
รัฐอัสสัมต้อนรับนักธุรกิจต่างชาติ เปิดโอกาสให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ไร่ใบชา ป่าไม้ไผ่
และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรม
อัสสัมเป็นรัฐที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เป็นรัฐที่เชื่อมต่อกับส่วนอื่น ๆ ของ อินเดียผ่านช่องแคบของรัฐเบงกอลตะวันตก รัฐอัสสัมอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคนไทยเท่าใดนัก สถานทูตฯ ได้มีโอกาสนำคณะสื่อมวลชนไทยไปเยือนรัฐอัสสัมเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้เห็นและรับฟัง ข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักธุรกิจไทย
จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ณ ที่นี้
รัฐอัสสัมมีประชากรประมาณ 22.2 ล้านคน เมืองหลวง
ของรัฐอัสสัมคือเมืองทิสปุระ (Dispur) มีเมืองสำคัญที่เป็นเมืองธุรกิจ คือเมืองกูวาฮาติ (Guwahati) ตั้งอยู่ติดกัน เหมือนกรุงเทพฯ กับธนบุรี กูวาฮาติ เป็นเมืองใหญ่
มีสนามบินซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเที่ยวบินที่เชื่อมต่อกับเมืองใหญ่ อื่นๆ
ของอินเดีย เช่น นิวเดลี และกัลกัตตา นอกจากสนามบินแล้ว กูวาฮาติเป็นเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี
พอควร ทั้งถนนหนทาง สะพาน และระบบสาธารณูปโภค
ตามเส้นทางจากสนามบินเข้าสู่ตัวเมือง จะเห็นร้านค้าและศูนย์การค้าขนาดย่อมตั้งอยู่เรียงราย สินค้า ที่ขายก็มีทั้งของ
ท้องถิ่น และของแบรนด์เนม อย่าง Nike , Adidas, Beneton แถมยังมีไอศกรีมยี่ห้ออเมริกัน Baskin Robbin ให้เห็นอย่างน้อยก็ 1 ร้าน และที่น่าตื่นตาตื่นใจไปกว่านั้น คือมีโชว์รูมรถโฟล์ค และ BMW ด้วย การจราจรในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ค่อนข้างติดขัด รถราเยอะ ส่วนใหญ่เป็นรถญี่ปุ่นที่ผลิตร่วมกับอินเดีย เช่น Suzuki-Maruti สิ่งเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อของคนชั้นกลางที่นับวันจะขยายตัว
ในวันที่คณะของสถานทูตฯ และสื่อมวลชนไทยเดินทางไปถึงเมืองกูวาฮาติ ท่านทูตได้นำคณะฯ เข้าพบ คุณ Tarun Gogoi มุขมนตรีของรัฐ ซึ่งเพิ่งชนะเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 อยู่ในตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 คุณ Gogoi เล่าให้พวกเราฟังว่า รัฐบาลของท่านทำให้เศรษฐกิจของอัสสัมโตขึ้นจาก 2% เป็น 8% ในช่วง 10 ปีที่ ผ่านมา โดยใช้นโยบายหลัก 3 ประการ คือ 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างถนนเชื่อมโยงให้เกษตรกร ขายสินค้าได้ 2) การให้สินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร และ 3) สนับสนุนให้กลุ่มสตรีใช้ประโยชน์ จากสินเชื่อในการสร้างงานสร้างรายได้ นอกจากนั้น รัฐบาลประสบความสำเร็จในการทำให้บ้านเมือง สงบสุข สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนและนักธุรกิจก็เกิดความเชื่อมั่นในการทำ ธุรกิจ
อุตสาหกรรมหลักของอัสสัม คือ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม และการผลิตชา เมืองดิบรูห์คารห์ ทางตอนเหนือของรัฐอัสสัม เป็นที่ตั้งของบ่อน้ำมันแห่งแรกที่ค้นพบภายหลังจากที่ อินเดียได้รับเอกราช คณะได้เยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปจาก บริษัทกลั่นน้ำมัน Numaligarh Refinery Ltd. ได้รับทราบข้อมูลที่น่าสนใจว่า บริษัท Numaligarh มีโรงกลั่นน้ำมัน 4 แห่ง ในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งน้ำมันให้กับ บริษัท Indian Oil และ Bharat Petroleum และสร้าง brand
ของบริษัทเอง มีปั๊มน้ำมันภายใต้ชื่อ NRL ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 75 แห่ง ตลอดจนส่งออกน้ำมันไปยัง ภูฏาน
และบังคลาเทศ และกำลังศึกษาลู่ทางส่งออกไปยังพม่า บริษัทมีศักยภาพการผลิต 185 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 7
ของการผลิตน้ำมันในประเทศ
นาย A.K. Bhattacharya ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด เล่าให้ฟังด้วยว่า ภาคตะวันออก เฉียงเหนือของอินเดียมีแหล่งน้ำมันดิบถึง 1.3 พันล้านตัน ก๊าซธรรมชาติ 156 พันล้านคิวบิกเมตร แหล่ง ใหญ่ของน้ำมันดิบอยู่ที่รัฐอัสสัมและอรุณาจัลประเทศ รัฐบาลกลางอินเดียมีนโยบายเปิดประมูลพื้นที่ สำรวจและขุดเจาะน้ำมันให้แก่เอกชนทั้งท้องถิ่นและต่างชาติ
พื้นที่ขุดเจาะน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย คือพื้นที่นอกชายฝั่งในเมืองมุมไบ
นอกจากเป็นแหล่งน้ำมันแล้ว ดิบรูห์คารห์ ยังเป็น 1 ในบรรดาเมืองที่เป็นแหล่งผลิตชาของอัสสัม เรียกได้ว่าเป็น Tea City of India ชาอัสสัมเป็นชาที่มีชื่อเสียงของอินเดีย ถือเป็นของดีของอินเดีย รสชาติ เข้มข้นและหอมกรุ่น เป็นของฝากที่ดีอย่างหนึ่ง ที่สามารถหาซื้อได้ทั่วประเทศ
นอกจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และการผลิตชาแล้ว อัสสัมยังเป็นแหล่งป่าไผ่ขนาดใหญ่ รัฐบาลมีนโยบายที่จะนำไม้ไผ่มาแปรรูปเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนไม้ ซึ่งรัฐบาลอัสสัมก็เชิญชวนให้นักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติมาร่วมทุนใน อุตสาหกรรมนี้ด้วย นอกจากนั้น อัสสัมยังเป็นแหล่ง เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีในด้าน
การแปรรูปอาหารเพียงพอ จึงน่าจะเป็นลู่ทางที่นักธุรกิจไทยจะมาลงทุน หรือร่วมทุนทำธุรกิจการแปรรูปอาหารได้ด้วย
เรื่องที่น่าจะเป็นสิ่งจูงใจให้นักลงทุนไทยมาสำรวจลู่ทางในรัฐอัสสัม คือ รัฐบาลอัสสัมมีมาตรการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนทั้งท้องถิ่นและต่างชาติ ทั้งในภาคการผลิตและสาขาบริการ อาทิ การยกเว้นภาษี การอุดหนุนการลงทุน
การสนับสนุนด้านพลังงาน การขนส่ง การสนับสนุนการชำระ ดอกเบี้ยเงินกู้
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ อาทิ รัฐบาลชุดปัจจุบันมีเสถียรภาพ อยู่ในอำนาจมาถึง สามสมัย ทำให้มีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายต่างๆ นอกจากนี้ อัสสัมยังมีทรัพยากรธรรมชาติ มากมาย และมีแรงงานมีฝีมือที่หาได้ไม่ยาก
ข้อมูลอีกเรื่องหนึ่งที่น้อยคนอาจจะทราบ คือ รัฐอัสสัมมีระยะทางห่างจากประเทศไทยเพียง ประมาณ 1,600 กม. (ประมาณเท่าๆ กับจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยะลา) ในขณะนี้ ยังไม่มีการบินตรง ระหว่างไทยกับอัสสัม การเดินทางที่สะดวกที่สุด คือ บินจากกรุงเทพฯ ไปกัลกัตตา 2 ชั่วโมง และต่อ เครื่องบินจากกัลกัตตาไปกูวาฮาติอีก 1 ชั่วโมง แต่ในอนาคต หากมีสายการบินใดเปิดเส้นทางบินตรง กรุงเทพฯ-กูวาฮาติ หรือ เชียงใหม่ – กูวาฮาติ ก็จะยิ่งทำให้การทำธุรกิจของไทยในรัฐอัสสัมสะดวกมากขึ้น
(ท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอกาสและลู่ทางด้านเศรษฐกิจของรัฐอัสสัม สามารถเข้าชม เว็บไซต์ของ Assam Industrial Development Corporation Ltd. ได้ที่ www.aidcltd.com)
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
23 มิถุนายน 2554