อินเดีย เป็นตลาดใหม่และมีศักยภาพที่จะเป็นตลาดรับซื้อยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพาราจากไทยของไทยได้ในอนาคต และเป็นการลดการพึ่งตลาดหลักเพียงตลาดเดียวของไทย (ปัจจุบันการส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้งของไทยร้อยละ 92 ส่งออกไปประเทศจีน) และอาจส่งผลต่ออำนาจต่อรองของไทยในอนาคต
ปัจจุบันอินเดียยังไม่มีการนำเข้าไม้ยางพาราจากไทย ส่วนใหญ่การนำเข้าจากไทยเป็น particle board และ fiber board ซึ่งเป็นสินค้าราคาถูก การนำเข้าไม้ยางพาราของอินเดียปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากศรีลังกาเป็นหลัก รองลงมาเป็น มาเลเซีย และพม่า อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ศรีลังกามีปัญหาน้ำท่วม ทำให้ไม้ยางคุณภาพด้อยลง ไม้มีตำหนิ และมีรอยแตกมาก ไม่เหมาะกับการทำเฟอร์นิเจอร์ ขณะที่มาเลเซียฝนตกชุกเกินไป ทำให้ไม้ยางมีคุณภาพไม่แน่นอน อีกทั้งคุณภาพการอบไม้ก็ยังสู้ของประเทศไทยไม่ได้ ประกอบกับอินเดียมีความต้องการไม้ยางคุณภาพสูงมีมากขึ้น สินค้าไม้ยางไทยจึงมีลู่ทางที่แจ่มใสในตลาดนี้
ในช่วง 1ปี ที่ผ่านมา คณะผู้แทนการค้าไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้งและผลิตภัณฑ์ของไทย ได้เดินทางไปเจรจาการค้าสินค้าไม้ยางพาราในตอนใต้ของอินเดีย เพื่อเป็นการขยายเปิดตลาดไปยังตอนใต้ ดังนี้
1. ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 1 ตุลาคม 2553 คณะผู้แทนจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภูมิภาค (สุราษฏร์ธานี) ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย และผู้ประกอบการธุรกิจไม้ยางพาราไทยจำนวน 13 ราย
ผลการเจรจาการค้าไม้ยางพาราประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ผู้ประกอบการไทยพึงพอใจกับการจับคู่ธุรกิจการค้า มีผู้ประกอบการอินเดียในสาขาก่อสร้าง สถาปนิก ตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ ไม้ปาร์เก้ และร้านค้าไม้สำเร็จรูป สนใจเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าไม้ยางพาราของไทยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคุณภาพไม้ยางไทยดีกว่าประเทศอื่นๆ ผลจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถทำยอดขายใน 1 ปีไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท
2. ครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2554 ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วยผู้แทนจากจังหวัดตรัง กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนจากบริษัทค้าสินค้ายางพาราของจังหวัดตรัง รวม 23 คน
ผู้ประกอบการไทยพึงพอใจกับการจับคู่ธุรกิจการค้า มีผู้ประกอบการอินเดีย รวม 45 บริษัทเข้าร่วมการเจรจากับบริษัทของไทย ผลการเจรจาธุรกิจประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยผู้ประกอบการโรงแรมของ เมืองเจนไน ได้ตัดสินใจเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ภายในโรงแรม ระดับ 4 ดาวเป็นเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพาราไทยทั้งหมด 155 ห้องทันที นอกจากนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจไม้แปรรูปรายใหญ่ของเมืองเจนไนได้ตัดสินใจเป็นตัวแทนนำเข้าไม้ยางแปรรูปของไทยเข้าไปจำหน่ายในเมืองเจนไน และโรงงานเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ของเมืองเจนไน ได้แสดงความสนใจ ที่จะนำเข้าไม้ยางพาราจากไทยไปผลิตเฟอร์นิเจอร์จำหน่ายในอินเดีย และยังได้มีนักธุรกิจโรงงานผลิตยางรถยนต์ของเมืองเจนไน ได้สนใจนำเข้ายางดิบรมควันจากไทยด้วย
อินเดียตอนใต้เป็นตลาดที่สำคัญ รวมกัน 4 รัฐ ได้แก่ รัฐฑมิฬ นาฑู รัฐกรณาฏกะ รัฐเกรละ และรัฐอานธรประเทศมีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน และเป็นรัฐที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีมาก มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เป็นโอกาสดีที่สินค้ายางพาราของไทยจะสามารถไปเปิดตลาดและประสบผลสำเร็จ ดังเช่นกรณีของสินค้าไม้ยางพาราที่คณะผู้แทนการค้าของไทยทั้งสองคณะมีความพึงพอใจมาก

นายชาญชัย จรัญวัฒนากิจ
กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน