
ธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India – RBI) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย repo rate ลง 0.25 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังการประชุมทบทวนนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินเดียเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา
RBI ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย repo rate (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของธนาคารพาณิชย์จากธนาคารกลางอินเดีย) ลง 0.25 เปอร์เซ็นต์ (จากเดิม 8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 7.75 เปอร์เซ็นต์ โดยการปรับลด repo rate ครั้งล่าสุด คือเมื่อ เม.ย. 2555) และได้ประกาศลดอัตราการคงเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Cash-Reserve Ratio – CRR) ลง 0.25 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน (จากเดิมร้อยละ 4.25 เป็นร้อยละ 4) ซึ่งทั้งสองมาตรการจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงและมีเงินทุนหมุนเวียนในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.8 แสนล้านรูปี (ประมาณ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลงทุนของภาคเอกชนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมในวันเดียวกัน RBI ก็ได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2555 – 2556 (สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2556) จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 5.8 เปอร์เซ็นต์ ลงเหลือ 5.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีและได้ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อสำหรับเดือน มี.ค. 2556 จากที่เดิมคาดการณ์ไว้ 7.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 6.8 เปอร์เซ็นต์
นาย D Subbarao ผู้ว่าการ RBI ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียจะชะลอตัวลงอย่างมากแต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูงมากเช่นกัน RBI จึงยังไม่สามารถที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย repo rate ได้ แต่เมื่อเดือน ธ.ค. 2555 อัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 7.18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี RBI จึงได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย repo rate เพื่อหวังกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของการลงทุน อย่างไรก็ตาม RBI จะยังคงต้องติดตามภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดก่อนที่จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย repo rate ในครั้งต่อไป
จะสังเกตได้ว่า การประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย repo rate ลงในครั้งนี้นับเป็นการส่งสัญญานที่ชัดเจนของ RBI ในการให้ความสำคัญต่อการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะสอดรับกับมาตรการผลักดันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางอินเดียก่อนหน้านี้ด้วย
นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มคาดว่า RBI อาจสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ย repo rate ลงได้อีกในเดือน มี.ค. 2556 โดยทั้งปีอาจสามารถปรับลดลงได้ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ หากสัญญานเงินเฟ้อปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า RBI อาจประเมินอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าความเป็นจริงและหากในเดือน มี.ค. 2556 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงกว่าที่คาดไว้ RBI ก็อาจต้องพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ย repo rate ไว้ในระดับเดิมก็ได้
ทั้งนี้ ภายหลัง RBI ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย repo rate ธนาคารพาณิชย์ใหญ่บางแห่งได้เริ่มประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงแล้วโดยให้มีผลในต้นเดือน ก.พ. 2556 อาทิ IDBI Bank และ Royal Bank of Scotland ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ต่างชาติรายแรกที่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อย่างไรก็ดี คาดว่าธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ในระดับเดิมเนื่องจากขณะนี้การขยายตัวของเครดิต (17 เปอร์เซ็นต์) ยังสูงกว่าอัตราการขยายตัวของเงินฝาก (13-14 เปอร์เซ็นต์)
ภายหลังการประกาศมาตรการดังกล่าวของ RBI อัตราแลกเปลี่ยนเงินรูปีแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.28 หรืออยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 53.76 รูปี แต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อินเดีย (Sensex) กลับปิดตัวลดลง 112 จุดหรือ 0.56 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ว่าจะปิดตัวเพิ่มขึ้น
กนกภรณ์ คุณวัฒน์
รายงานจากเมืองมุมไบ
6 กุมภาพันธ์ 2556