โดย พิศาล มาณวพัฒน์
เวลาเราพูดถึงชาวอินเดีย คนไทยมักนึกถึงชาวภารตะที่ไปตั้งถิ่นฐานในบ้านเราอาทิ ย่านพาหุรัด ทำให้คนไทยคิดว่า ชาวอินเดียคงมีหน้าตา ผิวพรรณ การแต่งกาย หรือแม้แต่อาชีพการดำรงชีวิตเป็นแบบที่เห็นในกรุงเทพฯ
ในข้อเท็จจริง อินเดียมีความแตกต่างระหว่างกันอย่างสุดโต่งในแทบทุกเรื่อง รวมทั้งหน้าตา ผิวพรรณ อุปนิสัย ความเชื่อของคนในชาติ อาทิ รัฐทางเหนือสุดเป็นชาวแคชเมียร์นับถือศาสนาอิสลาม หน้าตาคมคาย ผิวขาวแบบชาวเอเชียกลาง ในขณะที่ผู้คนทางใต้ เช่น รัฐทมิฬนาฑูหรือเกรละจะมีผิวเข้ม มีทั้งชาวฮินดู มุสลิมและคริสต์
สำหรับชาวอินเดียที่ตั้งถิ่นฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือติดชายแดนจีน พม่าและบังคลาเทศ จะมีหน้าตา ผิวพรรณ วัฒนธรรม การแต่งกาย ลักษณะบ้านเรือน การดำรงชีพใกล้เคียงกับผู้คนใน พม่า ไทย ลาว มากที่สุด และในภาคนี้จะมีชนเผ่าไทตั้งถิ่นฐานอยู่ อย่างน้อย 6 เผ่า คือ ไทอาหม ไทผ่าเก ไทอ้ายตอนในรัฐอัสสัม และไทคำตี้ ไทตุรัง และไทคำยังในรัฐอรุณาจัลประเทศที่ติดกับชายแดนจีน
เวลานายทรุน โกกอย มุขมนตรีหรือผู้บริหารสูงสุดของรัฐอัสสัม พบคนไทยมักจะออกตัวอย่างภาคภูมิใจว่าเขาเป็นคนไทอาหม คนไทอาหมสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าอาหมที่อพยพมาจากจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานในที่ราบริมแม่น้ำพรหมบุตรตั้งแต่ ค.ศ. 1228 ปกครองพื้นที่ในรัฐอัสสัมปัจจุบันอีก 600 ปีต่อมา จนถึงยุคอังกฤษที่เข้ามามีอิทธิพลในอินเดีย
ปัจจุบันชาวอาหมเหล่านี้ได้ยอมรับอารยธรรม ศาสนาและวัฒนธรรมอินเดียไปหมดแล้ว ภาษาอาหมจึงเป็นภาษาที่มีเพียงผู้คนจำนวนน้อยใช้ในพิธีกรรมโบราณ อาทิ พิธีแม่ดำ แม่ผี เซ่นไหว้บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่พวกเรามีโอกาสไปร่วมชมในหมู่บ้านไทอาหมเมื่อเร็วๆ นี้
ก่อนมาถึงหมู่บ้านไทอาหม พวกเราไปเยี่ยมและทานอาหารกลางวันที่หมู่บ้านไทอ้ายตอน ที่วัดพุทธสายทิเบต ศูนย์กลางหมู่บ้าน ผู้คนละม้ายมาทางไทยมากว่าไทอาหม เอกสารในห้องสมุดของหมู่บ้านก็เป็นอักขระที่ละม้ายกับทางเหนือของไทย
ชาวไทที่ใกล้เคียงกับคนไทยมากที่สุดเห็นจะเป็นชาวไทผ่าเก ซึ่งยังคงอัตลักษณ์ของตนอยู่ในหลายๆ หมู่บ้านทางเหนือของรัฐอัสสัม มีรวมกันประมาณ 5000 คน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จไปเยี่ยมหมู่บ้านชาวไทผ่าเกแล้วเมื่อปี 2552 มีแผ่นป้ายหินอ่อนจารึกความปลาบปลื้มปิติของชาวไทผ่าเก ไว้ที่วัดพุทธสายเถรวาทประจำหมู่บ้านอย่างถาวร
ผมมีโอกาสไปเยี่ยมหมู่บ้านไทยผ่าเกในปี 2554 ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นตั้งแต่ทางเข้าหมู่บ้านด้วยผู้เฒ่า คนหนุ่มสาวและเด็กเล็ก แวดล้อมด้วยบ้านช่องในหมู่บ้านที่ดูแล้วเหมือนหมู่บ้านทางเหนือของไทยมากกว่าในอินเดีย
ในวัดพุทธสายเถรวาทกลางหมู่บ้าน ผู้เฒ่าสูงอายุได้ผูกสายสิญจน์อวยพรคณะของสถานทูตด้วยภาษาไทที่สามารถฟังเข้าใจได้หลายคำ อาหารกลางวันที่ชาวไทยผ่าเกจัดเลี้ยงก็เหมือนอาหารที่พวกเราได้รับจากญาติชาวไทยในบ้านเรา หากไปอีกในช่วงสงกรานต์ ก็คงได้เห็นประเพณีไม่ต่างจากบ้านเราอย่างแน่นอน
ไม่ใช่แต่สถานทูตเท่านั้นที่ไปมาหาสู่ติดต่อกับชาวไทผ่าเกจากประเทศไทย มีนักวิชาการจาก อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปอยู่อาศัยทำวิจัยเป็นประจำ เฉพาะปีกลายมีจากไทยไป 34 คน นับเป็นจำนวนคนต่างชาติที่มากที่สุด
ชาวไทผ่าเกมีความภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนสูง และมุ่งมั่นที่จะรักษาไว้ คนหนุ่มสาวถึงแม้จะเดินทางออกจากหมู่บ้านไปทำงานในเมืองใหญ่ ก็ยังพูดภาษาไทได้ ผูกพันกับบ้านเกิดและมักแต่งงานระหว่างกัน
รัฐบาลอินเดียได้แจ้งฝ่ายไทยให้ทราบถึงแนวนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และว่าอยากเห็นความร่วมมือและความเชื่อมโยงไปมาหาสู่กันระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับไทยให้มากขึ้น เพราะคงเห็นแล้วว่าในแนวโน้มข้างหน้าความเชื่อมโยงทางบก เรือ และอากาศระหว่างอินเดียกับไทยและอาเซียนเป็นผลประโยชน์ร่วมกันอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุผลนี้เอง อินเดียจึงลุกขึ้นมาจัดขบวนรถอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 2 ที่นำขบวนรถคาราวานจากทุกประเทศอาเซียน ขับจากสิงคโปร์ ผ่านมาเลเซีย ไทย กัมพูชา เวียดนาม ลาว ไทย ผ่านพม่าเข้ามาสูอีสานอินเดีย จบที่เมืองกูวาฮาติของรัฐอัสสัม อันเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองความสัมพันธ์อินเดีย-อาเซียน ครบ 20 ปี เมื่อปลายปี 2555
สถานทูตไทยที่กรุงนิวเดลีรับลูกต่อด้วยการสนับสนุนการไปมาหาสู่ระหว่างผู้คนในอีสานอินเดียกับไทย อาทิ ปีกลายได้จัดให้ตัวแทนหมู่บ้านผ่าเกไปเยี่ยมชมโครงการในพระราชดำริ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหลายจังหวัดของไทย และกำลังรอข้อเสนอติดตามผลของผู้นำหมู่บ้านเพื่อให้การสนับสนุนต่อ
นอกจากนี้ เรายังมีคุณธราดล ทองเรือง หัวหน้าสำนักงานพาณิชย์ประจำกรุงนิวเดลี ที่ให้ความสำคัญและพยายามเชื่อมโยงไทยกับภาคอีสานอินเดียมาโดยตลอด โดยคุณธราดลเป็นที่รู้จัก ยอมรับ และได้รับการยกย่องจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและภาคเอกชนแทบทุกรัฐในภาคนี้
โดยทั่วไป ชาวอินเดียจะมีทัศนคติที่ดีต่อไทยอยู่แล้ว แต่ชาวอีสานอินเดียนอกจากทัศนคติที่ดีแล้วยังมีความกระตือรือร้นสูงยิ่งที่จะขยายความสัมพันธ์กับไทยในทุกด้าน รองประธานสมาคมภาคเอกชนของรัฐอัสสัมได้มาขอผมถึงสถานทูตให้รัฐบาลไทยพิจารณาเปิดสำนักงานตัวแทนในอัสสัมเพื่อเป็นศูนย์ข่าวสาร ข้อมูลด้านต่างๆ รวมถึงการท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นแหล่งให้ชาวอีสานอินเดียได้เรียนรู้ภาษาไทย ดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย การทำอาหารไทย ฯลฯ ทุกอย่างที่เป็นไทยนั่นเอง
ผมเห็นอีสานอินเดียจากการเยือนมา 3 ครั้ง รวมทั้งรัฐนากาแลนด์แล้วก็ต้องบอกว่า ประทับใจในมิตรไมตรีของชาวบ้านพื้นเมืองทุกหนแห่ง กระทรวงวัฒนธรรมน่าจะลองพิจารณาตั้งศูนย์วัฒนธรรมเล็กๆ ที่เมืองกูวาฮาติ ศูนย์กลางอีสานอินเดียซึ่งมีเที่ยวบินเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ ด้วยเวลาเดินทางน้อยกว่า 3 ชั่วโมง เพราะมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น
ผมได้แจ้งผู้บริหารซีพีในอินเดียว่า หากจะพิจารณาอินเดียทุกภาคแล้ว ภาคอีสานอินเดียคงจะมีผู้คนที่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉพาะหมูมากที่สุด ซีพีเองสนใจตลาดหมูอยู่แล้ว แต่ตลาดอาหารในอินเดียยังเป็นของคนกินเจกว่าครึ่งประเทศ หากไม่กินเจก็จะไม่บริโภคเนื้อหมูกับเนื้อวัว
สุดท้าย สถานทูตจะพยายามสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวจากภาคนี้ไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในบ้านเราทั้งปริญญาตรีและโท เพราะพวกเขาอยากไปบ้านเราอยู่แล้ว เขารู้สึกกลมกลืนมากกว่า สภาพมหาวิทยาลัย ที่พักอาศัย น่าเรียนน่าอยู่กว่าในอินเดียทั่วไป เราจะทำอย่างไรผู้บริหารมหาวิทยาลัยในไทยจะสามารถดึงดูด ให้ทุน เปิดช่องทางให้คนหนุ่มสาวจากภาคนี้ของอินเดียมากขึ้น เพื่อเขาจะได้ภูมิใจและยิ่งอยากรักษาอัตลักษณ์ของตนตลอดจนเป็นกัลยาณมิตรที่เชื่อมโยงการค้าการลงทุน ท่องเที่ยวและจิตใจของคนไทยกับอินเดียไปอีกยาวนาน
-------------------------------------------