หากท่านผู้อ่านเคยได้รับของฝากจากญาติสนิทมิตรสหายที่เดินทางกลับมาจากประเทศอินเดีย ก็มักหนีไม่พ้นยาขับลมเม็ดสีเขียวใสชื่อ Pudinhara หรือไม่ก็เวชสำอางผลิตจากสมุนไพรซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อ เช่น Himalaya Biotique Neem ผู้อ่านสตรีบางท่านอาจเคยได้รับกระเป๋าผ้าหรือเสื้อผ้าพิมพ์ลายยี่ห้อ Anokhi สีสันสดใสลวดลายน่ารักสไตล์อินเดีย
Anokhi ในภาษาฮินดีแปลว่า โดดเด่น ซึ่งสินค้ายี่ห้อนี้ก็โดดเด่นสมชื่อ แขกไปใครมาอินเดียมักจะซื้อหาติดไม้ติดมือกันกลับบ้านเนื่องจากเป็นของฝากที่มีเอกลักษณ์ชัดเจนว่าฉันเดินทางไปอินเดียมานะจ๊ะ ผู้รับส่วนใหญ่ก็ชื่นชอบเพราะหยิบใช้ได้ง่ายเนื่องจากเสื้อผ้า-กระเป๋าเป็นแบบร่วมสมัย
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Anokhi ไม่ได้มีเพียงแค่ตัวสินค้าเท่านั้น เรื่องราวของ Anokhi เริ่มต้นขึ้นเมื่อดีไซเนอร์ชาวไอริชซึ่งมีบรรพบุรุษเคยเป็นมิชชันนารีที่รัฐราชาสถาน ได้เดินทางย้อนรอยศึกษาประวัติของครอบครัวตนเอง และได้พบรักกับทายาทครอบครัวมหาราชาซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จนกระทั่งได้ร่วมกันก่อตั้งกิจการขนาดครอบครัวเล็ก ๆ และพัฒนามาเป็น บริษัท Registhan Ovt Ltd. ในปัจจุบัน

แบรนด์
อายุกว่า 30 ปีที่มีต้นกำเนิดจาก
เมืองชัยปุระ (Jaipur) ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเทคนิคการพิมพ์ผ้าแบบท้องถิ่นสามารถนำมา
ประยุกต์ให้เข้ากับรูปแบบเครื่องนุ่งห่มสมัยใหม่ได้อย่างสวยงาม
ลวดลายบนผ้าเกิดจากการแกะพิมพ์จากไม้สักซึ่งช่างฝีมือใช้เวลาหลายชั่วโมงในการแกะสลักพิมพ์ไม้แต่ละอัน ก่อนจะใช้สีย้อมธรรมชาติจากพืชทาพิมพ์แล้วกดไล่เป็นแนวไปบนผ้าฝ้ายออร์แกนิกให้เกิดเป็นลวดลายทั้งผืน ซึ่งเทคนิคการพิมพ์ผ้าดังกล่าวเป็น
เทคนิคโบราณเฉพาะของรัฐราชาสถานตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 12 ลวดลายของผ้าแต่ละผืนจึงไม่ซ้ำกัน ขอบลายอาจซ้อนทับไม่เนี้ยบเหมือนกันทุกกระเบียด สีเข้มอ่อนไม่เท่ากันบ้างแต่นั่นคือเอกลักษณ์ของงานฝีมือ
นายจอห์น และนางเฟธ ซิงห์ ( John & Faith Singh) ผู้บริหาร 2 สามีภรรยาตระหนักดีว่าการทำงานร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่นซึ่งมีความภาคภูมิใจในผลงานของตนนั้นจำเป็นต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา การสร้างฐานการผลิตในพื้นที่ซึ่งวัฒนธรรมแข็งแกร่งชัดเจนจำเป็นต้องเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืนที่ทุกฝ่ายพึงพอใจและสามารถอยู่ร่วมกันได้ Anokhi จึงให้ความสำคัญกับการจ้างงานคนท้องถิ่นและตั้งเวิร์กช็อปในหมู่บ้านเล็ก ๆ หลายแห่งในเมืองชัยปุระแทนที่จะสร้างโรงงานผลิตด้วยเครื่องจักรซึ่งผลิตสินค้าได้จำนวนมากในระยะเวลาเท่ากัน ทั้งคู่ตั้งปณิธานไว้ว่าจะอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไปพร้อม ๆ กับการดูแลคนในพื้นที่ด้วย สินค้าของ Anokhi ทุกชิ้นทำขึ้นด้วยมือของพนักงานกว่า 800 ชีวิต ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ ทุกคนได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล สวัสดิการการเดินทางไปทำงาน รวมถึงการศึกษาแก่บุตรหลาน
ปัจจุบัน Anokhi มีกว่า 20 สาขาทั่วอินเดีย และมีวางขายในเว็บไซต์ต่างประเทศ ราคาจำหน่ายสูงเป็นหลายเท่าตัวส่งผลให้ครึ่งหนึ่งของรายได้มาจากการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในอังกฤษ โมเดลการทำธุรกิจของ Anokhi แตกต่างจากบริษัทอื่นด้วย แนวคิดหลักที่เน้นการอนุรักษ์งานฝีมืออินเดีย ซึ่งไม่ได้เพียงแค่อนุรักษ์เท่านั้น แต่ยังจัดสถานที่แสดงอีกด้วย ผู้บริหาร Anokhi ได้สร้างพิพิธภัณฑ์การพิมพ์ลายผ้าและร้านกาแฟขึ้นที่เมืองชัยปุระสำหรับนักท่องเที่ยวผู้สนใจ นอกจากแนวคิดแบบอินเดียนิยมแล้ว ยังมีปัจจัยที่หนุนให้แบรนด์เติบโตได้อย่างยั่งยืน ดังนี้
• การผสมผสานงานฝีมือท้องถิ่นเข้ากับรูปแบบสินค้าสมัยใหม่ เพื่อนชาวอินเดียมักจะกล่าวถึง Anokhi ด้วยความภาคภูมิใจเสมอว่า ธุรกิจของชาวอินเดียประสบความสำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องทิ้งรากเหง้า เลียนแบบต่างประเทศ หรือเกาะกระแสวัฒนธรรมตะวันตก (ชาวอินเดียส่วนใหญ่ยังคงยึดขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของตนอย่างเหนียวแน่น ผู้เขียนสังเกตว่าสตรีอินเดียโดยทั่วไปยังคงสวมใส่ส่าหรีหรือเสื้อตัวยาวลายพิมพ์พื้นเมือง เสื้อผ้าสมัยนิยมชุดกระโปรงสั้นยังไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากขัดกับหลักการรักนวลสงวนตัว
ของสตรีอินเดีย) ทีมงานนักออกแบบของ Anokhi มักศึกษาและทดลองผสมสีใหม่ ๆ โดยอิงตามสมัยนิยมมาใช้ในการพิมพ์ลายผ้า นอกจากนี้ ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบยังกระตุ้นการพัฒนารูปแบบสินค้าใหม่โดยการสนับสนุนให้ช่างฝีมือศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
• การดูแลชุมชนซึ่งเป็นฐานการผลิต อินเดียเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกในการผลิตสิ่งทอ ทว่าเทคโนโลยีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ผ้าจำนวนมากถูกย้อมด้วยสีสังเคราะห์และมักมีราคาย่อมเยา งานย้อมหรือทอด้วยมือกลับเป็นที่ต้องการและจำหน่ายในราคาสูงกว่าเป็นเท่าตัว การออกแบบผ้าของ Anokhi แต่ละผืนต้องผ่านการประชุมระดมความเห็นกับช่างฝีมือท้องถิ่นหลายครั้งโดยปราศจากการกดราคาค่าแรงการผลิต
"งานฝีมือ" ซึ่งต้องอาศัยความประณีตบรรจง ผู้บริหาร Anokhi ตั้งใจที่จะกระจายการจ้างงานและฐานการผลิตไปยังหมู่บ้านหลายแห่งในเมืองชัยปุระ เนื่องจากตระหนักดีว่าอาชีพของชาวอินเดียโดยเฉพาะสตรีในชนบทนั้นมีเพียงเกษตรกรกับช่างฝีมือเท่านั้น ระบบการผลิตผ้าของ Anokhi เริ่มต้นจากการที่ดีไซเนอร์ประจำสำนักงานใหญ่ออกแบบลวดลาย จากนั้นจะผลิตชิ้นงานตัวอย่าง แล้วจึงส่งผ้าฝ้ายออร์แกนิกและอุปกรณ์การผลิตไปยังช่างฝีมือเพื่อให้สามารถทำที่บ้านได้ เมื่อพิมพ์ลายผ้าเสร็จจึงส่งชิ้นงานกลับไปยังสำนักงานใหญ่เพื่อตรวจสอบคุณภาพและตัดเย็บเป็นสินค้าต่าง ๆ ต่อไป
เรื่องราวบริหารธุรกิจของ Anokhi เป็นแรงบันดาลใจที่ดีแก่ผู้ประกอบการที่สนใจนำเอางานฝีมือท้องถิ่นมาประยุกต์ให้เป็นแบบสมัยนิยมเพื่อเป็นการพลิกฟื้นและอนุรักษ์ของดีประจำถิ่น และที่สำคัญที่สุดคือเป็นธุรกิจต้นแบบในการดูแลชุมชนอย่างจริงใจ ไม่เอารัดเอาเปรียบ ซึ่งส่งผลให้คนในพื้นที่ "อยู่ได้" และธุรกิจ "อยู่รอด"
โดย ภัทธิรา เจียมปรีชา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,989 วันที่ 5 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557