
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอินเดียเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีไทย ทั้งสองฝ่ายหารือประเด็นความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนรอบด้าน ฝ่ายอินเดียประกาศพร้อมอำนวยความสะดวกเอกชนไทยที่ต้องการทำธุรกิจและลงทุนในอินเดียเต็มที่
การเยือนไทยของนายมันโมฮัน สิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดียครั้งนี้ ตอกย้ำความสัมพันธ์ไทย-อินเดียที่กำลังก้าวหน้า เพราะเป็นการเยือนไทยครั้งแรกในระดับทวิภาคีตั้งแต่นายสิงห์เข้ารับตำแหน่งนายกอินเดียเมื่อ 9 ปีก่อน ต่อเนื่องมาจากการที่นายกไทยเยือนอินเดียถึง 2 ครั้งในปีเดียวเมื่อปีกลาย และยังได้รับเกียรติให้เป็นแขกเกียรติยศงานฉลองวันชาติอินเดียด้วย
ในระหว่างการหารือของทั้งสองฝ่าย นายกรัฐมนตรีไทยและอินเดียยังได้ชี้ให้เห็นตัวเลขการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 15% มาอยู่ที่ 8.6 พันล้านดอลลาร์เมื่อปี 2555 ขณะที่การลงทุนของอินเดียในไทยและไทยในอินเดียก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งสองฝ่ายจึงพร้อมจะส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก
ด้วยเหตุนี้ ผู้นำทั้งสองจึงได้ประกาศสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้ง Thailand-India Business Forum เพื่อเป็นกลไลส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชน การประกาศให้บริการวีซ่าเร่งด่วนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจจากทั้งสองฝ่าย รวมถึงการจัดทำความตกลงประกันสังคม เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาการจัดเก็บเงินประกันสังคมของคนงานจากทั้งสองประเทศ
ในด้านการลงทุน นายกรัฐมนตรีอินเดียประกาศต้อนรับการลงทุนจากภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะในโครงการระเบียงเศรษฐกิจเดลี-มุมไบและเจนไน-บังกาลอร์ การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงพุทธและการพัฒนาพื้นที่ในภาคอีสานของอินเดีย โดยสาขาที่ฝ่ายอินเดียต้องการนักลงทุนจากไทยเป็นพิเศษ ได้แก่ การสร้างท่าเรือและถนน อุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ แปรรูปอาหาร การผลิตกระแสไฟฟ้า การท่องเที่ยวและโรงแรม

การหารือเต็มคณะระหว่างไทยและอินเดียที่ทำเนียบรัฐบาล
ด้านนายกยิ่งลักษณ์ก็ไม่ลืมที่จะเชิญชวนเอกชนอินเดียร่วมลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลไทย รวมถึงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในพม่าที่ไทยกำลังร่วมมือกับพม่าในการพัฒนาด้วย โดยในส่วนของโครงการทวายนั้น อินเดียเตรียมจะเชิญคณะจากไทยและพม่าจัดโรดโชว์เพื่อให้ข้อมูลการลงทุนกับเอกชนอินเดียที่สนใจ
ส่วนความคืบหน้าการเจรจา FTA ไทย-อินเดียนั้น นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายย้ำความสำคัญของการบรรลุข้อตกลงด้านการบริการและการลงทุน ในการเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างกัน พร้อมสั่งการให้รัฐมนตรีพาณิชย์ของตนลงมาควบคุมด้วยตัวเองให้การเจรจาสำเร็จลุล่วงให้ได้ภายในตุลาคมปีนี้ ซึ่งน่าจะเป็นข่าวดีสำหรับหลายฝ่าย
ที่เป็นข่าวดีไม่แพ้กันก็คือความคืบหน้าโครงการก่อสร้างถนนสามฝ่ายไทย-พม่า-อินเดีย เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งและคมนาคมระหว่างอินเดียกับอาเซียน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันให้การก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จภายในปี 2559 โดยไทยเสนอเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อเร่งรัดโครงการดังกล่าวในปีนี้
นายกรัฐมนตรีอินเดียยังแสดงความยินดีที่การบินไทยกำลังมีส่วนช่วยเชื่อมโยงการค้าและประชาชนไทยกับอินเดีย ด้วยการเดินหน้าเพิ่มเที่ยวบินไปยังจุดต่างๆ ของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ-อาห์เมดาบัด ภูเก็ต-นิวเดลี และภูเก็ต-มุมไบ ที่เปิดทำการบินไปเร็วๆ นี้ ทำให้ปัจจุบันมีเที่ยวบินเชื่อมไทย-อินเดียแล้วมากกว่า 150 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

นายกรัฐมนตรีไทยและอินเดียเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลง 7 ฉบับ
นอกจากความร่วมมือด้านเศรษฐกิจแล้ว นายกรัฐมนตรีทั้งสอฝ่ายยังได้หารือด้านอื่นๆ เช่น ความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษาและวัฒนธรรม โดยในด้านการทหารฝ่ายไทยสนใจที่จะร่วมมือกับอินเดียด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ขณะที่ในด้านการศึกษา นายกอินเดียยังแสดงความขอบคุณรัฐบาลและเอกชนไทย โดยเฉพาะในอินเดีย ที่ได้ร่วมสนับสนุนเงินก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทาด้วย
นายกรัฐมนตรีของทั้งสองยังได้เป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงในต่างๆ ระหว่างไทยกับอินเดียรวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ ที่สำคัญ ได้แก่ ความตกลงส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน บันทึกความเข้าใจเพื่อก่อตั้งโครงการแลกเปลี่ยนไทย-อินเดีย บันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้าน geospatial mapping ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือปราบปรามการฟอกเงิน และความร่วมมือการจัดตั้งหลักสูตรอินเดียศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(สามารถดูรายละเอียดและภาพการเยือนเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiemb.org.in)
ประพันธ์ สามพายวรกิจ
รายงานจากกรุงนิวเดลี
4 มิถุนายน 2556