รัฐบาลอินเดียโดยกระทรวงการคลังได้ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2556 ขึ้นอัตราอากรขาเข้าสินค้าทองคำและทองคำขาวจากร้อยละ 4.0 เป็นร้อยละ 6.0 โดยให้มีผลบังคับใช้ทันที เพื่อเป็นการสกัดการนำเข้าทองคำและทองคำขาวให้ลดลง เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีความต้องการทองคำสูงที่สุดในโลกและทองคำเกือบทั้งหมดที่บริโภคภายในประเทศก็มาจากการนำเข้าเกือบทั้งสิ้น โดยในปีงบประมาณ 2554-2555 (1 เมษายน 2554-31 มีนาคม 2555) อินเดียนำเข้าทองคำเป็นมูลค่า 56.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555-2556 (1 เมษายน-31 ธันวาคม 2555) มีการนำเข้าทองคำแล้วเป็นมูลค่า 38 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าการนำเข้าทองคำของอินเดียคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 30 ของมูลค่าการขาดดุลการค้าของประเทศ และส่งผลให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2555-2556 (กรกฎาคม-กันยายน 2555) ตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินเดียได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)
ในเชิงปริมาณ อินเดียนำเข้าทองคำในปี 2554 (ปีปฏิทิน คือ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2554) จำนวน 969 เมตริกตัน และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 (1 มกราคม-30 กันยายน 2555) อินเดียนำเข้าทองคำจำนวน 604 เมตริกตัน โดยที่ทองคำเป็นรายการสินค้านำเข้าสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด รัฐบาลอินเดียจึงพยายามเข้ามาบริหารจัดการด้วยการนำมาตรการต่างๆมาใช้ โดยเฉพาะการประกาศขึ้นอัตราอากรขาเข้าทองคำและทองคำขาวดังกล่าวเพื่อจะทำให้การนำเข้าทองคำลดลง ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศที่ต้องชำระเป็นค่าทองคำลงไปได้ สำหรับการประกาศขึ้นอัตราอากรขาเข้าทองคำในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม 2555 รัฐบาลอินเดียได้ประกาศปรับอัตราอากรขาเข้าทองคำจาก 300 รูปี/10 กรัม เป็นร้อยละ 2.0 และในเดือนมีนาคม 2555 ก็ได้ประกาศปรับอีกครั้งเป็นร้อยละ 4.0 ตามลำดับ
หลังจากการประกาศปรับอัตราอากรขาเข้าทองคำเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.0 มีผลทำให้ราคาทองคำในตลาดเพิ่มขึ้นทันที โดยที่ตลาด Zaveri Bazaar เมืองมุมไบ ราคาทองคำเพิ่มขึ้นอีก 350 รูปีต่อ 10 กรัม เป็น 30,415 รูปีต่อ 10 กรัม ส่วนที่กรุงนิวเดลี ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นอีก 315 รูปีต่อ 10 กรัม เป็น 31,250 รูปีต่อ 10 กรัม
นอกจากมาตรการในการปรับอัตราอากรขาเข้าทองคำเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.0 เพื่อสกัดการนำเข้าทองคำแล้ว รัฐบาลอินเดียก็ได้มีการเตรียมการออกมาตรการอื่นเพื่อรองรับปริมาณทองคำในประเทศที่อาจจะมีการนำเข้าลดลงซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียโดยตรง โดยในเบื้องต้นธนาคารกลาง (Reserve Bank of India) ของอินเดียจะออกแนวทางปฏิบัติ (Guideline) ฉบับใหม่ หรับนักลงทุนที่สะสมทองคำใน 2-3 สัปดาห์ โดยจะอนุญาตให้กองทุนรวมอีทีเอฟทองคำ (Gold Exchange-Traded Fund: Gold ETF)* นำทองคำไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ได้ และในส่วนของนักลงทุนรายย่อย ธนาคารกลางของอินเดีย (RBI) จะยกเลิกปริมาณขั้นต่ำในการฝากทองคำไว้กับธนาคารจากเดิมที่เคยกำหนดปริมาณขั้นต่ำไว้ที่ 200 กรัมให้นักลงทุนรายย่อยสามารถนำทองคำไปฝากธนาคารในปริมาณเท่าใดก็ได้ และปรับระยะเวลาในการฝากทองคำกับธนาคารจากที่เคยกำหนดไว้อย่างต่ำ 3 ปีจึงจะถอนออกมาได้ ให้เหลือระยะเวลาในการที่จะถอนทองคำออกมาได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งมาตรการต่างๆเหล่านี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะดึงให้ทองคำที่ถูกเก็บสะสมไว้โดยไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มูลค่าประมาณ 116,740 ล้านรูปี (ประมาณ 70,000 ล้านบาท) ให้ออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียไม่ขาดแคลนวัตถุดิบทองคำที่ใช้ในการผลิต อย่างน้อยก็ในระยะสั้นและระยะปานกลาง
อย่างไรก็ตาม สภาส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (GJEPC: Gems and Jewelry Export Promotion Council) ของอินเดียได้ออกมาคัดค้านการปรับขึ้นอัตราอากรขาเข้าสินค้าทองคำของรัฐบาล โดยระบุว่าการปรับขึ้นอากรขาเข้าดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภครายเล็กหยุดการซื้อเครื่องประดับที่ทำด้วยทองคำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศโดยเฉพาะการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ซึ่งมีตั้งแต่ช่างฝีมือไปจนถึงพ่อค้ารายย่อย จำนวนรวมกันประมาณ 2 ล้านคน โดยเสนอว่ารัฐบาลควรพิจารณาควบคุมการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำซึ่งนักลงทุนนำไปเก็บไว้โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลอินเดียยังคงเดินหน้าออกมาตรการควบคุมการนำเข้าทองคำต่อไป ตราบใดที่ประเทศยังคงขาดดุลการค้าและดุลงบประมาณในระดับสูงอย่างต่อเนื่องอย่างนี้ ซึ่งการขาดดุลดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อค่าเงินรูปีที่ยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง
-----------------------------------------------------
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
25 มกราคม 2556
*กองทุนรวมอีทีเอฟทองคำ (Gold ETF) คือกองทุนรวมเปิดที่จดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่อ้างอิงกับทองคำ หรืออาจจะลงทุนโดยตรงในทองคำแท่งก็ได้ ผู้ลงทุนที่ลงทุนใน Gold ETF จะไม่มีภาระในเรื่องการถือครองทองคำแท่ง แต่ยังคงได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำซึ่งผลตอบแทนของ Gold ETF จะผันแปรและเปลี่ยนแปลงไปตามราคาทองคำแท่งในตลาดโลก กองทุนรวมอีทีเอฟทองคำจึงนับเป็นเครื่องมือการลงทุนในทองคำที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้ลงทุนสมัยใหม่ที่ต้องการลงทุนในทองคำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มั่นใจในระบบการซื้อขายและชำระราคาของตลาดหลักทรัพย์ และเป็นช่องทางที่ช่วยผู้ลงทุนได้กระจายการลงทุนไปในทองคำได้สะดวกขึ้น นอกเหนือไปจากหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)