เข้าใจโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวกับธุรกิจในอินเดียอย่างง่ายๆ (ตอนจบ)
สองตอนที่ผ่านมา ได้กล่าวถึง โครงสร้างภาษีที่เกี่ยวกับภาษีธุรกิจ (Corporate Income Tax) และภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) ซึ่งได้แก่ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) ภาษีขายซึ่งจัดเก็บโดยรัฐบาลกลาง (Central Sales Tax หรือ CST) ภาษีเข้าเมือง (Entry Tax) ภาษีผ่านแดนหรือข้ามรัฐ (Octroi) ภาษีท้องถิ่น (Local Body Tax หรือ LBT) ภาษีสรรพสามิตส่วนกลาง (Central Excise Duty) และภาษีบริการ (Service Tax) มาแล้ว
สำหรับตอนนี้ ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย จึงขอนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับภาษีอื่นๆ แบบง่ายๆ โดยเฉพาะภาษีศุลกากร (Customs Duty) อากรแสตมป์ (Stamp Duty) ภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) และ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน (Property Tax)
ขอเริ่มต้นด้วยภาษีศุลกากร (Customs Duty) ก่อน โดยการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของสินค้าในอัตราต่างๆ นั้นเป็นไปตามกฏหมายของอินเดียว่าด้วยอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าหรือ Customs Tariff Act 1975 ทั้งนี้ เมื่อส่งสินค้าเข้าไปยังประเทศอินเดีย ผู้นำเข้าหรือผู้รับจำเป็นจะต้องชำระภาษีอากรขาเข้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าใช้ส่วนบุคคล หรือสินค้าเพื่อการพาณิชย์
วิธีการประเมินก็คิดคำนวณตามราคาซีไอเอฟ (CIF) คือ การชำระอากรและภาษีคำนวณจากมูลค่าของสินค้านำเข้าเต็มจำนวนซึ่งรวมค่าสินค้า ค่าประกันภัยและค่าขนส่ง (Cost, Insurance & Freight) โดยเฉพาะอากรจะคำนวณจากยอดรวมของราคาซีไอเอฟ (CIF) บวกค่าธรรมเนียมเทียบท่า (Landing Charges) ร้อยละ 1
อย่างไรก็ดี การเก็บอากรของสินค้าบางชนิดขึ้นอยู่กับหน่วยวัด และยังมีการเรียกเก็บภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) ซึ่งเรียกเก็บจากสินค้านำเข้าที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลประเทศผู้ส่งออก และค่าธรรมเนียมการศึกษา (Education Cess) ต่างๆ ด้วย
ตัวอย่างเช่น หากลูกค้าของท่านต้องการนำเข้าโทรทัศน์ LED ขนาด 39 นิ้ว ซึ่งมีพิกัดภาษี รหัสฮาร์โมไนซ์ (HS Code) 8528.72.19 จากประเทศไทยเข้ามาอินเดีย วิธีการคำนวณภาษีอย่างง่ายๆ ก็คือ คำนวณอัตราภาษีศุลกากรนำเข้า ร้อยละ 10 บวกกับค่าธรรมเนียมเทียบท่า (Landing Charges) ร้อยละ 1 ของราคา CIF บวกค่าภาษีตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ซึ่งคิดในอัตราร้อยละ 10 ของอัตราภาษีที่เรียกเก็บจากราคา CIF กับค่า CVD บวกกับค่าธรรมเนียมการศึกษา ซึ่งคิดในอัตราร้อยละ 3 ของจำนวนภาษีนำเข้าและและภาษี CVD บวกกับค่า Additional Countervailing Duty ซึ่งคิดในอัตราร้อยละ 4 ด้วย ทั้งนี้ การคิดคำนวณภาษีดังกล่าวอาจสร้างความงงงวยให้แก่ผู้ส่งออกได้ไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ดี เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกัน ประเทศไทยและอินเดียได้มีการเจรจาและทำความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (Thailand-India Free Trade Agreement: TIFA) มาตั้งแต่ปี 2546 โดยผู้ประกอบการไทยจะได้รับประโยชน์จากการได้ลดภาษีนำเข้าไปอินเดียในรายการสินค้าเร่งลดภาษีบางส่วน (Early Harvest Scheme) รวม 83 รายการ ซึ่งแยกเป็น กลุ่มสินค้าเกษตร 7 รายการ กลุ่มสินค้าอาหารทะเลแปรรูป 4 รายการ สินค้าเกลือ 1 รายการ กลุ่มสินค้าแร่และเคมีภัณฑ์ 5 รายการ กลุ่มสินค้าเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ 10 รายการ สินค้าไม่อัดบาง 1 รายการ กลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ 4 รายการ กลุ่มสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ 9 รายการ กลุ่มสินค้าอลูมิเนียม 2 รายการ กลุ่มสินค้าเครื่องจักรกล เครื่องสูบของเหลว เครื่องระบายอากาศ เครื่องปรับอากาศ เครื่องจักรกลการเกษตร 24 รายการ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Free Trade Agreement: AIFTA) ได้อีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนและอินเดียได้ร่วมกันลงนามความตกลงการค้าสินค้าระหว่างกันเมื่อปี 2552 โดยให้มีการลดภาษีด้านการค้าสินค้าระหว่างกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 โดยมีสินค้ากว่า 7,775 รายการ หรือร้อยละ 63.99 ของรายการสินค้าทั้งหมดตามพิกัดศุลกากรที่เข้าข่ายได้รับการลดภาษีศุลกากร เป็นร้อยละ 0 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป (สำหรับกลุ่มสินค้าที่จัดอยู่ในกลุ่ม Normal Track1 ) จนเหลือร้อยละ 5 ภายในปี 2561 (สำหรับกลุ่มสินค้าที่จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหว หรือ Sensitive List1)
ตัวอย่างสินค้าที่อินเดียยกเลิกภาษีแล้ว ได้แก่ เตาไมโครเวฟ ตู้เย็น พัดลม ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำผลไม้ ผลไม้แปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่น และของเล่น เป็นต้น ส่วนรายการที่จะยกเลิกภาษีในอนาคตในปี 2559 ก็เช่น โทรทัศน์สี สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล หม้อแปลง เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
จากรายงานข่าวล่าสุดทราบว่า ทางการไทย อินเดียและอาเซียนได้พยายามผลักดันให้มีการเพิ่มพูนมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น โดยจากการประชุมอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 12 ที่กรุงเนปิดอร์ ประเทศเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2557 ผู้นำประเทศอาเซียนและอินเดียได้ให้ความเห็นชอบที่จะให้ทุกฝ่ายได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงอาเซียน-อินเดีย ด้านการค้าและบริการการลงทุนให้มากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 นี้ ทั้งนี้ เพื่อจะเป็นพื้นฐานไปสู่การเจรจา RCEP หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก ASEAN 10 ประเทศ บวกกับ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ในอนาคตต่อไป
สำหรับการประชุมด้านการเจรจาในกรอบ RCEP นั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบในการเข้าร่วมการประชุม โดยการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ซึ่งจัดขึ้นครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 1-5 ธ.ค. 2557 โดยอินเดียเป็นเจ้าภาพนั้น ทราบว่า การเจรจาตามข้อบทของความตกลง RCEP ซึ่งประกอบด้วยบทการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันและประเด็นทางกฎหมาย มีความคืบหน้าไปด้วยดีเป็นลำดับ แต่ในส่วนของการเจรจาในหัวข้อรูปแบบการเปิดตลาดสำหรับการค้าสินค้า บริการและการลงทุนนั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ครั้งหน้า ในเดือน ก.พ. 2558 โดยครั้งนี้ จะจัดประชุมที่กรุงเทพฯ ซึ่งคงต้องติดตามผลการประชุมอย่างใกล้ชิดต่อไป
กลับมาว่ากันด้วยเรื่องภาษีตัวอื่นๆ ต่อไป นั่นก็คือ อากรแสตมป์ (Stamp duty) ซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากการกระทำตราสาร เช่น ตราสารเช่าที่กับโรงเรือน เช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ กู้ยืมเงิน เป็นต้น อัตรา การเก็บอากรแสตมป์ของอินเดียในแต่ละรัฐมีอัตราที่แตกต่างกัน เช่น รัฐทมิฬนาฑู เรียกเก็บอัตราร้อยละ 6 รัฐอานธรประเทศ ร้อยละ 3 และรัฐกรณาฏกะ ร้อยละ 7.01 เป็นต้น
ภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) เป็นอีกหนึ่งตัวที่สมควรกล่าวถึง โดยหน่วยงานด้านศุลกากรอินเดียจะเรียกเก็บเป็นรายปีในอัตราร้อยละ 1 ของมูลค่าทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน อาคาร ที่ถือครองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าและมีมูลค่าสูงกว่า 3 ล้านรูปี นอกจากนี้ ยังเรียกเก็บภาษีความมั่งคั่งจากบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของยานยนต์ เรือยอร์จ เรือและอากาศยาน เครื่องเงินเครื่องทอง ที่ไม่ได้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าด้วย อย่างไรก็ดี แม้ว่าอินเดียจะเรียกเก็บภาษีความมั่งคั่ง แต่ไม่มีการเรียกเก็บภาษีมรดก (Inheritance tax) โดย ทั้งชาวต่างชาติและชาวอินเดียที่เข้าข่ายเกณฑ์จะต้องเสียภาษีความมั่งคั่งจะต้องจ่ายภาษีโดยไม่มีข้อยกเว้น
ภาษีตัวสุดท้าย คือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน (Property Tax) ซึ่งเรียกเก็บโดยหน่วยงานท้องถิ่น โดยมีอัตราเรียกเก็บแต่ละพื้นที่ต่างกัน ภาษีโรงเรือนและที่ดินจะจัดเก็บจากรายได้ที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง อย่างอื่นๆ กับที่ดินที่ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น โดยเจ้าของทรัพย์สินต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี และทางการจะเป็นผู้ประเมินภาษีโดยอาจพิจารณาจากการประเมินรายได้จากทางการท้องถิ่น ค่าเช่าที่ได้รับ และค่าเช่าเฉลี่ยของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่นั้นๆ เป็นต้น
เมื่อทราบและเข้าใจเรื่องภาษีแล้ว ก็ถึงเวลาที่สมควรจะจ่ายภาษีให้ถูกต้องเป็นลำดับต่อไป
***************************
รายงานและเรียบเรียงจากข้อมูลของ บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย Altacit Global สาขาเมืองเจนไน
โดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน