อยละ 12.36 จะถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14
การเปลี่ยนแปลงระบบการจัดเก็บภาษีโดยผนวกรวมการจัดเก็บภาษีต่างๆ เข้าด้วยกัน เป็นการจัดเก็บภาษี GST นี้ ถือเป็นการปรับระบบภาษีครั้งใหญ่ของอินเดีย และจัดได้ว่า เป็นสถาปัตยกรรมทางการเงินที่สำคัญของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีโมดี
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียได้ช่วยคลายประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติเป็นกังวลไปอีกประเด็น นั่นก็คือเรื่อง General Anti Avoidance Rules หรือ GAAR ซึ่งเป็นระเบียบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายภาษีเงินได้ใหม่ โดยระเบียบดังกล่าว อนุญาตให้สรรพากรอินเดียสามารถตรวจประวัติการเลี่ยงภาษีของบริษัทย้อนหลังไปถึงปี 2505
ระเบียบดังกล่าว ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขยาดการลงทุนและจ่ายภาษีในอินเดีย เนื่องจากไม่มีความเชื่อมั่นในระบบภาษีของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี 2555 ซึ่งมีรายงานข่าวว่า สรรพากรอินเดีย ได้ประกาศจะรื้อฟื้นคดีเบี้ยวเงินภาษีของบริษัท Vodafone โดยจะเรียกเก็บเงินภาษีและค่าปรับจาก Vodafone จากการเลี่ยงภาษี รวมเป็นเงิน 3.3 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินเดียแถลงว่า จะเลื่อนการประกาศใช้ระเบียบ GAAR ออกไปก่อนอีกสองปี และจะให้ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับการลงทุนที่มีดีลสัญญาภายหลังวันที่ 1 เม.ย. 2560
นอกจากเรื่องเงินๆ ทองๆ แล้ว ก็มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับอินเดียซึ่งปรากฏอยู่ในแผนงบประมาณปีนี้ นั่นก็คือ เรื่องการอนุญาตให้รับการตรวจลงตราได้ ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ Visa on Arrival
ปัจจุบัน รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ Visa on Arrival กับนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ รวม 43 ประเทศ และได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มจำนวนประเทศที่จะให้ Visa on Arrival เป็น 150 ประเทศ
กล่าวโดยสรุป รัฐบาลอินเดียคาดว่า การจัดทำแผนงบประมาณปี 2558/2559 นี้ จะทำให้เศรษฐกิจอินเดียมีโอกาสที่จะเติบโตสดใส โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 8-8.5 ขณะที่ปีงบประมาณปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้ คาดว่า เศรษฐกิจของอินเดียจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.4
นอกจากนี้ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปีงบประมาณใหม่นี้ น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5 ซึ่งต่ำกว่าที่ธนาคารกลางของอินเดีย (Reserve Bank of India – RBRMI) ประมาณการว่า จะอยู่ที่ร้อยละ 6
******************************
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน
-
บทความที่เกี่ยวข้อง