สถานการณ์พลังงานของอินเดีย
การขาดแคลนไฟฟ้านับเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจของอินเดียอย่างมาก ถึงแม้ขณะนี้อินเดียจะเป็นประเทศที่ใช้พลังงานมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจาก สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูง เป็นอันดับที่ 5 ของโลก ประมาณ 199.81 GW แต่อินเดียยังขาดแคลนไฟฟ้าอยู่อีกมาก คิดเป็นประมาณกว่า 10.1%
มีการประเมินกันว่า คนอินเดียกว่า 300 ล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้และประชากรในชนบทประมาณ 1 ใน 3 และในเมืองประมาณ 6% ยังขาดแคลนไฟฟ้า ส่วนผู้ที่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ก็ไม่ได้รับไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ ยกเว้นตามเมืองใหญ่ๆ ทั้งนี้ องค์การพลังงานระหว่างประเทศประเมินว่า อินเดียยังจำเป็นต้องลงทุนอีกอย่างน้อย 135,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อให้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเพียงพอ และคาดว่าอินเดียจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 600 ถึง 1,200 GW ก่อนปี ค.ศ. 2050
การผลิตกระแสไฟฟ้าของอินเดียใช้ถ่านหินเป็นพลังงานมากที่สุดในสัดส่วน 66% รองลงมาคือพลังน้ำ 19% และแก๊สธรรมชาติ 10% โดยที่เหลือเป็นพลังงานชนิดอื่นๆ รวมกัน อาทิ พลังลม นิวเคลียร์ ไบโอแมสและการเผาผลาญสิ่งปฏิกูล แต่กระนั้นอินเดียยังนับว่าใช้ถ่านหินเพื่อเป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่ต่ำกว่าอีกหลายประเทศ อาทิ แอฟริกาใต้ใช้ประมาณ 92% จีน 77% และออสเตรเลีย 76%
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้อินเดียไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการคือ (1) มีโรงงานผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ (2) โรงงานผลิตไฟฟ้าได้รับถ่านหิน (และแก๊สธรรมชาติ)ในปริมาณที่ไม่เพียงพอและราคาถ่านหินมีความผันผวนสูง (3) รัฐบาลควบคุมค่าไฟฟ้าทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถผลักภาระค่าพลังงานที่สูงขึ้นให้แก่ผู้บริโภคได้ ทำให้บางช่วงเวลาผู้ผลิตขาดทุนและไม่จูงใจให้มีการลงทุนหรือเพิ่มกำลังการผลิต

การปฏิรูปพลังงานของอินเดีย
จากสภาพปัญหาดังกล่าว รัฐบาลอินเดียได้เริ่มดำเนินการปฏิรูปสาขานี้แล้ว โดยนาย Sushilkumar Shinde รัฐมนตรีพลังงานได้ตัดสินใจอนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถผลักภาระค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากให้แก่ผู้บริโภค เพื่อจูงใจให้มีการลงทุนในสาขานี้เพิ่มขึ้น รวมถึงนักลงทุนจากต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี ค.ศ. 2012 เจ้าของบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของอินเดียซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐมหาราษฏระและรัฐคุชราต อาทิ Tata Power, Reliance Power และ Adani Power ได้เข้าพบนาย Manmohan Singh นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปสาขาการผลิตไฟฟ้ามาแล้ว
ปัจจุบันผู้ผลิตไฟฟ้าของอินเดียประสบปัญหาการขาดแคลนถ่านหินที่ผลิตได้ในประเทศและราคาถ่านหินที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จากการที่บริษัท Coal India Limited (CIL) ซึ่งเป็นบริษัทผูกขาด การผลิตถ่านหินของรัฐบาลได้ปรับราคาถ่านหินขึ้นประมาณ 40 – 110% นอกจากนั้น ผู้ผลิตไฟฟ้ายังได้รับผลกระทบจากราคาถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นมากด้วย ซึ่งราคาถ่านหินที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Ultra Mega Power Projects - UMPPs) ที่รัฐบาลให้สัมปทานแก่เอกชนด้วย โดยปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้อนุมัติโครงการ UMPPs แล้วจำนวน 4 โครงการ คือ ที่รัฐ Madhya Pradesh รัฐ Andhra Pradesh และรัฐ Jharkhand ให้แก่บริษัท Reliance Power และที่รัฐ Gujarat ให้แก่บริษัท Tata Power ทั้งนี้ สัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าของเอกชนได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 11.6% เมื่อปี ค.ศ. 2006 เป็น 30% ในปัจจุบัน
จากการริเริ่มการปฏิรูปดังกล่าว กระทรวงพลังงานอินเดียคาดว่าจะก่อให้เกิดการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้มีแผนการก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 50,000 MW แล้วหลายโครงการและคาดว่าการผลิตไฟฟ้าโดยภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนประมาณ 52% ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอินเดียสามารถเพิ่มการผลิตไฟฟ้าได้ไม่เลวนัก โดยในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (สิ้นสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2555) สามารถเพิ่มการผลิตได้ 53,922 MW หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากการเพิ่มขึ้นในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 แต่กระนั้นโรงงานไฟฟ้าของอินเดียยังผลิตไฟฟ้าได้ต่ำกว่ากำลังการผลิตจริงจากการขาดแคลนถ่านหินและแก๊สธรรมชาติ โดยในปีนี้คาดว่าอินเดียจะขาดแคลนถ่านหินอยู่ประมาณ 54 ล้านตัน
อินเดียมีการขาดแคลนถ่านหินอย่างเรื้อรัง และสถานการณ์ปัจจุบันถือเลวร้ายที่สุด ทั้งนี้ ตามข้อตกลงที่บริษัท Coal India Limited (CIL) ลงนามไว้กับบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้า บริษัท CIL จะต้องจัดหาถ่านหินในประเทศให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าให้ได้ 80% ของความต้องการ ซึ่งในปี ค.ศ. 2012 บริษัท CIL ได้ตั้งเป้าผลิตถ่านหินไว้ที่ 464 ล้านตัน แต่คาดว่าจะไม่สามารถผลิตได้ตามเป้า (พลาดเป้ามาโดยตลอด) โดยมักอ้างอุปสรรคจากความล่าช้าในการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อม การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน และฝนตกชุก ทั้งนี้ คาดว่า ในปีนี้ บริษัท CIL และภาคเอกชนจะมีการนำเข้าถ่านหินจำนวน 15 ล้านตันและ 65 ล้านตัน ตามลำดับ การที่บริษัท CIL ล้มเหลวที่จะจัดหาถ่านหินภายในประเทศให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าตามข้อตกลงได้ ทำให้ เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลอินเดียได้ออก Presidential Directive กำหนดให้บริษัท CIL ต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวมิฉะนั้นจะมีบทลงโทษ
ข้อสังเกตและข้อสนเทศเพิ่มเติม
ที่ผ่านมาการปรับขึ้นค่าไฟฟ้านับเป็นประเด็นการเมือง ซึ่งรัฐบาลอินเดียจะพยายามหลีกเลี่ยง เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและความนิยมในรัฐบาล แต่เมื่อราคาพลังงานจำพวกถ่านหินและแก๊สธรรมชาติได้ปรับสูงขึ้นมากจนทำให้บางครั้งผู้ผลิตไฟฟ้าต้องประสบกับการขาดทุน ประกอบกับรัฐบาลต้องการให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ จึงเป็นที่มาของการปฏิรูปดังกล่าว
การปฏิรูปดังกล่าวย่อมทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปและภาคอุตสาหกรรมของอินเดียที่ต้นทุนจะสูงขึ้นด้วย เนื่องจากค่าไฟฟ้านับเป็นส่วนประกอบสำคัญของต้นทุนการผลิต ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานอินเดียวิจารณ์ว่า ในเมื่อประเทศต่างๆ เช่น ไทย จีน และเกาหลีใต้สามารถจัดหาไฟฟ้าในราคาถูกให้แก่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันการส่งออกได้ อินเดียก็น่าจะสามารถดำเนินการให้ได้ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งหากปล่อยให้ราคาไฟฟ้าสูงขึ้นจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของอินเดียไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเหล่านั้นได้
รัฐของอินเดียที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดและสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากคือ รัฐ Maharashtra, Andhra Pradesh, Tamil Nadu, Uttar Pradesh และ Gujarat โดยรัฐ Maharashtra สามารถผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินได้สูงที่สุดในประเทศและรัฐ Gujarat สามารถผลิตไฟฟ้าได้เกินความต้องการอยู่ประมาณ 2 - 3 GW ซึ่งได้จำหน่ายให้แก่รัฐอื่นด้วย นอกจากนั้น รัฐ Gujarat ยังเป็นรัฐที่มีความกระตือรือร้นในการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังลมและแสงอาทิตย์ สูงที่สุดในอินเดียด้วย
-------------------------------------------
ธีระพงษ์ วนิชชานนท์
รายงานจากเมืองมุมไบ
13 กรกฎาคม 2555