
ธนาคารกลางอินเดียประกาศเตรียมออกใบอนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารอีกครั้ง หลังระงับการก่อตั้งธนาคารใหม่มาเกือบสิบปี เพื่อหวังระดมทุนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา
หลังจากที่ GDP ของอินเดีย ที่เคยเติมโต 8-9% ลดลงเหลือไม่ถึง 6% ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียจำเป็นต้องเร่งหาทางแก้ โดยออกมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติแบบสะท้านวงการไปหลายขนาน เช่น เปิดรับการลงทุนต่างชาติในธุรกิจค้าปลีกหลายแบรมด์และธุรกิจการบินภายในประเทศ
ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ลดการพึ่งการส่งออก โดยรัฐบาลอินเดียเล็งหนุนธุรกิจ SME เร่งโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการสร้างงานและรายได้ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่ายั่งยืน มีแผนทุ่ม 1 ล้านล้านดอลลาร์ในโครงสร้างพื้นฐานภายในปี 2560
แต่แนวคิดดังกล่าวยังมีอุปสรรคอยู่ เพราะปัจจุบันอินเดียขาดระบบการธนาคารที่มีประสิทธิภาพและไม่ครอบคลุมทั่วถึง ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรยังไม่สามารถเข้าถึงธนาคารได้ ทำให้แหล่งทุนยังขาดแคลน โดย 3 ใน 4 ของธนาคารของอินเดีย ซึ่งเป็นของรัฐบาล ไม่มีกำลังที่จะระดมทุนเพียงพอ
ด้วยเหตุนี้เอง ธนาคารกลางอินเดียจึงได้ประกาศแนวปฏิบัติใหม่สำหรับการขออนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคาร โดยขยายขอบเขตบริษัทเอกชนที่สามารถมาลงทุนในธุรกิจธนาคารได้ให้กว้างขึ้น เพื่อผ่อนปรนแนวปฏิบัติเดิมที่เคยเข้มงวดเสียจน ไม่มีเอกชนรายไดได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจธนาคารมาตั้งแต่ปี 2547 (สองรายสุดท้าย คือ Kotak และ Yes Bank)
มาตรการใหม่นี้นอกจากจะเป็นความหวังของรัฐบาลที่จะกระตุ้นการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจการธนาคารแล้ว ยังเป็นแผนการเพิ่มความครอบคลุมและกระจายทุนไปยังพื้นที่ห่างไกลที่แยบยล เพราะธนาคารกลางกำหนดให้ธนาคารรายใหม่ต้องมีสาขา 1 ใน 4 ในพื้นที่ชนบทห่างไกล
ตอนนี้ เอกชนยักษ์ใหญ่ของอินเดียหลายรายถึงกับตีปีก หลังรอโอกาสมานานแสนนาน จ่อลุยบุกตลาดการเงินการธนาคาร ไม่ว่าจะเป็น Mahindras, Shriram หรือ Reliance Group เพราะเล็งเห็นศักยภาพ SME ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดภายในปีนี้ จะมีสัดส่วนเป็น 20% ของ GDP อินเดีย เชื่อเป็นโอกาสธุรกิจที่สดใส
ในแง่โอกาสของแบงก์ต่างชาติ นโยบายใหม่นี้มีผลอย่างไรกับธนาคารต่างชาติ ทีมงาน thainindia.net ได้สอบถามไปยังธนาคารกรุงไทย สาขามุมไบ ซึ่งปัจจุบันเป็นธนาคารไทยแห่งเดียวในอินเดีย
คุณพิศิษฐ์ บูรณะกิจภิญโญ ผู้จัดการสาขา เล่าให้ฟังว่า แนวปฏิบัติใหม่นี้ โดยหลักใหญ่ใจความใช้ได้กับผู้ประกอบการเอกชนอินเดียเท่านั้น ไม่ใช่เอกชนต่างชาติโดยตรง แต่อาจมีผู้ถือหุ้นต่างชาติได้ในสัดส่วนไม่เกิน 49% ใน 5 ปีแรก
ส่วนใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารที่ให้กับธนาคารต่างชาติที่จะเข้ามาเปิดสาขา เช่น ธนาคารกรุงไทย สาขามุมไบ นั้น สามารถยื่นขออนุญาตต่อธนาคารกลางอินเดียได้ตามปรกติ โดยจะพิจารณาเป็นกรณีไป
เกณฑ์ทั่วไปของธนาคารต่างชาติที่ต้องการไปเปิดสาขาในอินเดีย คือต้องมีทุนขั้นต่ำ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 750 ล้านบาท ในการเปิดสาขาแรก หากต้องการเปิดสาขาที่ 2 ก็ต้องขออนุญาตและต้องทำการส่งแผนการขยายสาขาให้ธนาคารกลางอินเดียทุกปี ก็นับว่าเป็นระบบที่ยังไม่เอื้อแบงก์ต่างชาติเท่าที่ควร
สำหรับกรุงไทยตอนนี้ยังไม่มีแผนขยายสาขา โดยตั้งแต่เข้ามาในอินเดียตั้งแต่ปี 2543 ก็ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบสาขาของธนาคารต่างประเทศ โดยธุรกรรมสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับธนาคารท้องถิ่นอินเดียทั่วไป
ธุรกิจหลักๆ คือ รับฝากถอน (ไม่รับลูกค้าบุคคลทั่วไปและรับฝากถอนเฉพาะเงินรูปี) รับโอนเงินในประเทศและระหว่างประเทศ ให้สินเชื่อธุรกิจ ธุรกรรมด้านการค้าระหว่างประเทศ ธุรกรรมด้านปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และธุรกรรมตลาดเงิน ตลาดตราสารหนี้ระหว่างธนาคาร
อุปสรรคสำคัญที่พบในการทำธรุกิจธนาคารในอินเดียคือโครงสร้างภาษีที่สูงและซับซ้อน รวมถึงหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่บังคับให้สนับสนุนภาคธุรกิจที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ภาคการส่งออก ภาคการเกษตร กิจการรายย่อย สินเชื่อทีอยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อการศึกษา ไม่ต่ำกว่า 32% ของเงินให้สินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร
นอกจากนี้ ธนาคารกลางอินเดียยังมีแนวคิดที่จะบังคับให้ธนาคารต่างชาติที่จะขอใบอนุญาตใหม่ จะต้องดำเนินกิจการในรูปแบบของบริษัทย่อย (Wholly Owned Subsidiary - WOS) ไม่ใช่สาขาตามที่เคยเป็น ซึ่งจะทำให้อำนาจบริหารของธนาคารถูกลดทอน เนื่องจากต้องมีกรรมการเป็นชาวอินเดียในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50%
คุณพิศิษฐ์แนะนำธนาคารพาณิชย์ไทยที่สนใจจะมาเปิดกิจการในอินเดีย ให้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่แต่ละธนาคารต้องไปวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการลงทุน เหมือนการลงทุนทำธุรกิจทั่วไป
แม้ขณะนี้จะมีธนาคารต่างชาติมาดำเนินธุรกิจในอินเดียบ้างแล้ว แต่ก็ยังมาในสเกลไม่ใหญ่ เช่น Barclays และ RBS มีเพียงธนาคารเพื่อการพัฒนาจีน ที่ได้ลูกค้าผู้ประกอบการอินเดียที่ค้าขายกับเอกชนจีน จึงยังน่าจะมีช่องทางให้แบงก์ต่างชาติที่มองการณ์ไกลเข้าไปได้
ส่วนความสำเร็จของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของอินเดีย โดยการเพิ่มการแข่งขันของภาคธุรกิจธนาคารนั้น จะสำเร็จหรือไม่ ก็คงต้องติดตามกันต่อไป ว่าธนาคารกลางอินเดียจะให้ใบอนุญาตกับธนาคารจำนวนมากน้อยเพียงใด และจะพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้าได้หรือไม่
ประพันธ์ สามพายสวรกิจ
รายงานจากกรุงนิวเดลี
10 เมษายน 2556