เมื่อลำไยไทยไปอินเดีย
โดย อดุลย์ โชตินิสากรณ์

เหลือเชื่อ...คนอินเดียส่วนใหญ่ไม่รู้จักลำไย! คนไทยอาจจะคิดไม่ถึงว่าผลไม้หอมหวานแสนอร่อยอย่างลำไยของไทยแทบจะไม่เป็นที่รู้จักในตลาดอินเดียเลย ที่กล้าฟันธงซะขนาดนี้ก็เพราะผลจากการสำรวจตลาดแบบติดดินของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ ด้วยการสังเกตการณ์ในตลาดทั้งในซูเปอร์มาร์เก็ตหรูหราและร้านผลไม้ข้างถนนในเมืองต่างๆ รวมทั้งการพบปะพูดคุยกับผู้นำเข้า พ่อค้าส่งและพ่อค้าปลีก ตลอดจนผู้บริโภค ซึ่งแม้จะไม่ได้ใช้กระบวนการในการวิจัยตลาดชนิดเต็มรูปแบบอย่างในมหาวิทยาลัย แต่ผลที่ได้ก็พอที่จะทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า...คนอินเดียยังไม่รู้จักลำไยไทยจริงๆ
หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ก็เห็นหน่วยงานภาครัฐของไทยทำการส่งเสริมผลไม้ไทยกันอย่างคึกคักโครมครามอยู่ทั่วโลกแล้วทำไมคนอินเดียถึงยังไม่รู้จักลำไยไทยกันอีก ก็ต้องขอเรียนว่าสาเหตุที่แท้จริงนั้นมาจากปัญหาเรื่องระบบลอจิสติกส์ตั้งแต่การขนส่งจากประเทศไทยไปจนถึงอินเดีย ซึ่งที่ผ่านมาจะใช้วิธีการขนส่งทางอากาศเป็นหลักเพื่อลดระยะเวลาในการขนส่งให้สั้นลงเนื่องจากลำไยเป็นผลไม้ที่เน่าเสียง่าย แต่ก็ทำให้ต้นทุนในการขนส่งลำไยไปอินเดียสูงมาก และเมื่อลำไยถูกขนส่งถึงประเทศอินเดียก็จะต้องถูกขนส่งต่อไปเพื่อกระจายไปยังรัฐและเมืองต่างๆในประเทศอินเดียด้วยระบบลอจิสติกส์แบบอินเดีย คือขนส่งกันแบบไม่ดูดำดูดีไม่มีระบบ ซึ่งตามสถิติก็คือสินค้าประเภทผลไม้สดที่ขนส่งกันภายในประเทศอินเดียจะเสียหายและสูญเสียไปไม่ต่ำกว่า 30-35% ที่หนักหนากว่านั้นก็คือ เมื่อขนส่งสินค้าผ่านรัฐแต่ละรัฐก็ต้องมีการเสียภาษีผ่านด่านของแต่ละรัฐอีก ฉะนั้น กว่าลำไยไทยจะเดินทางไปจนถึงมือผู้บริโภคคนสุดท้าย ราคาขายปลีกลำไยไทยในซูเปอร์มาร์เก็ตก็ตกเข้าไปกิโลกรัมละ 480-500 รูปีแล้ว (ประมาณ 312-325 บาท)
คนอินเดียที่จะสามารถซื้อผลไม้สดราคาขนาดนี้ไปบริโภคได้ก็จะมีอยู่ไม่มาก ส่วนใหญ่ก็เป็น
คนระดับเศรษฐีหรือคนฐานะดีที่เคยมาเที่ยวเมืองไทยและรู้ถึงรสชาติความอร่อยของลำไยไทยเท่านั้นที่จะยอมควักกระเป๋าซื้อ คนอินเดียส่วนใหญ่ซึ่งมีฐานะไม่ถึงระดับเศรษฐีหรือฐานะยังไม่ดีพอ จึงยังไม่มีโอกาสลิ้มลองรสชาติความหวานอร่อยของลำไยไทย ก็เลยพาลไม่สนใจและไม่รู้จักเอาซะดื้อๆ ส่วนพ่อค้าปลีกเห็นผู้บริโภคยังไม่รู้จักลำไยก็เลยแก้ปัญหาแบบง่ายๆ แทนที่จะเรียกว่า Longan ตามชื่อจริงของลำไยในภาษาอังกฤษ ก็ตั้งชื่อให้ใหม่เสร็จสรรพเป็น Thai Lychee หรือลิ้นจี่ไทยไปเลยเพื่อความสะดวก เนื่องจากมีเนื้อสีขาวเหมือนกัน แต่ในระยะยาวผู้บริโภคคงสับสนและภาครัฐของไทยคงต้องปวดหัวเหมือนกัน
เมื่อราคาแพงซะขนาดนี้ ผู้บริโภคชาวอินเดียจึงมองเห็นว่าลำไยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย คือ ไม่จำเป็นต้องบริโภคก็ได้ ผลไม้ของอินเดียก็มีให้เลือกบริโภคเยอะแยะอยู่แล้ว โดยผลไม้ยอดนิยมอันดับหนึ่งของคนอินเดียก็คือ กล้วยนั่นเอง ในปี 2553 คนอินเดียบริโภคกล้วยถึง 28.4 ล้านตัน รองลงมา คือ มะนาว ซึ่งคนอินเดียนิยมดื่มน้ำมะนาวกันอย่างมาก โดยในปี 2553 คนอินเดียบริโภคมะนาวถึง 10.4 ล้านตัน ถัดไปก็คือ ส้ม แอปเปิ้ล สับปะรด และองุ่น ตามลำดับ สำหรับลำไย ประเทศไทยส่งออกไปอินเดียเพียงเล็กน้อยประมาณ 1-2 แสนเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (ประมาณ 3-6 ล้านบาท) เทียบกับประเทศจีนที่ประเทศไทยส่งออกไปบางปีสูงถึง 65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่จำนวนประชากรของจีนและอินเดียใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามของสำนักงานฯ พบว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2555
ประเทศไทยได้ส่งออกลำไยสดไปอินเดียแล้วถึง 182,611 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5.66 ล้านบาท) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีมูลค่าเพียง 440 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 13,640 บาท) เท่านั้น จึงน่าสงสัยและติดตามว่าเกิดอะไรขึ้นกับลำไยไทยในตลาดอินเดียถึงได้มีการส่งออกกันระเบิดเถิดเทิงถึงเพียงนี้ แล้วก็ได้ทราบคำตอบว่ามีบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของอินเดียที่มีซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า 1,200 สาขาทั่วประเทศอินเดียได้มองเห็นโอกาสและศักยภาพของลำไยไทยในตลาดนี้ เนื่องจากรสชาติที่หวานจัดและเนื้อลำไยที่เคี้ยวได้อร่อยไม่เหมือนผลไม้อื่น ถูกกับจริตของผู้บริโภคอินเดียมาก บริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสทางการตลาดมหาศาลในอนาคต จึงได้แก้ไขปัญหาด้วยการพัฒนาระบบลอจิสติกส์เสียใหม่สำเร็จ ทำให้สามารถนำเข้าลำไยสดจากประเทศไทยด้วยต้นทุนที่ต่ำมากและทำให้ลำไยไทยในตลาดอินเดียมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และขณะนี้บริษัทฯ ดังกล่าวกำลังร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ วางแผนทำการส่งเสริมการตลาดให้ผู้บริโภคอินเดียรู้จักและบริโภคลำไยมากขึ้น ซึ่งเป็นการตอบโจทย์การตลาดขั้นต้นที่สุด คือ การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคให้รู้จักสินค้าก่อนที่จะขยับไปสู่ขั้นที่สอง คือ การทำการส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นความต้องการบริโภคสินค้าให้มากขึ้น ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อถึงวันนั้นเกษตรกรผู้ปลูกลำไยของไทยคงจะยิ้มออก...ลองคิดดูเล่นๆว่าวันไหนตลาดอินเดียเกิดกระแสนิยมลำไยขึ้นมา แค่คนอินเดียบริโภคลำไยคนละเม็ดต่อวันก็ตกวันละ 1,200 ล้านเม็ดแล้ว จะปลูกกันทันไหมนี่!!!
การบริโภคผลไม้สดของคนอินเดีย หน่วย: พันตัน
|
ผลไม้
|
2553
|
2552
|
2551
|
1. กล้วย
|
28,409.9
|
26,801.8
|
25,618.6
|
2. มะนาว
|
10,415.9
|
9,057.3
|
7,908.5
|
3. ส้ม
|
2,557.1
|
2,474.6
|
2,387.6
|
4. แอปเปิ้ล
|
1,898.0
|
1,842.7
|
1,989.2
|
5. สับปะรด
|
1,512.5
|
1,400.5
|
1,316.7
|
6. องุ่น
|
1,210.0
|
1,163.5
|
1,842.4
|
7. ผลไม้อื่น
|
16,307.8
|
15,486.3
|
14,653.9
|
รวม
|
62,311.2
|
58,226.7
|
55,716.9
|
ที่มา: Euromonitor International, September 2011
------------------------------------------------------------------------------------------------------
อดุลย์ โชตินิสากรณ์
30 มีนาคม 2555