
พรบ. ภาษีสินค้าและบริการอินเดีย (Goods and Services Tax – GST) เป็นความพยายามของรัฐบาลอินเดียในการปฏิรูประบอบภาษีตั้งแต่ปี 2553 ให้เป็นระบบที่มีความเป็นเอกภาพ รวมศูนย์กลางการเก็บภาษีของรัฐบาลกลาง ระดับรัฐ และท้องถิ่นเข้าด้วยกัน สร้างความชัดเจนให้กฎระเบียบและลดความซับซ้อน นำมาซึ่งความสะดวกให้ทั้งผู้ชำระและผู้เรียกเก็บภาษี
ทุกฝ่ายต่างคาดหวังอย่างสูงว่า รัฐบาลอินเดียจะสามารถประกาศใช้ พรบ.นี้ในวันที่ 1 เม.ย.2556 ตามสัญญา ไม่แปลกที่ผู้มีความกระตือรือร้นต้องการให้รัฐบาลอินเดียสามารถประกาศใช้ GST ได้ในเร็ววันคือผู้ชำระภาษี เพราะใครๆ ก็ทราบดีว่าการเก็บภาษีในอินเดียนั้นค่อนข้างยุ่งยาก มีหลายขั้นหลายตอน นอกจากจะต้องชำระภาษีให้รัฐบาลส่วนกลางแล้วยังมีส่วนของระดับรัฐ ดังเห็นได้จากการที่ธนาคารโลกได้จัดลำดับความสะดวกในการชำระภาษีให้อินเดียอยู่ในลำดับที่ 147 จาก183 ประเทศทั่วโลก
ภาคเอกชนตั้งความหวังกับ GST ไว้สูงมาก เนื่องจากจะทำให้สามารถจ่ายภาษีได้ในครั้งเดียว แบบ one stop service ไม่ต้องเสียภาษีหลายต่อ การขนถ่ายสินค้าในอินเดียมักมีอุปสรรคจาก ความล่าช้าบริเวณพื้นที่พรมแดนระหว่างรัฐเพราะการข้ามพรมแดนจากรัฐหนึ่งสู่อีกรัฐหนึ่งจะต้องประสบกับการเข้าคิวจ่ายภาษีขาเข้า และการตรวจสอบต่างๆมากมาย GST จะทำให้กระบวนการนี้ง่ายมากขึ้น ปัญหาสินค้าที่เคยถูกกักระหว่างบริเวณเขตแดนระหว่างรัฐหนึ่งไปอีกรัฐหนึ่ง ก็จะหมดไป
สภาอุตสาหกรรมอินเดีย (Confederation of Indian Industry- CII) เชื่อว่าการนำ GST มาใช้จะทำให้จีดีพีเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 1.5 ต่อปี สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ GST จะทำให้อินเดียเป็นตลาดเดียว (single market) ระบบที่มีอยู่ปัจจุบันมีความสับสนซับซ้อน เนื่องจากโครงสร้างการเก็บภาษีที่แตกต่างกันของแต่ละรัฐ แบ่งแยกตลาดออกเป็นส่วนๆ การซื้อและขนถ่ายสินค้าจึงขึ้นอยู่กับการเรียกเก็บภาษีของแต่ละรัฐ ทั้งนี้ GST จะทำให้การขนถ่ายสินค้าสะดวกราบรื่น ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
GST จะช่วยส่งเสริมภาคการผลิต เมื่อห่วงโซ่อุปทานมีความราบรื่น ภาคผลิตก็จะมีประสิทธิภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้นตามมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอินเดีย ทั้งนี้ ภาคผลิตจะต้องมีอัตราเติบโตสูงถึงปีละ 12-14 % เพื่อที่จะสามารถรองรับแรงงานใหม่มีจำนวนถึง 15-20 ล้านคนในแต่ละปีได้
สำหรับรัฐบาล GST จะช่วยให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ และเงินรายได้ภาษีก็จะสูงขึ้นตามมา การนำระบบไอทีมาใช้สร้างแนวทางการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน โปร่งใส และขจัดความยุ่งยากล่าช้าจากกระบวนการต่างๆ ที่ทับซ้อนกัน จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการทุกระดับ โดยเฉพะกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งจะได้รับความสะดวกจากระบบออนไลน์ ทำให้ไม่ต้องเข้าหาเจ้าหน้าที่สรรพากรตลอดเวลา และจะสามารถตรวจสอบทุกขั้นตอนของการชำระภาษี รวมทั้งได้รับคำยืนยันการชำระภาษีและการยื่นคำขออื่นๆ โดยอัตโนมัติ
สถานะล่าสุด:
การจะนำ GST มาใช้นั้นยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาอินเดีย เมื่อ 11มีนาคม 2554 รัฐบาลอินเดียได้ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 115 ปรับแก้ไขกฏหมายเพื่อให้อำนาจรัฐจัดการบังคับใช้ พรบ.GST นักธุรกิจต่างหวังว่ารัฐสภาอินเดียจะผ่านร่าง พรบ. แก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อจะสามารถนำ GST มาปฏิบัติใช้ได้จริงในวันที่ 1เม.ย.2556 ตามที่ได้กำหนดไว้
พรบ. GST ค.ศ. 2012 (ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอินเดียครั้งที่ 115 )
เมื่อวันที่ 11มีนาคม 2554 นาย Pranab Mukherjee รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำเสนอพรบ. GST ค.ศ. 2012 (ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่115) ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร มีสาระสำคัญ ดังนี้
- ให้อำนาจแก่รัฐบาลกลางและรัฐบาลของแต่ละรัฐในการร่างกฎหมายว่าด้ายภาษีสินค้าและการบริการ
- ให้อำนาจเต็มแก่รัฐสภาในการเก็บภาษีสินค้าและการบริการที่เกิดจากการค้าและการพาณิชย์ระหว่างรัฐ
- ก่อตั้งคณะมนตรีภาษีสินค้าและการบริการโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และประกอบด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง หรือรัฐมนตรีอื่นๆ ที่แต่งตั้ง โดยรัฐบาลของรัฐแต่ละรัฐ คณะมนตรีภาษีสินค้าและการบริการจะร่างโครงสร้างระบบภาษีสินค้าและการบริการเพื่อพัฒนาตลาดสินค้าและการบริการแห่งชาติที่เป็นเอกภาพ
- คณะมนตรีภาษีสินค้าและการบริการจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบโครงสร้างภาษีสินค้าและการบริการ (ภาษีที่จะต้องเรียกเก็บ สินค้าที่มีการยกเว้นภาษี อัตราภาษี GST) รวมไปถึง
- ภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่จัดเก็บโดยรัฐบาลกลาง และรัฐท้องถิ่นที่อาจจะสามารถรวมอยู่ในภาษี GST
- สินค้าและการบริการที่อาจจะได้รับการยกเว้นจากภาษีสินค้าและบริการ
- เกณฑ์วงเงินของสินค้าและบริการที่อาจจะได้รับการยกเว้นจากภาษี GST
- อัตราภาษี GST
- เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษี GST
- ก่อตั้งสภาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาษีสินค้าและบริการ การพิพาทที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับรัฐที่ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความเสียหายต่อการจัดเก็บภาษีและระบบการภาษีที่เป็นเอกภาพ สภาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาษีสินค้าและบริการ จะประกอบด้วยสมาชิกสามคนแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา โดยประธานของสภาดังกล่าว อาจเป็นผู้พิกาษาศาลฏีกาหรือประธานศาลสูงของแต่ละรัฐ
อายิ เบเชกู่
รายงานจากกรุงนิวเดลี
9 กรกฎาคม 2555